ศาสนาอิสลามในมณฑลต่างๆ ของจีน (ตอนที่ 1)

อย่างที่ทราบกันว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีเนื้อที่มากถึง 9.6 ล้านตารางเมตร จึงไม่น่าแปลกใจที่สภาพภูมิศาสตร์และภูมิประเทศของจีนจะมีความแตกต่างกันมาก

ในการศึกษาหรือเรียนรู้ทางด้านต่างๆ ของวัฒนธรรม ควรเป็นการศึกษาที่จำกัดขอบเขตให้แคบลง รวมทั้งการศึกษาเรื่องราวของอิสลามในประเทศจีน ซึ่งนอกจากจะมีความแตกต่างทางกลุ่มชนชาติที่นับถือศาสนาแล้ว ลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์และสภาพภูมิประเทศทำให้ วิถีชีวิตอิสลามในเมืองจีนในแต่ละเมืองนั้นแตกต่างกันไป

ในที่นี้ขอเสนอเรื่องราวของอิสลามในประเทศจีน โดยจะเริ่มจากจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมากก่อน อย่างที่ทราบกันว่ามณฑลหนิงเซี่ย เป็นเขตปกครองตนเองชนชาติหุยเพียงมณฑลเดียวในประเทศจีน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าประชากรชาวหุยของมณฑลดังกล่าวมีมากที่สุด เรื่องราวต่างๆ เราสามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ของมณฑลหนิงเซี่ยผ่านเรื่อง ‘พิพิธภัณฑ์ของชาวหุย’ ที่ผ่านมาได้ ในที่นี้จึงขอเสนอ  เรื่องราวของศาสนาอิสลามในมณฑลกานซู

มณฑลกานซู เป็นมณฑลที่ตั้งอยู่ตอนบนของที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโห มีเมืองหลานโจวเป็นนครรัฐ ตั้งอยู่บนทำเลทองของเส้นทางสายไหมในอดีต เป็นมณฑลที่มีที่ราบสูงต่างๆ ห้อมล้อม  มีเนื้อทั้งหมด 453,700 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 4.72% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศจีน มีประชากรทั้งหมด 26 ล้านคน ประกอบด้วยกลุ่มชนชาติต่างๆ เช่น ชาวฮั่น ชาวหุย ชาวทิเบต ชาวตงเซียง ชาวป่าอัน ชาวมองโกล ชาวคาซัส ชาวซาลา ชาวยวี่กู่และชาวแมนจูเป็นต้น ซึ่งชาวตงเซียง ชาวยวี่กู่ และชาวเป่าอัน เป็นชนชาติที่มีเฉพาะในมณฑลดังกล่าว มณฑลกานซูเป็นมณฑลที่มีเทือกเขาจากแนวตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณนี้จึงกลายเป็นทรัพยากรทางด้านป่าไม้ที่มีความสำคัญ นอกจากนั้นแล้วยังประกอบด้วยที่ราบ ที่ราบลุ่ม ทะเลทราย จึงทำให้สภาพภูมิอากาศมีลักษณะร้อนชื้น หนาวจัดและแห้ง อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 0 – 14 องศาเซลเซียส อุณหภูมิจะค่อยๆ ลดลงจากจากตะวันออกเฉียงใต้ถึงตะวันตกเฉียงเหนือ แม้ว่าสภาพอากาศจะแห้ง แต่ก็สามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ในด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ เช่นการใช้ประโยชน์ในด้านการก่อสร้าง การเกษตร เป็นต้น ผลผลิตทางด้านเกษตร    บางชนิดเช่นข้าวโพด มันฝรั่ง ข้าวฟ่างของมณฑลดังกล่าวจึงขึ้นชื่อและมีความหลายหลายมาก นอกจากนั้นแล้วยังเป็นแหล่งปศุสัตว์ อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา โลหะนอกกลุ่มเหล็ก พลังงานและวัสดุก่อสร้างที่สำคัญของประเทศจีนอีกด้วย

