ปรัชญาแห่ง “รอมฎอน” และ “ศีลอด”

หนึ่งในหลายวัตถุประสงค์ที่ศาสนาเน้นย้ำให้ตระหนัก คือ การขัดเกลา และชำระล้างตัวตน จิตวิญญาณ และศรัทธา ด้วยเหตุนี้ศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) จึงกล่าวว่า “ท่านถูกแต่งตั้งเป็นศาสดาเพื่อความสมบูรณ์แบบแห่งจริยธรรม” ในบริบทนี้หมายความว่า อุดมคติเบื้องหน้ามนุษยชาติคือการบรรลุถึงมาตรฐานทางศีลธรรมสูงสุด ซึ่งเป็นไปได้โดยการขัดเกลาตนเอง ตามแต่คำสอนในแต่ละศาสนาต่างๆ ของโลก

ศาสนาทุกศาสนาได้ให้ความสำคัญในการขัดเกลาทางจิตวิญญาณและการบ่มเพาะคุณธรรมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ต่างกันก็แค่วิธีการและแนวทางที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจผันแปรกันออกไป แนวคิดเรื่องสักการะบูชาในศาสนาฮินดู การโนมเอียงไปทาง “วิถีอารามวาสี” (monasticism) ในศาสนาคริสต์ และการละทิ้งโลกในสายตาของนักปรัชญากรีก ฯลฯ อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้

แต่อิสลามเป็นศาสนาที่เรียบง่าย ซึ่งละทิ้งทุกวิถีทางที่ไม่เป็นธรรมชาติ ศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.)ให้แนวทางในการปฏิบัติ 5 ขั้นตอน ในรูปแบบของเสาหลักแห่งศาสนาอิสลาม เพื่อให้บรรลุความยำเกรงและการขัดเกลา ซึ่งไม่เพียงแต่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสามารถปฏิบัติได้อย่างง่ายดาย

“การถือศีลอด” เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุความยำเกรง (ตักวา) และการขัดเกลาตัวตน ไม่มีทางปฏิเสธความจริงที่ว่า แนวคิดเรื่องการอดอาหารมีอยู่ในทุกศาสนาและสังคม ไม่มากก็น้อยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ศาสนาอิสลามนำเสนอสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างสิ้นเชิงและเป็นแนวคิดที่แตกต่าง

ตามสารานุกรมของชาวยิว:

“ชาวยิวและชาวคริสเตียนจะถือศีลอดแต่ละครั้งเพื่อสำนึกผิด หรือชดใช้ความผิดบาป หรือแม้แต่เพื่อวัตถุประสงค์ที่จำกัดกว่านั้น การอดอาหารของพวกเขาเป็นเพียงรูปแบบที่เป็นทางการเท่านั้น นอกจากนั้นการอดอาหารก็ยังคงเป็นเครื่องหมายการไว้ทุกข์ในสมัยโบราณ”

ดังนั้นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการถือศีลอดจึงถูกละเลยและถูกจำกัดไว้เพื่อบรรลุความสำเร็จทางผลประโยชน์ แต่อิสลามใช้การถือศีลอดวางกลไกเพื่อให้บรรลุถึงอุดมการณ์แห่งชีวิตที่สูงขึ้น สารานุกรมเดียวกันกล่าวต่อไปว่า :

“มันเป็นความเชื่อของชาวมุสลิม ซึ่งขยายวิสัยทัศน์และขอบเขตของการถือศีลอด และอธิบายว่านี่เป็นวิธีการเพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ที่สูงขึ้น ทุกความปรารถนาและแรงบันดาลใจทั้งหมดของชีวิตซึ่งเป็นอย่างอื่นจากขอบเขตของศีลธรรมเป็นสิ่งต้องห้ามในระหว่างการถือศีลอดของศาสนาอิสลาม อิสลามิกชนทำให้ข้อจำกัดเหล่านี้ทั้งหมดเป็นความเต็มใจและมีความสุขสำหรับตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ “

นี่คือสิ่งที่นำเราสู่วิทยปัญญาเบื้องหลังการอดอาหารว่าทำไมแนวคิดอิสลามต่อการถือศีลอดจึงแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ

พระคัมภีร์กุรอานกล่าวว่า:

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา การถือศีลอดเป็นเรื่องที่กำหนดไว้สำหรับพวกเจ้า เสมือนที่กำหนดไว้สำหรับชนก่อนพวกเจ้า เพื่อที่พวกเจ้าจะได้เป็นผู้ยำเกรง” (2: 183)

จุดประสงค์ของการถือศีลอดคือการส่องสว่างในหัวใจและความคิดของมนุษย์ ซึ่งมุ่งให้เกิดการปฏิวัติที่ครอบคลุมในชีวิตของส่วนบุคคลและส่วนรวม หนึ่งเดือนในการถือศีลอดช่วยให้มนุษย์แยกแยะความถูกต้องจากสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสิบเอ็ดเดือนที่เหลือ ในทางเดียวกันเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์เป็นหลักสูตรในการฟื้นฟูการควบคุมตัวเองที่แน่นหนา ถ้ามนุษย์สามารถเข้าใจแนวคิดแห่งความยำเกรงได้ชีวิตของเขาจะกลายเป็นมณีแห่งคุณธรรมที่นำทางโดยความเกรงกลัวต่อพระเจ้า

