ศาสนาอิสลามในมณฑลต่างๆ ของจีน (ตอนที่ 4)

มณฑล ชิงไห่เป็นหนึ่งในมณฑลที่มีความสำคัญบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตของจีน เป็นมณฑลที่มีทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดในจีนและเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแยงซี เกียง ฮวงโห แม่น้ำโขง  ชิงไห่มีประชากรมุสลิมกว่า 753,378 คน กลุ่มชาติพันธ์ที่นับถือศาสนาอิสลามประกอบด้วย ชาวหุย ชาวคาซัส และชาวซาลาเป็นต้น

เมือง ซีหนิงเป็นมหานครของมณฑลดังกล่าว มณฑลชิงไห่เป็นอีกมณฑลหนึ่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่ไพศาลซึ่ง เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพปศุสัตว์ได้อย่างสมบูรณ์และมีทะเลทรายเป็นศูนย์ รวมแร่นานาชนิด  ในมณฑลดังกล่าวมีสัตว์ต่างๆเพื่อใช้ทางด้านเศรษฐกิจกว่า 400 ชนิด มีของป่ามากกว่า1,000 ชนิดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านยารักษาโรค มณฑลดังกล่าวจึงได้รับสมญานามว่าเป็น“เมืองแห่งขุมทรัพย์ต่างๆ” มณฑลชิงไห่เป็นมณฑลที่มีความหลากหลายทางด้านศาสนา เช่นศาสนาพุทธนิกายลามะ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์  ศาสนาพุทธนิกายลามะและศาสนาอิสลามมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน มากกว่า ส่วนศาสนาพุทธนิกายมหายานและลัทธิเต๋า จะมีผลกระทบต่อประชาชนภาคเกษตรกรรมบางแห่ง  ชนกลุ่มต่างๆ เช่นชาวทิเบต ชาวมองโกล ชาวหุย ชาวซาลาเป็นต้นล้วนนับถือศาสนาต่างๆ

มณฑล ชิงไห่เป็นศูนย์กลางของทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นจุดผสานของเส้นทางสายไหม เส้นทางTangbo (เส้นทางที่จะผ่านไปยังทิเบต เนปาลและอินเดีย) เส้นทางม้าและชา (เส้นทางการค้าที่ผ่านไปยังมณฑลซานซี)  บรรพบุรุษของชาวหุยในมณฑลชิงไห่เป็นทหารเชลยศึกชาวอาหรับและชาวเปอร์เซีย ที่ตั้งรกรากอยู่บริเวณดังกล่าว ตามเอกสารโบราณต่างๆ ของจีนและกลุ่มประเทศอาหรับบันทึกไว้ว่า ในสมัยราชวงศ์ถังของจีนมีชนสามกลุ่มที่ เรืองอำนาจในสมัยนั้นคือ ราชวงศ์ถัง Dashi (ชนเชื้อสายอีหร่าน) และ Tubo ทั้งสามกลุ่มนี้ค่อยๆ แผ่ขยายอำนาจไปทางภาคตะวันตกของจีนและทางตะวันออกกลาง และก็มีการทำสงครามภายในระหว่างกันด้วย จึงทำให้ที่ราบสูงชิงไห่-ธิเบตเป็นฐานทัพของชาว Dashi และมีจำนวนไม่น้อยที่ตั้งรกรากอยู่บริเวณดังกล่าว อนึ่งเนื่องด้วยภัยทางด้านสงครามจึงทำให้เส้นทางในการสัญจรไปมาไม่สะดวก ชาวทหารเชลยศึกอาหรับจึงเลือกสมรสกับผู้หญิงท้องถิ่น และสร้างครอบครัวจนกระทั่งสืบทอดลูกหลานบริเวณมณฑลชิงไห่ การผสมผสานกันระหว่างมุสลิมและผู้ที่เริ่มศึกษาอิสลามใหม่เป็นเวลานานนับ ร้อยปี กระทั่งสมัยราชวงศ์หมิง ชิง ศาสนาอิสลามในมณฑลชิงไห่จึงมีความเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

