ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (62)

กระทรวงคมนาคมเป็นหนึ่งในกระทรวงเกรด A ที่นักการเมืองใฝ่ฝันหากันนัก ตามปกติบุคคลที่ได้รับเกียรติมากำกับดูแลกระทรวงนี้ มักเป็นบุคคลสำคัญในพรรคการเมือง ถ้าตำแหน่งในพรรคก็จะเป็นตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือรองหัวหน้าพรรค หากจะเป็นคนนอกก็ต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านการก่อสร้างที่เป็นนายทุนของพรรค แต่สำหรับพรรคความหวังใหม่แล้ว ตำแหน่งคนที่จะมาดูแลกระทรวงนี้ต้องเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรมสูง

เมื่อท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา มาเป็น ผู้บริหารเจ้ากระทรวงนี้ อันดับแรกที่ท่านดำริที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับความสะดวกสบายในการใช้เครื่องบินและสนามบินออกเดินทางไปแสวงบุญยังนครมักกะฮ์ คือ ท่านวันมูหะมัดนอร์ฯได้ออกคำสั่งแต่งตั้ง นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและ ส.ส. จังหวัดนราธิวาส เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่บรรดาฮุจญาตจากประเทศไทย ทั้งที่สนามบินหาดใหญ่ ภูเก็ต และ ดอนเมือง ซึ่งเป็นปีแรกที่รัฐบาลยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้อย่างกระตือรือร้นอย่างจริงจังมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา โดยนายอารีเพ็ญฯ ได้เชิญคณะกรรมการอันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำศาสนาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้มีประสบการณ์ตลอดจนผู้ประกอบการบริการฮัจย์ ซึ่งเป็นภาคเอกชนมาร่วมปรึกษาหารือเพื่อหาทางแก้ปัญหา และเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

คณะกรรมการอำนวยความสะดวกแก่ขบวนการฮุจญาตไทย ได้สรุปปัญหาต่างๆ และวิธีที่จะแก้ไขเพื่อป้องกันความยุ่งยาก ความโกลาหล โดยเฉพาะความแออัดในบริเวณที่ฮุจญาตเตรียมตัวขึ้นเครื่องบินที่สนามบิน ตลอดจนความสะดวกของบรรดาญาติมิตรสหายนับจำนวนหมื่นที่มาส่งฮุจญาตชั่วเวลาไม่กี่วัน ปัญหาที่หนักหน่วงจะตามมาได้แก่ สาธารณูปโภค ต่างๆ เช่น ห้องสุขา ห้องน้ำ ที่ไม่เพียงพอกับการบริการคนนับจำนวนหมื่น และยังต้องจัดเตรียมสถานที่ละหมาดและอาบน้ำละหมาดให้เพียงพอกับจำนวนคนนับพันนับหมื่นคนที่แออัดยัดเยียดในบริเวณสนามบิน ส่วนห้องพักผู้โดยสารทั้งที่สนามบินหาดใหญ่และภูเก็ตนั้น ไม่สามารถรองรับจำนวนฮุจญาตที่จะเดินทางครั้งละนับจำนวนพันได้

คณะกรรมการอำนวยความสะดวกแก่ฮุจญาตที่จะเดินทางไปแสวงบุญที่นครมักกะฮ์ กำหนดแผนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการแก้ไขปัญหาระยะยาวดังนี้

การแก้ไขปัญหาระยะสั้น

1. เรื่องที่พักของฮุจญาตและผู้มาส่งที่สนามบินหาดใหญ่และภูเก็ตนั้น ทางคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้ตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยการจัดสถานที่สำหรับรองรับฮุจญาตเป็นการต่างหากจากอาคารผู้โดยสาร โดยจัดกางเต๊นท์จำนวนนับร้อยหลัง มีสำหรับที่พักและสถานที่ละหมาด เต๊นท์กองอำนวยการเพื่อให้บริการเกิดความสะดวกรวดเร็ว ขณะเดียวกันจัดเตรียมห้องน้ำชายและหญิงแยกกันต่างหากหลายสิบห้อง สำหรับที่เอาน้ำละหมาดแยกกันชายหญิงจำนวนหลายสิบห้องเช่นกัน

2. จัดเตรียมบริการน้ำดื่มให้เพียงพอสำหรับฮุจญาตและผู้มาส่ง โดยตั้งจุดกระจายตามจุดต่างๆ นับร้อยจุด