มณฑลกานซูมีมุสลิมทั้งหมด 1 ล้าน 6 แสนกว่าคน มีมัสยิด 3,731 แห่ง และได้แบ่งออกเป็นสำนักต่างๆ เช่น zheherenye, hufuye, kuburenye เป็นต้น พุทธศาสนิกชนราว 8 แสนคน โดยแบ่งออกเป็นพุทธนิกายลามะ 4 แสน 5 หมื่นคน พุทธมหายาน 3 แสน 5 หมื่นคน มีวัดทั้งหมด 682 แห่ง มีผู้ที่นับถือศาสนาเต๋าทั้งหมด 2 แสนกว่าคน เต๋าก้วนทั้งหมด 212 แห่ง และมี ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมด 9 หมื่นคน โบสถ์คริสต์ทั้งหมด 387 แห่ง มณฑลกานซูยังคงเป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมที่สำคัญของวัฒนธรรมจีน เป็นแหล่งกำเนิดพระเจ้าฝูซีซื่อในประวัติศาสตร์จีน ในมณฑลดังกล่าวมีเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 3 แห่ง หน่วยงานอนุรักษ์มรดกทางด้านวัฒนธรรมโบราณระดับชาติ 14 แห่ง หน่วยงานอนุรักษ์มรดกทางด้านวัฒนธรรมโบราณระดับมณฑล 433 แห่ง เขตอนุรักษ์พืชพันธ์สัตว์และทัศนียภาพทั้งหมด 26 แห่ง

ศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้าสู่แผ่นดินมังกรสมัยราชวงค์ถังของจีน ราว ค.ศ.651  แต่ศาสนาอิสลามเข้าสู่มณฑลกานซูเมื่อเวลาใดนั้นไม่มี ลายลักษณ์อักษรที่ระบุอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือ มณฑลกานซูนั้นเป็นช่วงที่สำคัญของเส้นทางสายไหมในอดีต โดยเฉพาะบริเวณเหอซีหรือเมืองหลินเซี่ยในปัจจุบัน เป็นจุดแวะพักที่สำคัญของการเดินทางในเส้นทางดังกล่าว แม้ว่าเป้าหมายของชาวเปอร์เซียที่เข้ามาในสมัยนั้นคือเมืองฉางอัน แต่ก็มีชาวเปอร์เซียจำนวนไม่น้อยที่ตกค้างอยู่บริเวณดังกล่าว ในสมัยราชวงค์ซ่ง (ค.ศ.970 – 1279) เนื่องด้วยเส้นทางสายไหมทางตอนเหนือขาด จึงทำให้ชาวเปอร์เซียไปค้าขายเส้นทางสายไหมทางตอนใต้ คือบริเวณเมืองหลานโจว เมืองเหอม่าน เมืองต้าซุ่ยของมณฑลกานซูจึงกลายเป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญ มุสลิมในช่วงดังกล่าวส่วนมากจะเป็นพ่อค้า และมีจำนวนไม่มาก พอสมัยราชวงค์หยวน (ค.ศ. 1206 – 1368 ) มุสลิมในตะวันออกกลาง หลั่งไหลมาทางจีนมากขึ้น จนมีสโลแกนที่พูดกันติดปากว่า “ชาวหุยสมัยหยวนนั้นกระจายอยู่ทุกแห่ง กานซูเยอะที่สุด” ในสมัยนี้มุสลิมในมณฑลดังกล่าวก่อตัวเป็นชุมชนในเมืองต่างๆ เป็นของตัวเอง จะเห็นได้ว่ามุสลิมที่อยู่ในมณฑลกานซูนั้น  เป็นกลุ่มพ่อค้าที่มาค้าขายในประเทศจีน ไม่ใช่กลุ่มที่มุ่งมาเผยแพร่ศาสนา ในการก่อสร้างมัสยิดนั้นก็มีวัตถุประสงค์คือเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ศาสนา ในช่วงปลายราชวงค์หมิงและต้นราชวงค์ ชิง

กลุ่มต่างๆ ของลัทธิซูฟีย์ ได้แตกแยกออกเป็นสาขาต่างๆ สาขาเหล่านี้ได้มีการเผยแพร่ให้กับชาวบ้านที่ศรัทธา เนื่องจากการเน้นหนักในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกันในบางเรื่อง ในสมัยสังคมศักดินาได้ใช้ จุดอ่อนดังกล่าว ในการทำให้เกิดความแตกแยก ขาดความสามัคคีกันในกลุ่ม และได้สร้างความเข้มแข็งในด้านการปกครองจากจุดอ่อนดังกล่าวเช่นกัน หลังจากที่ลัทธิซูฟีย์เข้าสู่ประเทศจีน ได้แยกออกเป็นกลุ่มย่อยต่างๆ กว่า 40 กว่ากลุ่ม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มของนิกายซุนนี่