แต่เป็นเรื่องโชคร้ายอย่างยิ่งที่พวกเราส่วนใหญ่ยังคงขาดแคลนดอกผลจากการถือ ศีลอด เพราะเราได้วางปรัชญาแห่งการถือศีลอดไว้ในลำดับที่ไม่สำคัญ และย่อหย่อนการกระทำที่ยิ่งใหญ่เพื่อรักษารอมฎอนนี้ จนกลายเป็นเพียงการทำให้กระเพาะอาหารว่างเปล่าและโหยกระหาย

ศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) เคยกล่าวไว้ว่า:

“มีผู้ถือศีลอดจำนวนมากที่ไม่ได้รับอะไรเลยจากการถือศีลอด ยกเว้นความกระหายและความหิวโหย และมีผู้ศรัทธามากมายที่ไม่ได้อะไรจากการตื่นนอนตอนกลางคืน ยกเว้นแค่การตื่นขึ้นมา”

ด้านหนึ่งของความยำเกรงคือความอดทนและระงับข่มใจ การถือศีลอดมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้มนุษย์บรรลุจุดสุดยอดของความยำเกรงซึ่งเป็นด่านที่สูงกว่าความอดทน การถือศีลอดเนื้อแท้ทำให้เขาไม่ตกสู่ความกังวลและร้อนรนในช่วงเวลาของการถูกทดสอบและความทุกข์ยาก แต่เตรียมพร้อมเต็มที่ในการเผชิญกับความท้าทายอย่างเข้มแข็ง

การเผชิญความทุกข์ทรมานจากความหิวและความกระหายในระหว่างการถือศีลอด จะสร้างความรู้สึกของการเสียสละในตัวบุคคล และทำให้เขาตระหนักถึงความทุกข์ทรมานของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนในสังคมผ่านประสบการณ์จริงนี้

ดังนั้นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการถือศีลอด คือการทำให้ชนชั้นที่ร่ำรวยได้พัฒนาตัวตนผ่านผู้ที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้พวกเขาทั้งสองฝ่ายได้มาบรรจบกัน อิสลามมีจุดมุ่งหมายในการจัดตั้งสังคมที่มุ่งเน้นช่วยเหลือเผื่อแผ่เช่นนี้ ซึ่งวางบนรากฐานที่แข็งแกร่งของการเคารพซึ่งกันและกัน ความรู้สึกของการเสียสละเพื่อกันและกัน และความรักของมนุษยชาติ อิสลามไม่สนับสนุนการสะสมความมั่งคั่งโดยผู้คนเพียงหยิบมือที่สร้างความเสียหายให้กับสังคมทั้งมวล จึงกำชับให้ผู้ที่ร่ำรวยและมั่งคั่งเหลียวมองผู้คนที่เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังเส้นทางสู่ความเป็นเศรษฐีและร่ำรวยของพวกเขา ความหิวและกระหายในระหว่างการถือศีลอดถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเริ่มต้นเป็นอุทาหรณ์สำหรับปัจเจกบุคคลในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน

การถือศีลอดคือความพยายามที่จะชำระล้างจิตวิญญาณ ตัวตน จิตใจและความรู้สึก จากสิ่งสกปรกทั้งหมดที่มีแนวโน้มจะทำให้เปื้อนเปรอะ ร่างกายมนุษย์ประกอบจากสสารซึ่งต้องการอาหารและสิ่งอื่นๆ เพื่อความอยู่รอด ในขณะที่จิตวิญญาณเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนซึ่งการเติบโตและการพัฒนาขึ้นอยู่กับการละทิ้งทางโลกและวัตถุ ความต้องการของร่างกายและจิตวิญญาณนั้นตรงข้ามกันและกัน การถือศีลอดคือไตฟอกวัตถุ ดังนั้นจึงเสริมสร้างจิตวิญญาณ เมื่อผู้หนึ่งขึ้นได้กำจัดความปรารถนาตัณหาผ่านการถือศีลอดแล้ว เขาก็จะกระปรี้กระเปร่าและกลายเป็นผู้มีพลังทางจิตวิญญาณ ด้วยการถือศีลอดซ้ำๆ นี่เป็นกระบวนการทำให้ตัวเองบริสุทธิ์ซึ่งเร่งรัดขจัดสิ่งสกปรกทั้งหมดออกจากจิตวิญญาณ

จุดสุดท้ายของการถือศีลอดหลังจากข้ามขั้นตอนทางจิตวิญญาณต่างๆ คือการได้รับความพึงพระทัยจากอัลเลาะห์ผู้ทรงเกรียงไกร สถานะที่อัลเลาะห์พึงพอพระทัยต่อบ่าวของพระองค์คือความสิริมงคลทุกประการ เดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ให้โอกาสที่ยิ่งใหญ่นี้กับเราในการเข้าร่วมกับชุมชนของผู้ที่อัลเลาะห์ทรงพอพระทัย

เกี่ยวกับผู้เขียน : เชคคุลอิสลาม ดร.มูฮัมหมัด ตาเฮร์ อัลกอดรี (Shaykh-ul-Islam Dr Muhammad Tahir-ul-Qadri) เป็นนักการเมืองชาวปากีสถาน-แคนาดา และนักวิชาการอิสลามซุนนี ซูฟีกอดีรียะห์ (Qadiriya Sufism) นอกจากนี้เขายังเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยปัญจาบ (University of the Punjab)

แปลจาก : https://www.minhaj.org