“อัล-ราชีด” ถนนที่ไม่หลับไหล แห่งฉนวนกาซา

ผู้คนที่มานั่งอยู่ถนนอัล-ราชีด (MEE/Mohamed al-Hajjar)

“ถนนอัล-ราชีด” ทอดยาวไปตามแนวชายฝั่งเป็นดั่งสวรรค์ของชาวเมืองจากความมืดมิดที่ปกคลุมฉนวนกาซาในยามค่ำคืน

ยามอาทิตย์อัสดง ผ้าห่มแห่งความมืดก็จะเริ่มปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของฉนวนกาซา ยกเว้นถนนสายหลักที่ยังคงโลดแล่นด้วยชีวิตชีวาและแสงสว่าง นั่นคือ “ถนนอัล-ราชีด” (Al-Rasheed)

ถนนอัล-ราชีด ทอดยาวไปตามแนวชายฝั่งจากทางเหนือไปทางใต้ของฉนวนกาซาพร้อมกับร้านอาหาร คาเฟ่ และร้านค้าริมถนนกระจัดกระจายไปทั่วทางเท้า ขายทุกอย่างตั้งแต่แซนด์วิช ไอศกรีม เครื่องดื่มร้อน และน้ำผลไม้สด

เด็กชาวกาซาถือเทียนไขในระหว่างการประท้วงซึ่งชาวบ้านเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงไฟฟ้า (MEE / Mohamed al-Hajjar)

เหตุเพราะการตัดกระแสไฟฟ้าที่อาจยาวต่อเนื่องไปถึง 20 ชั่วโมง กาซาจึงมักจะเป็นสีดำในเวลากลางคืน ไม่มีไฟถนนและไม่มีไฟฟ้าในบ้านส่วนใหญ่ จะมีก็แค่แสงวับๆ แวมๆ จากไฟหน้ารถขณะขับผ่านท้องถนน

ด้วยเหตุนี้ประชาชนหลายคนเช่น มูฮัมหมัด อาบูเซด วัย 27 ปี จึงพากันหนีจากความมืดมาที่ถนนอัล-ราชีด ทุกคืนเขาเดินมาที่ถนนแห่งนี้พร้อมมือที่ถือเก้าอี้ กาชา และชิช่า (บารากู่) ซึ่งกลายเป็นวิถีของเขามาเกือบสองปีแล้ว

อาบูเซด อาศัยอยู่ในบ้านเช่าย่านเชครัดวาน (Sheikh Radwan) ของฉนวนกาซา โดยมีสมาชิกในครอบครัว 10 คนรวมทั้งพ่อและพี่น้องของเขา พ่อของอาบูซิดเป็นลูกจ้างที่เกษียณอายุซึ่งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัวและค่าเช่า บ้านหลังใหญ่ของพวกเขาก่อนหน้านี้ถูกระเบิดในปี 2014 เมื่อครั้งที่อิสราเอลรุกรานฉนวนกาซาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,200 ราย

“ผมไม่มีงานทำ ผมได้รับการจ้างงานชั่วคราวเป็นเวลาหกเดือนตั้งแต่ผมจบการศึกษามา [จากมหาวิทยาลัย] บ้านเราตอนนี้คับแคบมากเมื่อเทียบกับบ้านเก่าหลังใหญ่ที่ถูกทิ้งระเบิด สถานการณ์เหล่านี้สร้างแรงกดดันกับผมมากนอกเหนือจากที่ต้องถูกตัดไฟฟ้าเป็นเวลานาน” อาบูเซด กล่าว “นี่คือเหตุผลที่ผมใช้เวลาส่วนใหญ่บนถนนอัล-ราชีด และในช่วงฤดูร้อนผมนอนที่นี่กับเพื่อนๆ โดยหวังว่าจะทำให้จิตใจสงบขึ้น”

พ่อค้าบนถนนอัล-ราชีด ขายเครื่องดื่ม อาหาร ขนม และของเล่นสำหรับเด็ก (MEE / Mohamed al-Hajjar)

ขณะที่อะเหม็ด อัล-ดาลู (Ahmed al-Dalo) วัย 27 ปี ใช้เวลา 4-6 ชั่วโมงต่อวันบนถนนที่มีชื่อเสียงแห่งนี้กับเพื่อนๆ เขาบอกว่า ถนนช่วยให้ผู้คนหายใจสะดวกขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองกำลังอยู่ในภาะหอบสำลัก

