The Hunger Games เป็นวรรณกรรมเยาวชน ประพันธ์โดย “ซูซาน คอลลินส์” ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แนวผจญภัย-ดราม่า อิงการเมืองพอตัว โดยเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกอนาคตหลังอารยธรรมล่มสลาย ในประเทศที่ชื่อว่า Panem มีเขตปกครองทั้งหมด 13 เขต โดยมี Capitol เป็นเมืองหลวง (ซึ่งมีอำนาจปกครอง 12 districts) เป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่น 24 คน ที่ถูกคัดเลือกให้เข้ามาร่วมในเกมที่จะต้องเข่นฆ่ากันเพื่อเอาชีวิตรอดเป็น คนสุดท้าย ซึ่งก็คือ ผู้ชนะ
เล่าให้ฟังคร่าวๆ ภาคแรกนั้นหนังเปิดฉากเมืองสมมติในยุคมืดมีอยู่ 12 เขต (12 districts) ซึ่งตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของเมืองศูนย์กลางชื่อ “แคปปิตอล” ที่มีคณะผู้ปกครองที่ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายมั่งคั่ง เป็นผู้กำหนดชะตากรรมให้ทั้ง 12 เขตที แร้นแค้นยากไร้ และถูกกดขี่โดยแคปปิตอล ดังนั้นผู้คนใน 12 เขต จึงไม่มีใครกล้าหือหรือลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไร เนื่องจากบรรยากาศความหวาดกลัวที่แคปปิตอลได้สร้างเอาไว้ปกคลุมไปทั่ว
หนึ่ง ในเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวและกดหัวผู้คนไว้ให้คล้อยตามก็คือ เกมที่แคปปิตอลบังคับทุกๆ เขตจะต้องส่งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายอย่างละหนึ่งคน มาเข้าร่วม Hunger Games ในทุกปี โดยมีกฎง่าย ๆ ว่า ให้เด็กทั้ง 24 คนแข่งขันต่อสู้กันผ่านหน้าจอทีวี จนกระทั่งเหลือผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว….
พูดง่ายๆ ว่า เลือกให้ไปเสี่ยงตาย ซึ่งเปอร์เซ็นตายย่อมมีมากกว่ารอด เรื่องราวในหนังจึงแสดงให้เห็นการต่อสู้เพื่อเป้าหมายหลักก็คือ “การเอาตัวรอดให้มีชีวิตอยู่และได้กลับบ้าน” ดังนั้นเด็กส่วนใหญ่ที่ได้รับคัดเลือกจึงถูกสถานการณ์ผลักดันให้ทำลายล้าง อีกฝ่ายทุกรูปแบบ ไปจนถึงเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามแม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ขณะที่บางคน มโนธรรมสำนึกกระตุกให้เกิดความลังเลที่จะฆ่าหรือกำจัดคู่แข่งขันอย่างโหด เหี้ยมเช่นคนอื่นๆ
ตัวเอก ของเรื่องคือ เด็กสาวที่ชื่อ แคตนิส เอเวอร์ดีน เป็นตัวแทนจากเขต 12 ซึ่งเป็นเขตที่ยากจนที่สุด (และเธอเสียสละมาแทนน้องสาว) เธอปฎิเสธการฆ่า เป้าหมายคือ พยายามเอาตัวเองให้รอดพ้นจากการถูกล่าและถูกฆ่า โดยไม่ต้องฆ่าใคร ในภาคแรกของหนังเรื่องนี้ เธอกับชายหนุ่มชื่อ “พีต้า” ซึ่งมาจากเขตเดียวกันได้กลายเป็นผู้รอดชีวิต และเป็นครั้งแรกที่แคปปิตอลจำต้องยอมประกาศให้มีผู้ชนะ 2 คน ซึ่งชัยชนะของแคตนิสนี่เองที่แสดงให้เห็นถึงการไม่สยบยอมต่อแคปปิตอล จนกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการปฏิวัติขึ้นมา และเป็นที่มาของเรื่องราวในภาค 2 The Hunger Games: Catching Fire
ภาค 2 นี้เนื้อหาหนังมุ่งไปทางการเมืองค่อนข้างเด่นชัด เป็นความต่อเนื่องที่แคปปิตอล โดยท่านผู้นำนามว่า “ประธานาธิบดีสโนว์” พยายามเร้าความเกลียดชังแตกแยกในหมู่คนทั้ง 12 เขตให้เพิ่มขึ้น โดยจัดให้ผู้ชนะอย่างแคตนิสและพีต้าไปทัวร์โชว์ตัวตามเขตต่างๆ หวังให้คนในเขตต่างๆ แอนตี้ และจัดการแข่งขันรอบพิเศษขึ้นอีก แต่หนนี้การณ์กลับกลายเป็นว่า แคตนิสเป็นตัวจุดประกายให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อแคปปิตอลขึ้นในหมู่คน ภาคนี้มีการนำสัญลักษณ์ออกมาใช้ทั้งสัญลักษณ์นก Mockingjay