3. บริการโทรศัพท์สาธารณะและโทรศัพท์ทางไกล โดยขอความร่วมมือจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมาติดตั้งให้ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่ฮุจญาตและผู้ประสงค์จะติดต่อธุระต่างๆ ทางโทรศัพท์ในระหว่างที่รอการเดินทาง

4. อนุญาตให้ร้านอาหารมุสลิมตั้งร้านหรือแผงลอยขายอาหารมุสลิมที่สะอาด เพื่อฮุจญาตจะได้สะดวกในการเลือกรับประทานอาหารหลายหลากหลายรสชาติ

5. จัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาให้การบริการเรื่องหยูกยาและการปฐมพยาบาลฮุจญาตที่ไม่สบายอย่างปัจจุบันทันด่วน

6. จัดหน่วยบริการข่าวสารต่างๆ แก่คณะฮุจญาตและผู้มาส่งอย่างพร้อมมูล เพื่อป้องกันความไม่เข้าใจในการสื่อสาร โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารเรื่องเที่ยวบิน เวลาเดินทาง ของคณะฮุจญาต เป็นต้น

การแก้ไขปัญหาระยะยาว

1. เนื่องจากการจัดทำเต๊นท์ที่พักฮุจญาตและผู้มาส่งฮุจญาตสร้างเป็นการชั่วคราวในช่วงที่ท่านวันมูหะมัดนอร์ฯมารับตำแหน่งใหม่ ดังนั้นเพื่อเป็นอาคารถาวรที่จะรองรับคณะฮุจญาตทุกๆ ปี ท่านวันมูหะมัดนอร์ฯ จึงให้นโยบายไปยังการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จัดงบประมาณสร้างอาคารเป็นการถาวร ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้จัดงบประมาณ 23 ล้านบาทเศษเพื่อสร้างอาคารถาวรสำหรับรองรับคณะฮุจญาตทั่วจังหวัดภาคใต้ตอนล่างขึ้นที่ท่าอากาศยานสนามบินหาดใหญ่ จนเสร็จเรียบร้อยใช้การบริการได้เมื่อ พ.ศ. 2540

2. ในส่วนของเครื่องบินรับขนคณะฮุจญาตนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มีบัญชาให้การบินไทยรับขนคณะฮุจญาตไทยในปี พ.ศ. 2540 จำนวน 7,000-10,000 คน การบินไทยสนองรับคำบัญชาเพื่อดำเนินการต่อไป

3. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คณะฮุจญาตในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ต้องเดินทางขึ้นเครื่องบินที่กรุงเทพฯ และหาดใหญ่ ท่านวันมูหะมัดนอร์ฯ มีบัญชาให้กรมการบินพานิชย์พัฒนาท่าอากาศยานนราธิวาส เพื่อก้าวสู่การเป็นท่าอากาศยานสากล โดยได้จัดงบประมาณสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและอาคารรับเสด็จพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ในปีงบประมาณ 2540-2541 ในวงเงิน 100 ล้านบาท โดยขอตั้งงบประมาณปี 2540 เป็นเงิน 30 ล้านบาท

4. นอกจากนี้เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานนราธิวาสให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมการขนส่งทางอากาศของภาคใต้ตอนล่าง ได้อนุมัติให้ขยายท่าอากาศยานนราธิวาสให้มีขีดความสามารถรับรองเครื่องบินขนาดแอร์บัสและเครื่องบินโบอิ้ง 747 ในอนาคตข้างหน้าได้ โดยในปีแรกได้ขยายทางวิ่งเป็น 45+2500 เมตร และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารขึ้นใหม่ พร้อมสะพานเทียบเครื่องบิน (งวงช้าง) งบประมาณ 459 ล้านบาท ระวะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 2540-2542 ซึ่งหากโครงการนี้ดำเนินการสำเร็จเรียบร้อย ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางไปติดต่อธุรกิจหรือเดินทางไปมาทั้งในและต่างประเทศอย่างรวดเร็วและคุ้มค่า สำหรับชาวมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ สามารถใช้ท่าอากาศยานนราธิวาสเหมือนกับใช้ท่าอากาศยานที่หาดใหญ่และกรุงเทพฯ

นอกจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นอมีรุลฮัจย์ (ผู้นำฮัจย์ทางการของประเทศไทย) โดยท่านวันมูหะมัดนอร์ฯ ต้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ร่วมกับฮุจญาตจากประเทศไทยในฐานะผู้นำและอำนวยประโยชน์แก่ฮุจญาตประมาณ 22,000 กว่าคน ณ นครมักกะฮ์ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ในฐานะเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็เดินทางไปด้วย

นับตั้งแต่เดินทางเข้านครมักกะฮ์จนถึงวันอิดิลอัฎฮา จากมักกะฮ์ถึงมีนา ท่านวันมูหะมัดนอร์ฯ ทำงานไม่ว่างเว้น ต้องดูแลเอาใจใส่อำนวยความสะดวกแก้ไขปัญหาให้กับฮุจญาตจากประเทศไทยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาสถานที่พักของฮุจญาตที่ผู้ประกอบการกิจการฮัจย์หรือแซะห์ได้จัดสถานที่พักที่ไม่ค่อยให้ความสะดวกเท่าที่ควร อาหารการกิน ห้องสุขา ห้องน้ำ ตลอดจนพาหนะรถยนต์ที่บริการฮุจญาตที่จะไปมีนาและอารอฟะห์ที่สภาพรถไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าใดนักปัญหาต่างๆเหล่านี้ แม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของอมีรรุลฮัจญ์ แต่ท่านก็ไม่ได้ละเลย ต้องไปช่วยจัดการแก้ปัญหาประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของซาอุดิอาระเบีย ทุกระดับ จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ฮุจญาตจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าประเทศที่มีรัฐบาลคนมุสลิมบริหารและประเทศที่มุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย ต้องมีผู้นำฮัจญ์ทางการของประเทศนั้นๆ และทุกปีระหว่างทำพิธีค้างคืนที่มีนา กษัตริย์ประเทศซาอุดิอาระเบียจะต้องจัดอาหารเลี้ยงร่วมโต๊ะเสวยกับอมีรุลฮัจย์ของประเทศต่าง และในครั้งนี้ท่านวันมูหะมัดนอร์ฯ ได้รับเชิญร่วมโต๊ะเสวยในค่ำคืนหนึ่ง แต่ท่านไม่สามารถที่จะไปได้ เนื่องจากเกิดอาการป่วยอย่างกระทันหัน ท่านจึงมอบหมายให้นายอารีเพ็ญฯ เลขานุการไปแทน ในค่ำคืนร่วมโต๊ะเสวยนั้น นายอารีเพ็ญฯ มีโอกาสได้นั่งติดกันกับอมีรุลฮัจย์ของประเทศฟิลลิปปินส์ คือ ท่านนูรมิสซัวรี ซึ่งบุคคลผู้นี้เคยเป็นผู้นำขบวนการกู้อิสรภาพบังซาโมโร นายอารีเพ็ญฯ ได้ถามท่านนูรมิสซัวรี่ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่เรียกร้องเอกราชบนเกาะมินดาเนายุติลงแล้วเพราะเกาะมินดาเนาได้ปกครองตนเองแล้วใช่ไหม ท่านตอบว่า “เพียงเป็นการพักผ่อนชั่วคราวเท่านั้น”

นอกจากภารกิจบริการผู้เดินทางไปแสวงบุญที่นครมักกะฮ์ ซึ่งเป็นภาระกิจเร่งด่วนและประจำทุกปีของกระทรวงคมนาคมแล้ว ท่านวันมูหะมัดนอร์ฯ ยังเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง อธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดีมาประชุมพิจารณาโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่และยังไม่มีแผนในโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคมนาคมทางบก ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อเร่งรัดและจัดทำโครงการใหม่ๆบรรจุลงในแผน เพื่อให้ทันการแข่งขันกับเพื่อนบ้านในอาเซี่ยนและร่วมมือกับเพื่อนบ้านในอาเซี่ยนที่มีเขตแดนติดต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพื่อนบ้านประเทศมาเลเซียทางชายแดนใต้สุดที่ปาดังเบซาร์ อ. สะเดา จังหวัดสงขลา ชายแดน อ. เบตง จังหวัดยะลา และชายแดน อ. สุไหงโกลก ชายแดน อ. แว้ง ชายแดนอ. ตากใบ จังหวัดนราธิวาส