มัสยิด Dongguan เป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลชิงไห่ ตั้งอยู่ทางใต้ของถนน Dongguan ในมหานครซีหนิง ก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1380 มีประวัติมามากกว่า 900 กว่าปี  ในประวัติศาสตร์มีการซ่อมแซมและผ่านการบูรณะมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว ปัจจุบันพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 6,000 ตารางเมตร สถาปัตยกรรมของมัสยิดเป็นรูปแบบที่ผสมผสานระหว่าง สถาปัตยกรรมจีน อาหรับและยุโรป ในแต่ละวันมีคนปฏิบัติศาสนกิจไม่ต่ำกว่า 7,000 ราย ในการละหมาดญุมอะฮ์ในวันศุกร์มีจำนวนมากถึง 20,000 กว่าราย  และการละหมาดวันตรุษทั้งสองของศาสนาอิสลาม มีจำนวนคนละหมาดไม่น้อยกว่า 100,000 คนต่อครั้ง ในปัจจุบันนี้มัสยิดดังกล่าวยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามของภาค ตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ใน ประวัติศาสตร์ของมณฑลชิงไห่นั้นมีผู้รู้และนักเคลื่อนไหวทางศาสนามากมาย ซึ่งแต่ละคนนั้นได้ทำคุณงามความดีให้กับศาสนาอิสลามไม่น้อย เช่น MaMingxin (ค.ศ. 1791-1781) เป็นเด็กที่กำพร้าพ่อตั้งแต่เด็ก มีโอกาสศึกษาร่ำเรียนภาษาอาหรับพร้อมลุง ตั้งแต่อายุ 6 ปีและเมื่ออายุ 9 ปี (บางรายงานว่า 11 ปี) ได้เดินทางบนเส้นทางสายไหมเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะพร้อมลุง ระหว่างทางลุงล้มตายจากไปเพราะประสบพายุทราย แต่เขาก็ดิ้นรนไปแสวงบุญจนประสบความสำเร็จ และมีโอกาสศึกษาภาษาอาหรับและความรู้ทางด้านศาสนาในประเทศเยเมนจนเชี่ยวชาญ และแตกฉาน เมื่อกลับมาถึงมณฑลชิงไห่ใน ค.ศ. 1744 เขาได้  ประสิทธ์ประสาทความรู้ทางด้านศาสนาให้กับมุสลิมชิงไห่ จนได้รับความนิยมชมชอบจากผู้คนทั้งหลาย ซึ่งเขาจะเน้นเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจให้ถูกต้อง ปฏิรูปละทิ้งสิ่งที่ศาสนาไม่รับรอง เช่นสนับสนุนให้ผู้คนบริจาคทาน(ซะกาต) ให้ทุกคนมีความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องตามศาสนบัญญัติและไม่สนับสนุนต่อต้าน สิ่งที่เป็นอุตริกรรมทางศาสนา ในปี ค.ศ. 1761 ขณะที่ MaMingxin เผยแพร่ความรู้ทางศาสนา ก็เกิดการปะทะกับกลุ่มที่ไม่ประสงค์ดี แม้ว่าจะมีผลกระทบบ้างแต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขามีลูกศิษย์ที่ เดินทางมาจากมณฑลต่างๆ เพื่อให้เขาสอนความรู้ทางด้านศาสนา ในสมัยนั้นเขามีลูกศิษย์มากถึง 100 กว่าคน

