ในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธานก็ปรากฏสู่สายตาสาธารณชน เบื้องต้นมีเนื้อหาทั้งหมด 279 มาตรา โดยได้จัดแบ่งไว้ 16 หมวด กับอีก 1 บทเฉพาะกาล ประกอบด้วย หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด 7 รัฐสภา หมวด 8 คณะรัฐมนตรี หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หมวด 10 ศาล หมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ หมวด 12 องค์กรอิสระ หมวด 13 องค์กรอัยการ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และบทเฉพาะกาล
ในแต่ละหมวดจะบรรจุเนื้อหาลงในมาตรา อาทิ บทเฉพาะกาล มีเนื้อหาในมาตรา 262-279 โดยเนื้อหาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เสนอนายมีชัยให้บรรจุ “ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา” แล้วเกิดความขัดแย้งทางแนวคิดกันเล็กน้อยก่อนหน้านี้ กระทั่งผลสุดท้ายนายมีชัย และคณะยอมตามข้อเสนอของ คสช.นั้นก็อยู่ในส่วนบทเฉพาะกาลนี้ รวมทั้งข้อเสนอให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกเริ่มมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ก็อยู่ในบทเฉพาะกาลนี้เช่นกัน
ก่อนหน้านี้เป็นข่าวเกรียวกราวว่า “กรธ.” ไม่รับลูก “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.”แบบสุดซอย หลังจาก “คสช.” ขอให้กำหนดบทเฉพาะกาล ให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ ทั้งพิทักษ์รัฐธรรมนูญ สามารถ “ปลด” รัฐบาลด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อให้ ส.ว. เป็นองค์กรที่มีอำนาจควบคุมการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน และยังของดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อาทิ การเสนอชื่อว่าที่นายกฯ 3 รายชื่อ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า “ย้อนยุค” และตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการ “ยืดอำนาจพิเศษ” ออกไปอีกหรือไม่
หลังจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แนวคิดการบริหารจัดการบ้านเมืองย้อนกลับมาเป็น “รวมศูนย์” มากขึ้นกว่าเดิม อาทิ แนวคิดการร่างรัฐธรรมนูญที่ก่อนหน้าจะมีการยึดอำนาจ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ไปๆ มาๆ เนื้อหาของ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กลับเน้นให้อำนาจประชาชนในการบริหารประเทศถูกจำกัดอยู่ เพียงการหย่อนบัตร และหลังจากเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้า ไปแล้ว กระบวนการบริหารประเทศอื่นๆ จะมี กระบวนการตรวจสอบเข้มข้น ทั้งจากสมาชิกวุฒิสภาซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งคณะ กรรมการในองค์กรอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงประชาชน
ขณะเดียวกัน บรรยากาศการเมืองได้ทวีความร้อนแรงไปตามอุณหภูมิด้วยเช่นกัน เมื่อฝ่ายกุมอำนาจเล่นบทขึงขังเมื่อ นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเรียกร้องให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. รับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” ไม่ผ่านประชามติ จนต่อมานายวรชัยถูกทหารบุกล็อกตัวไปปรับทัศนคติในค่าย
หรือกรณีของ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีคนดังของพรรคเพื่อไทยที่ออกมาสนับสนุนความคิดเห็นของนายวรชัย เรียกร้องให้ผู้นำแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง แต่กลับถูกดำเนินคดีในข้อหา “ปากไม่ดี” ทำให้ภาพลักษณ์ คสช.ติดลบ
ทั้งหลายทั้งปวงนี้สะท้อนให้เห็นอารมณ์ “เครียดๆ” ของทหารที่พร้อมตอบโต้กับฝ่ายต่อต้านแบบทันทีทันควัน สถานการณ์แตกต่างกับรอบปีแรกที่ คสช.เข้ามาพร้อมความหวังประชาชน ขีดความอดทนต่อแรงยั่วของฝ่ายต่อต้านไม่สูงเหมือนเก่อันเนื่องมาจาก สถานการณ์ที่รัฐบาลถูกกดดันในลหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่มีแต่ข่าวติดลบ ทั้งการส่งออก ภัยแล้ง รวมทั้งการลงทุนภาครัฐ “เมกะโปรเจกต์” ที่หวังจะกระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจก็สะดุด จนพล.อ.ประยุทธ์ต้องประกาศล้มแผนก่อสร้างรถไฟกับทางการจีน มาเป็นการลงทุนเอง
ขณะที่สถานการณ์ “อำนาจ” ไม่เป็นไปตาม “พิมพ์เขียว” ที่ คสช.และแม่น้ำ 4 สาย ให้กรธ.ออกแบบกติกาพิเศษให้แม้จะได้สิทธิเลือก “250 ส.ว.ลากตั้ง” แต่อำนาจส.ว.ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ลงมติซักฟอกรัฐบาล รวมทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรี ถูกตัดออกจากโพยใบสั่ง เรียกว่าคสช.ได้แค่คุมปริมาณ ส.ว. แต่อำนาจในการคุมเกมรัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่านก็ตกไปอยู่กับองค์กรอิสระอย่างศาล รัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
อย่างไร ก็ตาม กำหนดการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเคลื่อนเข้าสู่การทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งยังมีเวลาเพียงพอที่จะให้คนไทยซึ่งต้องการรู้เนื้อหาสามารถหาอ่านได้ ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญน่าชี้แจงและตอบข้อสงสัย ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีหน้าที่จัดการลงประชามติก็ต้องเผยแพร่ เนื้อหา เปิดเวทีชี้ข้อดีข้อเสียให้ประชาชนทราบให้มากที่สุด
เพื่อให้คนไทยได้มีเวลาคิดและตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในวันลงประชามติ 7 สิงหาคม