7 เหตุการณ์ อธิบายวิกฤตทางการเมือง “ซาอุฯ-อิหร่าน”

แม้ว่าการตัดสินใจของซาอุดีอาระเบียที่จะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านอาจจะสร้างความแปลกใจให้กับหลายฝ่าย ทว่าการแข่งขันระหว่างริยาดและเตหะรานนั้นมีมาอย่างยาวนานแล้ว ลาทริบูน หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสระบุ

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 ม.ค.) ซาอุดีอาระเบียตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านหลังจากที่ผู้ประท้วงโจมตีสถานทูตในกรุงเตหะรานและสถานกงสุลในเมืองมัชฮัด การประท้วงที่เกิดขึ้นมาจากการประหารชีวิตนักการศาสนาผู้มีชื่อเสียงของมุสลิมชีอะห์ “เชค นิมร์ อัลนิมร์” ในกรุงริยาด

อิหร่านและซาอุดีอาระเบียเป็นคู่แข่งในภูมิภาคมาอย่างยาวนาน ความหวาดกลัวอิทธิพลของอิหร่านที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ริยาดจึงได้ให้การสนับสนุนศัตรูของอิหร่านอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปราบปรามมุสลิมชีอะห์และการประท้วงใดๆ ของผู้สนับสนุนอิหร่าน ลาทริบูน กล่าว

“การแข่งขันกว่า 30 ปี และเป็นสงครามเย็นที่ไม่มีชื่อ” เทียร์รี่ โควิลล์ (Thierry Coville) นักวิจัยจากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ (IRIS) กล่าวกับหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส

เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพรวมทั้งหมดที่อยู่เบื้องหลังวิกฤติทางการเมืองในปัจจุบันระหว่างทั้งสองประเทศ ต้องการมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์และความทรงจำอย่างน้อย 7 เหตุการณ์ทางการเมือง ที่แสดงให้เห็นว่าวิกฤตทางการทูตนั้นมีมาอย่างยาวนานมาแล้ว ลาทริบูน กล่าว

1980 (พ.ศ.2523) – ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรสนับสนุนทางการเงินแก่อิรักต่อสู้กับอิหร่าน

ในช่วงสงครามเลือดระหว่างอิหร่านและอิรัก (1980 – 1988) ซาอุดีอาระเบียได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อิรัก และกระตุ้นบาห์เรน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้ทำเช่นเดียวกัน ริยาดกลัวว่า การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 จะคุกคามความมั่นคงของตะวันออกกลาง

กรกฎาคม 1987 (พ.ศ.2530) – ผู้ประท้วงชาวอิหร่านถูกฆ่าตายในมักกะห์ นักการทูตซาอุฯ เสียชีวิตในกรุงเตหะราน

เจ้าหน้าที่ซาอุฯ ใช้ความรุนแรงโจมตีผู้สนับสนุนอิหร่านที่เดินขบวนต่อต้านอิสราเอลและนโยบายของสหรัฐฯ ในระหว่างพิธีแสวงบุญประจำปีของศาสนาอิสลามในมักกะก์ มีผู้ถูกฆ่าตายรวม 402 คน เป็นผู้แสวงบุญชาวอิหร่าน 275 คน หลังจากการสังหารหมู่ประชาชน ผู้ประท้วงได้พากันออกไปบนถนนในกรุงเตหะราน ยึดสถานทูตซาอุฯ และเผาสถานทูตคูเวต  นักการทูตซาอุฯ มูซาอัด อัลกัมดี (Moussa’ad al-Ghamdi) เสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

มกราคม 2007 (พ.ศ.2550) – ซาอุดิอาระเบียหวาดกลัวโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และอิรักหันไปทางอิหร่าน

ริยาดเริ่มรู้สึกกังวลเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แม้เตหะรานย้ำหนักแน่นว่า โครงการนี้ถูกออกแบบเพื่อสันติและพลังงานเท่านั้น รัฐบาลซาอุฯ เชื่อว่าอิหร่านกำลังพยายามที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองเพื่อเพิ่มน้ำหนักทางการเมืองในตะวันออกกลาง ในเวลาเดียวกัน อิรักซึ่งถูกรุกรานโดยสหรัฐในปี 2003 ทำให้มุสลิมชีอะห์ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ได้เข้ามามีอำนาจในกรุงแบกแดดซึ่งยิ่งเพิ่มความหวาดกลัวให้แก่ซาอุดิอาระเบีย

มีนาคม 2011 (พ.ศ.2554) – ซาอุฯ ส่งกองกำลังไปบาห์เรน

ในการตื่นตัวของอาหรับสปริง การประท้วงขนาดใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยได้ปะทุขึ้นในบาห์เรนซึ่งเป็นพันธมิตรของซาอุดีอาระเบีย ด้วยความหวาดกลัวว่าผู้ประท้วงซึ่งส่วนมากเป็นชีอะห์และอยู่ในแนวเดียวกับอิหร่าน ซาอุฯ จึงส่งกองทัพของพวกเขามาช่วยรัฐบาลบาห์เรนปราบปรามผู้ประท้วง

กรกฎาคม 2012 (พ.ศ.2555) – ซาอุดีอาระเบียจับกุมอิหม่ามมุสลิมชีอะห์ กล่าวหาว่าขายชาติ

สืบเนื่องจากการปะทะกันระหว่างตำรวจและผู้ประท้วงชาวชีอะห์ รัฐบาลซาอุฯ ได้จับกุม เชค นิมร์ อัลนิมร์ อีหม่ามชาวชีอะห์ โดยกล่าวหาว่าเขาให้ความร่วมมือกับรัฐต่างประเทศ นั่นคืออิหร่าน ก่อนที่จะมีการจับกุม อัลนิมร์ เรียกร้องให้มีการแยกจังหวัดกาตีฟ (Qatif) และอัลอิหซาห์ (IHSAA) ทางตะวันออกของซาอุฯ ออกจากราชอาณาจักร

2012 (พ.ศ.2555) – ซาอุฯ พยายามที่จะโค่นล้ม บาชาร์ อัลอัสซาด ในซีเรีย

ซาอุดิอาระเบียกลายเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของกลุ่มกบฏอิสลามที่กำลังพยายามจะโค่นล้มรัฐบาลซีเรียที่นำโดย บาชาร์ อัลอัสซาด โดยริยาดกล่าวหาว่า อัลอัสซาด “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ประชากรซุนนี และอิหร่านเป็นผู้ “ยึดครองอำนาจ” ในซีเรีย อันเนื่องจากการสนับสนุนรัฐบาลอัสซาด

มีนาคม 2015 (พ.ศ.2558) – ซาอุดีอาระเบียโจมตีพันธมิตรอิหร่าน

ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ปี 2015 ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรอาหรับจัดตั้งพันธมิตรทางทหารเพื่อโจมตีกบฏ ฮูซี (Houthi) พันธมิตรของอิหร่านในเยเมน การโจมตีทางอากาศภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบียก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมอย่างร้ายแรงในเยเมน โดยส่งผลกระทบต่อผู้คนราว 20 ล้านคน หรือร้อยละ 80 ของประชากรในประเทศ ตามที่สหประชาชาติรายงาน

แปลจาก http://sputniknews.com