“ที่นี่เราใช้เวลาอยู่กับเพื่อน พูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกมฟุตบอลและการแข่งขันในยุโรป ภาพยนตร์ หนังอเมริกันและอินเดีย” เขากล่าว “เราพยายามที่จะลืมความกังวลของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรากำลังตกงาน ซึ่งการหางานเป็นเรื่องที่ยากลำบากในฉนวนกาซา”

อัล-ดาลู และเพื่อนๆ ของเขาได้รับการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยอัลกุดส์ (Al-Quds University) แต่พวกเขาทั้งหมดยังว่างงาน

ตามรายงานของธนาคารโลกปี 2016 อัตราการว่างงานของเยาวชนในฉนวนกาซาอยู่ที่ 58 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับที่ “น่ากังวล”

“ฮามาส” ได้เข้ามาบริหารฉนวนกาซาจากกองกำลังที่จงรักภักดีต่อ มาห์มุด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ในปี 2007 (พ.ศ.2550) หนึ่งปีหลังจากที่ได้รับการเลือกตั้งตามกฎหมาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแถบฉนวนกาซาก็ถูกปิดล้อมจากอิสราเอล

เมื่อเดือนที่แล้วฟาตาห์และฮามาสลงนามในข้อตกลงการประนีประนอมในกรุงไคโร ข้อตกลงนี้คาดว่าจะยุติมาตรการลงโทษของอับบาสที่มีต่อฉนวนกาซา รวมถึงการลดการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่เหลืออยู่ในดินแดนเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน

แต่หลายคนบอกว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และเสริมว่า พวกเขาไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ทางการปาเลสไตน์

“ผมแทบจะไม่สามารถหาซื้อสิ่งของจำเป็นที่สำคัญให้ครอบครัวของผมได้ สถานการณ์นี้เป็นเรื่องที่เครียดมากสำหรับพวกเรา โดยเฉพาะลูกๆ ของผมที่ควรต้องได้เล่นและเข้าถึงพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจแทนการใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของพวกเขาในความมืด” อาเหม็ด อัล-ชานตี (Ahmed al-Shanti) วัย 37 ปีกล่าว

อะเหม็ด อาบูตักยา (Ahmed Abu Taqya) ไม่ใช่คนแปลกหน้ากับถนนถนนอัล-ราชีด ในช่วงสงคราม ปี 2014 ในฉนวนกาซา เขาได้รับบาดเจ็บขาที่ทำให้เขาต้องสูญเสียงานของเขาในฐานะช่างไม้

ในวัย 29 ปีเขาเพิ่งผ่านการหย่าร้างเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก

เยาวชนในฉนวนกาซาต้องการใช้เวลาที่เงียบสงบบางส่วนห่างจากฝูงชนที่จอแจและเมืองที่อึกทึก (MEE / Mohamed al-Hajjar)

“เยาวชนในฉนวนกาซาต้องการใช้เวลาที่เงียบสงบบางส่วนห่างจากฝูงชนที่จอแจและเมืองที่อึกทึก กาซาเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมาก” เขากล่าว ซึ่งหมายถึงประชากรของกาซาที่มีถึงสองล้านคน

“สำหรับผม รู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้มานั่งอยู่ริมทะเลบนถนนสายนี้เป็นเวลาหลายชั่วโมง” เขากล่าวเสริม

ในเดือนกันยายนปี 2015 ถนนแห่งนี้ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่และเปิดตัวหลังจากใช้งบประมาณมากกว่า 29 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนถนนสายสำคัญเพื่อให้ไฟฟ้าในเวลากลางคืน

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลายโครงการก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูฉนวนกาซา ที่ได้รับการสนับนุทางการเงินจากคณะกรรมการกาตาร์เพื่อการฟื้นฟูกาซา ซึ่งได้รับงบประมาณจำนวน 407 เหรียญสหรัฐจากรัฐบาลกาตาร์

ฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อมแห่งนี้ได้ถูกกองกำลังอิสราเอลยิงปืนใหญ่ถล่มในสงครามสี่ครั้งกับฮามาส นับตั้งแต่ปี 2006 (พ.ศ.2549) อันทำให้กาซ่าต้องจมอยู่ในซากปรักหักพัง

บ้านส่วนใหญ่ไม่มีไฟฟ้า

ผนังของถนนได้รับการตกแต่งด้วยกราฟฟิตีและงานศิลปะ รวมถึงเนื้อร้องจากบทเพลงของฟีรูซ (Firouz) นักร้องชาวเลบานอนในตำนาน “ดูสิว่าทะเลนี้กว้างเพียงใด นั่นแหละคือความรักที่ฉันมีให้เธอ” (See how the sea is large, that is how much I love you.)