ยา รักษาโรคหนึ่งในปัจจัยทั้งสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ บรรพบุรุษของชาวหุยได้มีการบันทึกตำรายารักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่อดีตกาล เช่นตำรา “ยารักษาโรคหุยหุย” เป็นตำราที่รวบรวมและเรียบเรียงยารักษาโรคต่างๆ ในสมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง เนื้อหาส่วนใหญ่แปลมาจากภาษาอาหรับ เป็นตำราชุดที่มีทั้งหมด 4 เล่ม  ส่วนมากเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดยา การรักษาโรคต่างๆ กว่า 450 ชนิด อย่างไรก็ตามในวงการวิชาการสันนิฐานว่าต้นฉบับของตำราเล่มดังกล่าวนั้น อาจมาจากประเทศอียิปต์หรือสารานุกรมทางด้านการแพทย์ของชาวอาหรับ ตำราอีกเล่มหนึ่งคือ Haiyaobencao เป็นตำราที่เรียบเรียงโดย LiXun ในสมัยราชวงค์ถัง ครอบครัว LiXun เป็นครอบครัวที่ค้าขายพวกยาและเครื่องเทศต่างๆ  ซึ่งเป็นสินค้าที่นำเข้าจากทางทะเลเป็นหลัก ในตำราเล่มดังกล่าว ได้แปลความหมายของชื่อยา แหล่งเพาะปลูก รูปร่าง คุณภาพ การเก็บเกี่ยว สรรพคุณ วิธีการใช้ และข้อห้ามต่างๆของยาเป็นต้น  ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประจักษ์ในสายตาของชาวหุยในปัจจุบันนี้คือ ชายหุยเป็นผู้ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาของตำราเล่มดังกล่าวและตำราเหล่านี้มี บทบาทต่อการดำเนินชีวิตของชาวหุยค่อนข้างมาก หลังจากการปฎิรูปของจีน นโยบายทางด้านต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีความหลากหลายขึ้น ใน ค.ศ. ปี 2005 ชาวชิงไห่ได้ผลักดันให้ทางรัฐบาลจัดตั้ง “สถาบันวิจัยยารักษาโรคของชาวหุยแห่งชิงไห่” มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บ เรียบเรียงภูมิปัญญาและประสบการณ์ ทางด้านนี้ให้เป็นระบบมากขึ้น และอาศัยเทคโนโลยีเพื่อแปรรูปให้กลายเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของชาวหุย

ภาษา ของชาวหุยในชิงไห่นั้นส่วนมากใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร จะมีคำศัพท์ทางศาสนาบางคำจะได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับหรือจะบัญญัติคำศัพท์ ขึ้นมาใหม่เพื่อให้ดูแตกต่างจากภาษาจีน  ชาวหุยในชิงไห่นั้นมักจะทานอาหารประเภทแป้งและเนื้อเป็นหลัก นิยมดื่มชาเป็นชีวิตจิตใจ ผู้หญิงชาวหุยไม่ว่าอาศัยอยู่ในเมืองหรือชนบทในมณฑลดังกล่าว ล้วนแต่มีความสามารถในการประกอบอาหารจำพวกแป้งมาก เช่น การทำเกี๊ยว บะหมี่ หมั่นโถ และของว่างประเภทขบเคี้ยวที่ทำมาจากแป้งสาสี ไม่ว่าใครใครได้ชิมแล้วก็จะยกนิ้วให้เลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วฝีมือในการปรุงอาหารประเภทเนื้อของชาวหุยในชิงไห่ยังได้รับคำ นิยมชมชอบ จนมีคำเรียกแทนการทานอาหารในงานเลี้ยงต่างๆ ว่า “ทานแปดจาน ” ซึ่งหมายถึงอาหารที่ขึ้นชื่อแปดอย่าง

การ แต่งกายของผู้ชายชาวหุยนั้น นิยมใส่หมวกกะปิเยาะห์สีขาวและสีดำ บางแห่งจะใช้จำนวนเหลี่ยมของหมวกเพื่อบ่งบอกถึงมัซฮับที่ตัวเองสังกัด เช่นหมวกที่มีห้าเหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยมเป็นต้น ผู้หญิงชาวหุยในมณฑลชิงไห่จะให้ความพิถีพิถันในการแต่งตัวมาก โดยปกติแล้วหญิงสาวจะนิยมคลุมฮิญาบสีเขียว ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมักคลุมฮิญาบสีดำ ส่วนผู้หญิงวัยกลางคนหรือวัยชรามักคลุมฮิญาบสีขาว  การแบ่งแยกความแตกต่างของสีของผ้าคลุมผมนั้น ผู้เขียนคิดว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำความเข้าใจกันได้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงลักษณะการแต่งกายตามวัฒนธรรมทางตะวันตกที่กำลังคุกคามไป ยังทุกแห่งของโลก รวมทั้งผู้หญิงในมณฑลชิงไห่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นกว่าจะรู้ว่าหล่อนเป็นผู้หญิงชาวหุย ต้องใช้เวลาในการ “ทำใจ” ไม่น้อย และผู้เขียนคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ “ผู้หญิง” ต้องเร่ง“ทบทวน”

แหล่งข้อมูล:
http://baike.baidu.com/view/4311.htm
http://travel.sina.com.cn/china/2009-10-30/1728113789.shtml
http://www.norislam.com/?viewnews-7016

แหล่งที่มา : พับลิกโพสต์ ฉ.38 มีนาคม 2554