ถึงยุคหุ่นยนต์สังหาร

โดย : ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

มาถึงวันนี้เห็นทีจะไม่มีใคร ไม่รู้จัก “โดรน” ข่าวต่างประเทศรายงานออกมาให้ได้ยินได้เห็นกันบ่อยๆว่าโดรนโจมตีที่ไหน สังหารผู้คนไปแล้วเท่าไหร่ ปลายเดือนพฤษภาคม 2013 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ออกมาให้ข้อมูลว่าโดรนสังหารผู้ก่อการร้ายระดับหัวกะทิไปแล้ว 23 ราย ตอบโต้กันชนิดทันทีทันควันคือฝ่ายต่อต้านการใช้โดรนในสงครามออกมาให้ข้อมูล เพิ่มเติมว่าผู้ก่อการร้ายที่โดรนสังหารหนึ่งคนมีประชาชนผู้บริสุทธิ์กลาย เป็นเป้าพร้อมกันไปด้วยราวห้าสิบคน ในขณะเดียวกันบางฝ่ายกลับให้ข้อมูลว่าห้าสิบนั้นน้อยไป ผู้บริสุทธิ์สองร้อยคนน่าจะเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกว่า ก็แล้วแต่ว่าจะเลือกเชื่อฝ่ายไหน ที่แน่ๆคือมีคนบริสุทธิ์เสียชีวิตจากการถล่มของโดรนอย่างแน่นอน

โดรน (Drone) คือยานขับเคลื่อนไร้คนขับสามารถบังคับได้ในระยะไกล จะเป็นยานยนต์ขับเคลื่อนบนบก ในน้ำหรือเป็นเครื่องบินหรือแม้กระทั่งจรวดก็ได้ โดยทั่วไปตามข่าวที่กล่าวถึงโดรนมักเป็นเครื่องบินไร้คนขับเสียมากกว่า รู้จักกันดีที่สุดคือโดรนล่าสังหาร (predator drone) อย่างที่เห็นกันในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง Bourn legacy นั่นแหละ เป็นเครื่องบินโจมตีขนาดกลางที่บังคับจากฐานในสหรัฐอเมริกา ออกปฏิบัติการได้ทั่วโลกมีเครื่องไม้เครื่องมือไฮเทคที่ชี้เป้าได้ครบครัน อยากรู้ว่าโดรนประเภทนี้น่ากลัวแค่ไหนก็ลองไปหาภาพยนตร์เรื่องที่ว่ามาดูเอง

วันนี้หน่วยสืบราชการลับสหรัฐหรือซีไอ เออยากจะขยับระดับการใช้โดรนให้สูงขึ้น กว้างขวางขึ้น โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการใช้โดรนจะมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลควบคุมอย่างใกล้ ชิด เอาเป็นว่ายังมีมนุษย์ที่พอมีศีลธรรมเหลือในจิตใจอยู่บ้างคอยดูแลไม่ให้ ทำงานเกินเลยกว่าหน้าที่ตีความกันได้อย่างนั้น ส่วนจะมีศีลธรรมกันจริงหรือไม่ อยู่ในระดับไหน ค่อยไปว่ากันอีกที อย่างไรก็ตาม เรื่องการใช้โดรนในสงครามไม่ว่าใครจะห่วงกันแค่ไหนก็ดูเหมือนจะเทียบกันไม่ ได้เลยกับเรื่องของหุ่นยนต์สังหารในสงครามที่เริ่มมีการพัฒนากันออกมาแล้ว