‘เมกกะ น้อย’ เป็นสมญานามของเมืองหลินเซี่ย ที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำฮวงโห อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของนครรัฐหลานโจว 150 กิโลเมตร  เป็นศูนย์กลางทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม มีประชากรทั้งหมด 2 แสน 5 หมื่นคน มีชาวหุยคิดเป็น 58.4%ของมุสลิมทั้งหมด เมืองหลินเซี่ยคือแหล่งรวมของผู้นำทางด้านกลุ่มต่างๆ ของศาสนาอิสลาม เป็นเส้นทางผ่านไปยังมณฑลชิงไห่และทิเบต จึงกลายเป็นแหล่งค้าขาย     ที่สำคัญของชาวทิเบต ชาวหุยและชาวฮั่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ กลางศตวรรษที่ 18 เมือง ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลามในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยมี Afaq Khwadja ทายาทรุ่นที่ 25 และ Hidayatullah ทายาทรุ่นที่ 29 ได้เผยแพร่ศาสนาอิสลาม  ลัทธิซูฟีย์ และกระจายออกเป็นกลุ่มต่างๆ กว่า 20 กว่ากลุ่ม มีมัสยิด 1,700 แห่ง และมีกุโบร์ของบุคคลสำคัญในอดีต 110 แห่ง ตามการบันทึกในประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า สมัยต้น  ราชวงค์ชิง (ปลายศตวรรษที่ 17) มีมุสลิมของเมืองดังกล่าวไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียถึง 200 กว่า นอกจากนั้นแล้ว เมืองหลินเซี่ยยังเป็นเมืองที่ผลิต      อีหม่ามที่มีชื่อเสียงของจีนอีกมากมาย มุสลิมของเมืองดังกล่าวก็ยังเห็นความสำคัญทางด้านการศึกษา ในปี ค.ศ.1947 ได้มีการระดมทุนเพื่อก่อสร้างโรงเรียนสตรีชาวหุย และในปี 1984 ได้มีการก่อสร้างโรงเรียนประกอบวิชาชีพชั้นสูง ตั้งแต่นั้นมาก็มีวารสารต่างๆ ที่เผยแพร่ไปทั่วประเทศจีน มุสลิมในเมือง    หลินเซี่ย ไม่เพียงแต่จะมีบทบาททางด้านการค้าและการตลาดเท่านั้น แต่ยังได้ทำคุณงามความดีทางด้านการเกษตร ป่าไม้และปศุสัตว์อีกด้วย หลังจากการเปิดประเทศจีน ตลาดการค้าไม้ วัสดุยารักษาโรค หนังสัตว์ และใบชา ของเมืองดังกล่าวได้กลายเป็นตลาดที่สำคัญของมณฑลส่านซี มณฑลหนิงเซี่ยะ มณฑลกานซู และมณฑลชิงไห่ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของเส้นทางสายไหมในสมัย โบราณอีกครั้ง จึงไม่น่าแปลกเลยที่ทูตหรือคณะผู้แทนจากประเทศอิสลามมักจะเดินทางไปเยือน เมืองดังกล่าวเป็นประจำ
มณฑลกาน ซูจึงเป็นมณฑลที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมของชาวฮั่นและชาวหุย เรื่องบางเรื่องนั้นเป็นการผสมผสานของทั้งสองวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน สามารถสังเกตจากการนิยมบริโภคบะหมี่เนื้อวัว จนกลายเป็นบะหมี่ที่ขึ้นชื่อไปทั่วประเทศจีน ที่เรียกกันว่า ‘Niurou lamian’ และการร้อง ‘hua’er’ เป็นวรรณกรรมพื้นเมืองที่สืบทอดกันมาของชาวชนเกือบทุกกลุ่มในมณฑลกานซู

แม้ว่า การแสดงออกนั้นจะได้รับการยอมรับในศาสนาหรือไม่ก็ตาม ชาวหุยหรือผู้ที่ได้ชื่อว่ามุสลิมก็น้อยคนนักที่จะไม่ให้ความสำคัญกับ ‘hua’er’ เป็นต้น หรือว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนความเป็น ‘เมกกะน้อย’ ให้สมชื่อ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://qun.51.com/bailu369893527/topic.php?pid=3725 -http://www.lx.gansu.gov.cn/E_ReadNews.  asp?NewsID=588 -http://www.otczhj.com/yuzgs.files/showxxline1.htm  -http://www. gansu.gov.cn/GsglItemQw.asp?id=23968

ตีพิมพ์ครั้งแรก : เดอะพับลิกโพสต์ ฉ.35 ธันวาคม 2553