ร้านอาหารและคาเฟ่เต็มไปด้วยผู้คนที่เล่นไพ่และฟังเพลง หลายครอบครัวสนุกกับการหยุดทำงานบางขณะจนกว่าจะถึงช่วงดึกของคืน

มุสตอฟา อาบู ฮามัด พาครอบครัวของเขาไปที่ถนนอัล-ราชีด ทุกวันศุกร์

“ลูกของผมมักจะบ่นเกี่ยวกับการตัดกระแสไฟฟ้า พวกเขาควรต้องได้รับความบันเทิง สถานการณ์ทั้งหมดมีผลกระทบต่อสถานะทางจิตวิทยาของพวกเขา ผมพยายามพาพวกเขาออกไปที่ทะเลที่ถนนอัล-ราชีด เพื่อให้พวกเขาสามารถเล่น วิ่ง และสูดอากาศบริสุทธิ์ได้ “อาบูฮามัดกล่าวขณะเล่นกับลูกสามคนของเขา

ถนนสายการค้า

อิบรอฮีม มัสอูด (Ibrahim Masoud) สามารถดึงดูดลูกค้าจำนวนมากให้เข้ามาที่รถเข็นของเขา กลิ่นหอมของกาแฟตุรกีและอาหรับที่มีเอกลักษณ์ของเขายั่วยวนผู้คนให้เดินเข้ามา ในขณะที่เพลงอาหรับเก่าจากยุค 40 อย่าง Euphoric Nights in Vienna โดยนักร้องชื่อดังชาวซีเรียที่ชื่ออัสมาฮาน (Asmahan) เล่นอยู่เป็นฉากหลัง

ผู้คนรอบๆ รถเข็นของเขาพูดคุยกันเกี่ยวกับการว่างงานและการระบายความกังวลในเรื่องท้าทายอื่นๆ ที่คนทั่วไปต้องเผชิญกับการปิดล้อมกาซา

เมื่อเทียบกับราคาที่คาเฟ่และร้านอาหาร ราคาของพ่อค้าริมถนนนั้นไม่แพงสำหรับคนส่วนใหญ่ (MEE/Mohamed al-Hajjar)

ในเวลากลางวันเขาทำงานให้บริการกาแฟในเตล อัล-ฮาวา (Tel al-Hawa) ซึ่งเป็นย่านร่ำรวยและรวมถึงที่ตั้งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของกาซา และในเวลากลางคืนเขาก็มาทำงานอยู่ที่ถนนอัล-ราชีด

“พ่อค้าส่วนใหญ่ริมถนนสายนี้เป็นคนมีทักษะด้านอาชีพ แต่การปิดล้อมที่แน่นหนาทำให้พวกเขาสูญเสียงานของพวกเขา ผมเคยเป็นช่างโลหะ แต่ผมต้องหยุดนับตั้งแต่ถูกปิดล้อม” เขากล่าว “ตอนนี้ผมทำงานเป็นพ่อริมถนนถนน ผมสนุกกับงานของผม เพราะมันช่วยให้ผมเลี้ยงดูครอบครัวได้”

เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากในฉนวนกาซาพ่อค้าริมถนนจึงได้รับอนุญาตให้ทำงานที่นั่นได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ แก่เทศบาล พ่อค้ากล่าวว่าพวกเขามีรายได้ที่ดีโดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน

ฮาเต็ม อัล-เชค คาลีล (Hatem al-Sheikh Khalil) ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์เขตเทศบาลฉนวนกาซาได้ประมาณการว่า มีผู้คนประมาณ 10,000 คนที่มาชุมนุมกันที่ถนนอัล-ราชีดในวิถีประจำวัน ฮาเต็มบอกว่า ร้านอาหาร, โรงแรม และคาเฟ่ มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อให้อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ครอบครัวส่วนใหญ่ในฉนวนกาซาไม่สามารถซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลของตนเองได้ที่บ้าน

“ถนนอัล-ราชีด เป็นถนนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในฉนวนกาซา เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของร้านอาหารโรงแรม และคาเฟ่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และมันมีไฟสว่างไสว” เขากล่าว

….

โต๊ะข่าวต่างประเทศเดอะพับลิกโพสต์ แปล/เรียบเรียงจาก http://www.middleeasteye.net