“กองทุนศรีบูรพา” จัดงาน 118 ปี “ศรีบูรพา” และ 100 ปี “รพีพร” พร้อมยกย่อง “ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์” และ “ทองแถม นาถจำนง” นักเขียนรางวัลศรีบูรพาประจำปี 2566
เมื่อวันที่ 31 มีาคม 2566 กองทุนศรีบูรพา ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดงานวันครบรอบ ชาตกาล 118 ปี “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) และวาระครบรอบ 100 ปี “รพีพร” (สุวัฒน์ วรดิลก) โดยมี นางชมัยภร บางคมบาง ประธานกองทุนศรีบูรพา นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ อุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา กรรมการสมาคมนักเขียนฯ นักเขียน นักอ่าน และนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ร่วมงาน ณ บ้านศรีบูรพา บ้านเลขที่ 35 ซอยราชวิถี 5 กรุงเทพฯ
นางชมัยภร บางคมบาง ประธานกองทุนศรีบูรพา กล่าวว่า ความพิเศษของกิจกรรมรำลึกชาตกาล “ศรีบูรพา” ในปีนี้ นอกจากจะเป็นวาระครบรอบชาตกาล 118 ปี “ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” แล้ว ยังเป็นวาระ 100 ปี “รพีพร” หรือ “สุวัฒน์ วรดิลก” อีกด้วย โดยทั้งสองท่านเป็นผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน และได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่วงวรรณกรรมอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน นำมาสู่การก่อตั้งและสร้างความสามัคคีเข้มแข็งขององค์กรด้านวรรณกรรมมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นแล้วในวันนี้ยังเป็นการจัดงานภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เหล่านักเขียนและบุคคลที่ผูกพันกับ “ศรีบูรพา” ได้มาร่วมงานกันที่บ้านศรีบูรพาอีกครั้งอีกด้วย ส่วนการจัดงาน 100 ปี “รพีพร” นั้น จะมีขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 นี้ ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
“อีกหนึ่งเรื่องสำคัญในวันนี้ซึ่งเชื่อว่ามีหลายท่านติดตามประจำทุกปี นั่นคือการประกาศรางวัลศรีบูรพา ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ศิลปิน นักคิดนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่า มีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง เพื่อรำลึกและเผยแพร่เกียรติประวัติของ “ศรีบูรพา” โดยปีนี้คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพาได้มีมติยกย่อง “ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์” และ “ทองแถม นาถจำนง” เป็นผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาประจำปี 2566 และจะมีพิธีมอบรางวัลในงานวันนักเขียน 5 พฤษภาคม ซึ่งมีการจัดงานเป็นประจำทุกปีเช่นกัน และผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและเข้าร่วมกิจกรรมของกองทุนศรีบูรพาและสมาคมนักเขียนฯ ที่จะร่วมกันจัดงานต่างๆ ต่อไป” ประธานกองทุนศรีบูรพากล่าว
ทั้งนี้ กิจกรรมในภาคเช้ามีการทำบุญถวายภัตตาหารเพลเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และชนิด สายประดิษฐ์ สุรพันธุ์ สายประดิษฐ์ และวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ ต่อด้วยในภาคบ่าย ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกันวางดอกกุหลาบเคารพหน้ารูปกุหลาบ-ชนิด สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา-จูเลียด) สุรพันธ์-วาณี สายประดิษฐ์ จากนั้นนางชมัยภร บางคมบาง ประธานกองทุนศรีบูรพา กล่าวคารวะ “ศรีบูรพา”“จูเลียต” สุรพันธ์ และวาณี สายประดิษฐ์ นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ อุปนายกสมาคมนักเขียนฯ กล่าวระลึกถึง “ศรีบูรพา” และ “จูเลียต” การมอบทุนนักเขียนน้อยและทุนเรียนดีศรีบูรพา และการอ่านบทกวีระลึก 118 ปี “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) และครบรอบชาตกาล 100 ปี “รพีพร” การเสวนาพิเศษ หัวข้อ “จากศรีบูรพาถึงรพีพร: ดอกไม้และก้อนอิฐบนถนนวรรณกรรม” และปิดท้ายด้วยการประกาศรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2566
ประวัติและผลงานโดยสังเขปของ นายชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2566 นายชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เกิดวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2499 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี แต่ไปเติบโตอำเภอกันตังจังหวัดตรัง ใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ ขยันหมั่นเพียรเข้าห้องสมุดอยู่เสมอ และเริ่มเขียนกลอนตั้งแต่อยู่ชั้น ป.4 กลอนชิ้นแรกได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือ “วิทยาสาร” หลังเรียนจบ ม.ศ.3 ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ เขามุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เรียนต่อชั้นมัธยมปลายโรงเรียนผดุงศิษย์พิทยา โดยเรื่องสั้นเรื่องแรก “พิสูจน์เลือด” ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร “ชาวกรุง” ขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้น ม.ศ.4
“ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์” ได้สร้างสรรค์งานอย่างหลากหลาย ทั้งในฐานะนักหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการ นักเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ และเป็นนักคิดเพื่อสร้างความคิดให้สังคม ได้รับยกย่องว่าเป็นนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักกิจกรรมทางสังคม นักวิชาการ ผู้ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ผู้มีความอหังการ์ เป็นนักสู้เพื่อมนุษยธรรม ยืนหยัดและเชื่อมั่นในแนวทางของตัวเองอย่างเด็ดเดี่ยว ขณะเดียวกันก็มีจิตใจที่เมตตา โดยนอกจากเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แล้ว ชัชรินทร์ยังทำงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ เขียนทั้งกวีนิพนธ์และเรื่องสั้น โดยมีแนวคิดของการทำงานวรรณกรรมเพื่อประชาชนที่ชัดเจน เขาทำงานตลอดเวลาไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ชีวิตแบบใด จะทำงานหนังสือพิมพ์อยู่หนักแค่ไหน เขาก็สามารถเขียนเรื่องสั้นและบทกวีได้ และมีผลงานหลายเล่มยืนยัน
อีกทั้งยังได้ชื่อว่า เป็นนักคิด นักเขียนที่เขียนหนังสือได้เร็วและหลากหลายสไตล์มากที่สุดคนหนึ่ง เขียนงานวรรณกรรมทุกรูปแบบ งานด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา บทวิเคราะห์ทางการเมือง สารคดี เรื่องตลก และบทความต่าง ๆ มีผลงานเขียนต่อเนื่องในฐานะนักเขียน-คอลัมนิสต์อิสระ ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับชื่อจริงและหลากหลายนามปากกา อาทิ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์, ตูมตาม, นายพรานผี, ทับทิม พญาไท, ท่านขุนน้อย ฯลฯ
ประวัติและผลงานโดยสังเขปของ นายทองแถม นาถจำนง นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2566 นายทองแถม นาถจำนง เป็นลูกชาวสวนย่านวัดบวรมงคลฝั่งธนบุรี เติบโตผ่านยุคที่รัฐบาลไทยมีนโยบายต่อต้านจีนคอมมิวนิสต์ เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2498 ณ บ้านเลขที่ 3 ตรอกรถไฟวรพงษ์ ตำบลบางพลัด อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ปัจจุบันเป็นกรุงเทพมหานคร เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนศิริมงคลศึกษา ต่อชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และสอบเข้าเรียนต่อที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะเรียนปี 4 เทอมสุดท้ายเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หนีภัยทางการเมืองหลบเข้าไปใช้ชีวิตในป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อวิชาการแพทย์ หลักสูตรเร่งรัด แพทย์แผนปัจจุบัน ที่มหาวิทยาลัยแพทย์ทหาร เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างปี 2521-2524 โดยขณะศึกษาอยู่ที่นั่น เขาสนใจเรื่องกาพย์กลอน ได้แปลบทกวีจีนเล่มแรก คือ “แม่สอนลูก” เป็นภาษาไทย จากนั้นก็แปลบทกวีจีนเล่มอื่น ๆ เรื่อยมาจนกลายเป็นงานอดิเรก สลับกับการเรียนแพทย์ เมื่อเรียนจบได้ไปฝึกงานเป็นแพทย์ชนบท ที่โรงพยาบาลเอี๊ยมสุ่ย อำเภอเอี๊ยมสุ่ย ในมณฑลยูนนาน และเดินทางกลับคืนสู่สังคมไทยในปี 2526 ตามนโยบายคืนสู้เหย้าของรัฐบาลไทย และกลับเข้าศึกษาต่อที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีก 1 เทอมจนจบปริญญาตรี ในปี 2526
“ทองแถม นาถจำนง” เริ่มด้วยการเขียนและแปลหนังสือลงตีพิมพ์ในนิตยสารหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ จนได้ตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี 2527 คือ รวมบทกวี “เงาพระจันทร์ในคมกระบี่” “คมคำคมกวี” จากนั้นก็เขียนแนวประวัติศาสตร์ยุคชุนชิว – จั้นกั๋ว เขาได้สร้างสรรค์งานโดยอาศัยประสบการณ์ในการใช้ชีวิตและต่อเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศ ตลอดจนความใส่ใจในการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยและจีน และวัฒนธรรมอาเซียน ทำให้มีความรอบรู้ในเรื่องจีนศึกษาอย่างลึกซึ้ง งานส่วนหนึ่งของเขาจะเป็นการถ่ายทอดความรู้ คือแปลงานวรรณกรรมจีน และอีกส่วนหนึ่งจึงเป็นการผสานความรู้เรื่องการเมือง ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนปรัชญาการดำเนินชีวิตทั้งไทย จีนและอาเซียน ปรากฏเป็นความรอบรู้และทัศนะของเขา มีทั้งงานสารคดีเกี่ยวกับประวัติชาติพันธุ์ ผลงานด้านประวัติวัฒนธรรม กวีนิพนธ์ บทความเกี่ยวกับวรรณคดีไทย บทความปรัชญาจีนโบราณ และบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน โดยใช้นามปากกา อาทิ โชติช่วง นาดอน, ยาเส้น, เลือดผา, วรรณะ วิมล, มังกร เจ้าพระยา, บักหนาน ถงกู่, อสุรา วิรัติ,ช้างเฒ่า เหยียบงวง, จิน เส้าหลิน, 167608, ศิรเทพ 11078, อินทร์ ลงเหลา, ทองแถม, ดอยยาว วรรณศิลป์, อิน อ้วยล้วย ฯลฯ