โดรนจัดเป็นหุ่นยนต์ประเภทหนึ่งทำงาน โดยมีมนุษย์ควบคุม แต่หุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่กำลังเร่งพัฒนากันอยู่ดูจะปลอดจากการควบคุมของมนุษย์ อย่างสิ้นเชิง เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมให้ทำงานได้ด้วยตนเอง จะสังหารใคร ตอบโต้ฝ่ายไหนมันสามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระด้วยตัวของมันเองก็แล้วแต่ว่าจะ ถูกโปรแกรมมาอย่างไร หุ่นยนต์ประเภทนี้ต่างหากที่หลายฝ่ายเริ่มกังวลกันถึงขนาดผู้เชี่ยวชาญจาก สหประชาชาติออกมาขอร้องให้ชาติต่างๆชะลอหรือหยุดโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ล่า สังหารหรือหุ่นยนต์นักฆ่าที่มีชื่อเรียกกันง่ายๆว่า killer robot ก่อนจะสายเกินการ

ปลายเดือนเมษายน 2013 มีการรณรงค์ของภาคประชาชนนานาชาติในลอนดอนขอให้ยับยั้งการพัฒนาหุ่นยนต์นัก ฆ่าที่ว่านี้อย่างเร่งด่วน หากปล่อยปละละเลยไม่เรียกร้องให้ระงับโครงการ หุ่นยนต์สังหารที่ถูกปล่อยออกมาในตลาดอาวุธจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาหุ่น ยนต์สังหารในเชิงแข่งขันกันชนิดดุเดือดเลือดพล่าน ถึงวันนั้นเข้าจริงโลกจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ยิ่งปล่อยปละกันถึงขนาดให้หุ่นยนต์พัฒนาสติปัญญาสร้างจริยธรรมด้วยตัวของมัน เองด้วยแล้ว มนุษย์ก็เตรียมตัวสูญเผ่าพันธุ์ได้

กลุ่มรณรงค์เชื่อมั่นว่าการออกกฎหมาย หรือกฎบัตรในระดับนานาชาติเท่านั้นที่สามารถยับยั้งการพัฒนาเครื่องมือ สังหารที่มีระดับสติปัญญาของตัวมันเองได้ ต้องใช้แรงกดดันจากองค์กรในระดับนานาชาติ ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติเองก็ออกมาสำทับว่าการปล่อยปละละเลย ให้มีการพัฒนาก้าวล้ำไปจนถึงระดับสงครามหุ่นยนต์ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการ ดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ไว้เลย เพราะการปล่อยให้หุ่นยนต์เป็นผู้ตัดสินใจในการสังหารหรือไม่สังหารชีวิต มนุษย์นั้นเป็นหนทางที่ออกจะเกินเลยไปหน่อย เพราะมนุษย์ที่พัฒนาหุ่นยนต์ประเภทนี้ใช่ว่าจะมีศีลธรรมก็เปล่า ดังนั้นต้องหยุดยั้งการพัฒนาหุ่นยนต์สังหารให้ได้ตั้งแต่ต้นมือ สรุปกันออกมาอย่างนั้น

หนึ่งในหุ่นยนต์สังหารที่รู้จักกันดี เพราะพัฒนากันมานานมากแล้วคือทุ่นระเบิดหรือกับระเบิด เป็นอุปกรณ์สังหารหรือทำให้พิการที่สามารถทำงานด้วยตัวของมันเองเพียงแค่มี อะไรมากระตุ้นเท่านั้น ระบบกดระเบิดหากจะว่าไปก็ถือเป็นโปรแกรมประเภทหนึ่ง หุ่นยนต์สังหารยุคเก่าพวกนี้ถูกโปรแกรมให้สังหารแบบไม่เลือกหน้าไม่สนใจว่า จะเป็นข้าศึกศัตรูหรือเป็นมิตร จะเป็นทหารหรือพลเรือน เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุ่นระเบิดสังหารไม่เคยสนใจอะไรทั้งนั้น จะบอกว่ามีระดับจริยธรรมและศีลธรรมต่ำอย่างสุดๆก็ไม่น่าจะผิด

