ถอดบทเรียนช่วยทีมหมูป่า! ชาติ จินดาพล กระตุ้นมุสลิมไทย ปลูกจิตสำนึกสาธารณะ

ชาติ จินดาพล

ชาติ จินดาพล นักธุรกิจมุสลิมและนักกิจกรรมเพื่อสังคม อดีตที่ปรึกษาผู้แทนการค้าไทย  กระตุ้นสังคมมุสลิมไทยเร่งปลูกจิตสำนึกสาธารณะ ถอดบทเรียนภารกิจนานาชาติช่วยเหลือทีมหมูป่าออกจากถ้ำ 

“นานาชาติมากกว่า 20 ประเทศเดินทางมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เราได้เห็นนักประดาน้ำผู้กล้าหาญเสี่ยงชีวิต นอกจากนี้บริเวณหน้าถ้ำหลวงก็ยังมีอาสาสมัครชาวไทยและต่างชาติจำนวนมากมาเพื่อสนับสนุนภารกิจนี้” ชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเดอะพับลิกโพสต์

“ภารกิจช่วย 13 ชีวิตเยาวชนทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงจึงเป็นการร่วมมือร่วมใจและผนึกกำลังของมนุษยชาติ ปรากฏการณ์ครั้งนี้นับเป็นแรงบันดาลใจและเรื่องราวที่มีคุณค่า เกินกว่าการทำตามหลักมนุษยธรรม แต่เป็นการสะท้อนถึงความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเสียสละร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน”

“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปฎิบัติการทำงานอย่างดีเยี่ยม จนประสบความสำเร็จ”

ชาติ จินดาพล กล่าวว่า บทเรียนจากการช่วยเหลือทีมหมูป่าออกจากถ้ำ ทำให้เราได้เห็นการเสียสละ ความร่วมมือร่วมใจ ของมนุษยชาติ พวกเขาหลายคนเดินทางมาจากแดนไกล หลายคนละทิ้งความสุขสุขตัว เพื่อมาลงมือทำในสิ่งที่เรียกว่า ความรับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์” 

“เมื่อทุกคนร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว หัวใจเป็นหนึ่งเดียว ปราศจากความเห็นแก่ตัว เราก็สามารถรับมือภารกิจที่น่ากลัวได้”

ชาติ จินดาพล เน้นย้ำว่า “นี่คือตัวอย่างของนิยามคำว่า Public Mind การมีจิตสำนักสาธารณะ จิตสำนึกเพื่อสังคม จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ที่ได้ก้าวข้ามเรื่องสีผิว ภาษา ความแตกต่างทางศาสนา หรืออัตลักษณ์ทางเพศ” 

ชาติกล่าวว่าตนอยากให้มุสลิมไทยได้ถอดบทเรียนจากจากปรากฏการณ์ครั้งนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาและยกระดับสังคมอย่างจริงจัง

“สังคมมุสลิมไทยเรา ไม่ค่อยปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกเพื่อสังคม ถ้าเราเหลียวมองดูรอบตัว พูดได้เลยว่าเราแทบไม่มีองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ทำเพื่อสังคมในภาพกว้าง เช่น ทำเพื่อป่า ทำเพื่อสัตว์  มูลนิธิกู้ภัย เหล่านี้เป็นต้น”

“สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ว่าเราไม่เคยสนใจสังคมภาพใหญ่ ทั้งที่มุสลิมในประเทศไทยมีจำนวนหลายล้านคน ในทางหลักการศาสนาของเรามีระบบซะกาต ระบบซอดาเกาะห์ (บริจาคทาน) เรามีเงินบริจาคมากมาย แต่ก็ไม่รู้ไหลไปทางไหนหมด ในภาพรวมแล้วเรายังประสบปัญหาเชิงพฤติกรรมอันสะท้อนให้เห็นถึงการขาดจิตสาธารณะอย่างมาก”

ชาติกล่าวต่อว่า อิสลามที่เราถูกสอนนั้น ประกอบด้วยความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม ซึ่งไม่อาจขาดข้อใดข้อหนึ่งไปได้

“ซึ่งในกรณีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ไม่ใช่ต่อสังคมมุสลิมเท่านั้น แต่หมายถึงสังคมทั่วไปที่เราอยู่ร่วมอาศัย เช่น เรื่องคนยากจน คนไร้บ้าน สัตว์จรจัด ความสะอาดของพื้นที่ส่วนรวม เป็นต้น อะไรเหล่านี้ล้วนเป็นความรับผิดชอบร่วมของคนที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้นๆ ซึ่งมุสลิมจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม”

อดีตที่ปรึกษาผู้แทนการค้าไทยกล่าวต่อว่า  แนวคิดจิตสำนึกสาธารณะ  ไม่ใช่เป็นสิ่งใหม่สำหรับอิสลาม แต่ถูกปล่อยละเลย และไม่ถูกให้ความสำคัญตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

“สังคมมุสลิมไทยมัวมุ่งอยู่กับความเชื่อความศรัทธา ตัดสินนรกสวรรค์กันจนทะเลาะวุ่นวายไม่รู้จบ แล้วก็ละเลยหลักปฏิบัติแทบจะทุกเรื่อง โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม”

“ผลกระทบมากมายที่เห็นในสังคมเราวันนี้ ทั้งขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว แก่งแย่ง ทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก เห็นแก่ตัว ชิงดีชิงเด่น ชุมชนเกิดความอ่อนแอ ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีการพัฒนา” ชาติเน้นย้ำว่าสาเหตุ  “เพราะคนในสังคมมุสลิมไทยขาดจิตสาธารณะ แต่ละคนมองเห็นเรื่องของตนเองเป็นใหญ่ทั้งสิ้น” 

ชาติบอกว่า  “มุสลิมรุ่นใหม่ต้องมีจิตสำนึกเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวมให้มากขึ้น ต้องสนใจคนอื่นที่แม้ตนไม่รู้จัก  มีความรักสังคม สนใจเห็นใจคนด้อยโอกาสและผู้เสียเปรียบในสังคม  นี่จึงจะตรงกับความเชื่อ ความคิด และอุดมการณ์ของอิสลามอย่างแท้จริง”

นอกจากนั้นเขายังกล่าวด้วยว่า องค์กรหลักของมุสลิมไทยก็จะต้องหันกลับมามองและสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะ “สังคมไม่ได้มีแค่เรื่องฮาลาล หรือดูดวงจันทร์กำหนดเดือนใหม่แค่นั้น มันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะ”

“อค์กรศาสนาต้องเข้ามามีบทบาทกระตุ้นให้ชาวมุสลิมเห็นคุณค่าของส่วนรวม และไปให้ถึงระดับรับผิดชอบและ อาสาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อุทิศตนเองเพื่อช่วยเหลืองานด้านการกุศล มิฉะนั้นเราก็คงเป็นเพียงคนที่เห็นแก่ตัวของสังคมนี้”

“บ่มเพาะต้นไม้แห่งความดีไม่ใช่เรื่องยาก ใช้ต้นทุนน้อย และกลับส่งผลกระทบเชิงบวกได้กว้างไกล ซึ่งนี่คือการเผยแพร่ศาสนาอิสลามอย่างแท้จริง” ชาติ จินดาพลกล่าวทิ้งท้าย