ที่นางเอกพกติดตัวตลอดเวลา กับ Three Finger Salute หรือการยกแขนขึ้นชู 3 นิ้วไปข้างหน้าเพื่อแสดงถึงการไม่สยบยอมต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เผื่อๆ ไว้สำหรับคนที่อาจจะไม่เคยอ่านหนังสือหรือดูหนัง The Hunger Games โดยเฉพาะช่วงเวลานี้มีประชาชนคนไทยผู้ต่อต้านการรัฐประหารได้นำสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว แบบในหนังเอามาใช้ จึงมีผู้ที่ไม่เข้าใจที่มาที่ไป หรือตีความหมายของสัญลักษณ์ที่ว่านี้ผิดไป เช่นในสื่อโซเชี่ยลอย่างเฟซบุก มีหลายคนเข้าใจว่า การชู 3 นิ้วใช้เฉพาะในการขอบคุณ ชื่นชมยินดี และกล่าวลาเมื่อมีการตาย ความจริงแล้วสัญลักษณ์นี้ในภาคแรกตอนต้นๆ ก็มีความหมายเชิงนั้น แต่ช่วงหลังมีการก่อกบฎกระด้างกระเดื่องต่อแคปปิตอล ผู้คนในเขตอื่นๆ ก็เลยเอาสัญลักษณ์ที่มีการใช้กันในเขต 12 ที่นางเอกอยู่ เอามาใช้กันในเชิงแข็งขืน ดึงดัน ต่อต้าน และแสดงความไม่สยบยอม
การนำเอาสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วจึงเป็นสิ่งที่คล้ายๆ กับว่า ผู้ต่อต้านการรัฐประหารในเมืองไทยกระทำได้ง่ายที่สุด และสื่อความหมายของพวกเขาอย่างชัดเจนตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว ในห้วงเวลาที่อำนาจทหารเข้าควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศอยู่ในขณะ นี้ หากเทียบกับการยกกระดาษ A4 ที่เขียนข้อความประท้วงต่างๆ ก็อาจทำได้ยากกว่า หรือยุ่งยากกว่า (เพราะต้องเตรียมกระดาษ+ปากกา) และอาจเสี่ยงถูกควบคุมตัวได้ง่ายๆ หากคุณไปยกในที่สาธารณะ หรือในที่ชุมนุมแม้จะมีผู้ร่วมประท้วงอยู่มากก็ตาม เพราะถือว่าเป็นความผิด ดังที่ คสช.ประกาศอยู่เนืองๆ
หากย้อนกลับไปดูการนำสัญลักษณ์มาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เราจะเห็นอยู่ทั่วโลก สำหรับในเมืองไทยก่อนหน้าที่เจะมีกลุ่ม กปปส.ก็มีกลุ่มที่ใส่หน้ากากสีขาว (หน้ากาก V) หรือหน้ากากกาย ฟอคส์ ออกมาประท้วงต่อต้านระบอบทักษิณ และไม่เห็นด้วยกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่าง รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีการนำหน้ากากขาวนี้มาใช้ในการต่อต้านกันอย่างแพร่หลาย
หน้ากาก กาย ฟอคส์ นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการประท้วงภาพยนตร์ “เพชฌฆาตหน้ากากพญายม” ในสหรัฐ เมื่อปี 2006 โดยกลุ่มคู่ขัดแย้งคือฝ่ายต้านหนังกับฝ่ายสนับสนุนหนัง ต่างก็สวมหน้ากากกาย ฟอคส์ ออกมาเผชิญหน้ากันนอกสำนักงานดีซีคอมมิกส์ ไปจนถึงการประท้วงรัฐบาลที่รวบอำนาจอย่างไม่ชอบธรรมในหลายๆ ประเทศ เช่น ชาวอียิปต์สวมหน้ากากขาวประท้วงปธ.มูบารัค หรือ การประท้วงรัฐบาลของชาวบราซิล ก็มีการใส่หน้ากากขาวนี้ด้วยเช่นกัน สำหรับในประเทศไทย การประท้วงหน้ากากขาวปรากฏครั้งแรกเมื่อปี 2012 ที่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้เคลื่อนไหวต่อต้านนกรณีนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยรณรงค์ให้ผู้ที่เข้าร่วมด้วยเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปสวมหน้ากากกาย ฟอคส์ ต่อมาเมื่อปี 2013 ก็มีการประท้วงที่ช่อง 3 ยุติการออกอากาศละคร “เหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์” อย่างกะทันหัน
แต่หากพูดถึงที่มาอันเป็นความหมายที่แท้จริงของหน้ากาก กาย ฟอคส์ นั้นค่อนไปคนละทางกับความหมายที่ผู้ประท้วงพยายามจะสื่อ เพราะหน้ากากขาวนี้ มาจากนาย กาย ฟอคส์ หรือ “กุยโด ฟอคส์” สมาชิกกลุ่มคาทอลิกอังกฤษหัวรุนแรง ผู้วางแผนและก่อการระเบิดดินปืน (Gunpowder Plot) อันลือลั่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แต่การก่อการครั้งนั้นของกาย ฟอคส์ ล้มเหลว และเขาถูกจับไปประหารชีวิต (แต่นายฟอคส์ฆ่าตัวตายซะก่อนด้วยการกระโดดลงจากตะแลงแกงก่อนถูกประหาร)
อย่างไรก็ตามแม้เป็นการนำเอา “สัญลักษณ์” มาใช้เคลื่อนไหวในทางการเมืองเหมือนกัน ทว่า หน้ากากขาวในอดีตคือภาพของการต่อต้านชนชั้นสูง แม้ในปัจจุบันจะถูกตีความหมายไปในทางต่อต้านการกระทำมิชอบ การคอรัปชั่น หรือต่อต้านรัฐบาลที่ตัวเองไม่ได้สนับสนุน แต่ก็ยังมีข้อแคลงใจของการใส่หน้ากากปกปิดใบหน้าของผู้ประท้วง ที่เป็นนัยยะถึงการไม่กล้าเผชิญหน้าโดยตรง หรือกล้าหาญพอที่จะแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาต่อผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ขณะที่กลุ่มต่อต้านรุ่นใหม่ที่นำเอาสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วมาใช้ เป็นการแสดงออกแบบเปิดเผยกล้าเผชิญหน้ามากกว่า และใช้การสื่อความหมายที่ทรงพลังถึง เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ แบบที่ชาวเมืองทั้ง 12 เขตลุกขึ้นต้านทานอำนาจของแคปปิตอล (ในภาค 3 เป็นคำตอบของการลุกฮือของชาวเมืองที่น่าติดตามอย่างยิ่ง)
ถึงกระนั้นการใช้สัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่าจะแบบใด ก็ต้องระวังและพึงสังวรในข้อจำกัดต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในขณะนี้กับการแสดงออกในที่สาธารณะ ท่ามกลางกฎข้อบังคับต่างๆ ที่เมื่อก่อนทำกันได้ตามใจชอบ ไม่มีใครห้าม ไม่มีใครทำอะไรเพราะรัฐให้ทุกคนมีเสรีเต็มที่ แต่เดี๋ยวนี้สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไปแล้ว บางทีอาจต้องถามตัวเองว่า คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่?
ขอทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ท่านประธานาธิบดีสโนว์กล่าวไว้แบบซ่อนความโหดในรอย ยิ้ม….. “Hope is the only thing stronger than fear.” ความหวังคือสิ่งเดียวที่มีพลังมากกว่าความกลัว ส่วนแคตนิสผู้กล้าหาญกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า….” The promise that life can go on no matter how bad our losses.” คำสัญญาที่ว่า ไม่ว่าจะยากลำบากสูญเสียเพียงใดก็ตาม เราก็ยังคงสามารถดำเนินชีวิตต่อ และผ่านพ้นมันไปได้….
อภิรดี จูฑะศร เป็นอดีตผู้สื่อข่าวภูมิภาค (ภาคใต้) นสพ.ผู้จัดการรายวัน อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และครีเอทีฟบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ 2 ค่ายดังของเมืองไทย ก่อนมารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสารในเครือจีเอ็ม กรุ๊ป เป็นอดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2546-2548 มีบทบาทร่วมเคลื่อนไหวและรณรงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผืนป่าตะวันตก และต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและการทารุณกรรมสัตว์ ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เคยเป็นเลขาธิการมูลนิธิ Wildlife และ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มีผลงานเขียนทั้งบทความ สารคดี บทกวี เรื่องสั้น และบทสัมภาษณ์คนดังหลายวงการในหน้านสพ.และนิตยสารหลายเล่มตลอดกว่า 25 ปีในแวดวงสื่อสารมวลชน ปัจจุบันเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ บ.มีเดีย โร้ด , บรรณาธิการ/ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ. The Public Post