กับระเบิดสังหารไม่ต่างอะไรจากหุ่นยนต์ สังหารที่กำลังพัฒนาขึ้นคือถูกโปรแกรมให้สังหารหรือทำลายเท่านั้น อาจจะต่างกันตรงรูปร่างหน้าตาที่หุ่นยนต์สังหารมักเคลื่อนที่ได้คล้ายยาน ยนต์ ทันสมัยขึ้นมาหน่อยก็อาจทำให้มีหน้าตาเป็นหุ่นยนต์ที่มีแขนขาและศีรษะคล้าย มนุษย์ เดินเหินตัวตรงได้ ทันสมัยล้ำยุคอาจจะเป็นแอนดรอยด์ที่มีหน้าตาเป็นมนุษย์ที่ขาดวิญญาน ผู้ผลิตกล่าวว่าเต็มไปด้วยศีลธรรมใช้วิจารณญานตัดสินว่าอะไรควรสังหารอะไร ไม่ควรสังหาร ประชาสัมพันธ์ออกมากันได้หน้าตาเฉยอย่างนั้นขอพวกเราอย่าได้ไปเชื่อ

หุ่นยนต์สังหารรุ่นใหม่ที่กำลังพัฒนา ขึ้นมีโปรแกรมจดจำใบหน้า จดจำบุคลิก ท่าเดิน ท่าทางที่เคลื่อนไหว แม้กระทั่งลายพิมพ์เรติน่าของดวงตา กลิ่นตัว หรือแม้กระทั่งกลิ่นลมหายใจ มีความพยายามพัฒนาหุ่นยนต์ที่แยกความแตกต่างได้ระหว่างพลเรือนที่ไม่มีอาวุธ กับทหารหรือบุคคลที่พกพาอาวุธ หุ่นยนต์สามารถพุ่งเป้าทำลายไปที่อาวุธของฝ่ายตรงข้ามแทนที่จะเป็นชีวิต เป็นการหยุดยั้งอำนาจการทำลายล้างของศัตรู เป็นสิ่งที่ฝ่ายพัฒนาหุ่นยนต์สังหารอ้างไว้

การพัฒนาหุ่นยนต์สังหารที่เดินหน้าไป ค่อนข้างมากแล้วทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตก การใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์สังหารจะได้ผลจริงหรือไม่ หรือน่าจะทำแท้งหุ่นยนต์พวกนี้กันก่อน แต่ปัญหาคือการยับยั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีไม่เคยมีใครทำได้สำเร็จ หากหวังจะใช้กฎกติกาในการบังคับการใช้ก็ดูจะไม่ได้ผล ดูตัวอย่างการใช้อีเมล์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คในปัจจุบันก็คงเห็น มันเติบโตจนกระทั่งเริ่มทำลายชีวิตส่วนตัวของผู้คน รบกวนความสุขสงบของสังคม กระทั่งถึงระดับที่ทำลายระดับศีลธรรมจรรยากันแล้ว

สังคมโลกในวันนี้เป็นเวทีของ ชาติใหญ่ที่ชาติเล็กๆอย่างประเทศไทยมีปากเสียงได้ไม่มากนัก ขณะที่ในชาติใหญ่ระดับอภิมหาอำนาจเอง ผู้ที่มีเสียงดังที่สุดคือบรรดานายทุนที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูปูเสื่อนักการ เมืองและในบรรดานายทุนด้วยกันใหญ่ที่สุดเสียงดังที่สุดคือพ่อค้าอาวุธที่ ทั้งค้าอาวุธและค้าสงครามไปพร้อมๆกัน ทีนี้คงพอเข้าใจได้แล้วว่าเหตุใดโลกเราจึงเลี่ยงสงครามได้ยาก เป็นเพราะสงครามที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากแสนสาหัสของทหารระดับล่างและชาว บ้านเมื่อเกิดขึ้นแต่ละครั้งได้สร้างความร่ำรวยมหาศาลให้กับบรรดานายทุน นายทหารและนักการเมือง ล้วนคนคุ้นเคยกันทั้งนั้น

เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.วินัย ดะห์ลัน เป็นผู้อำนวยการ/ผู้ก่อตั้ง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อดีตคณบดี คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ติดตาม : https://www.facebook.com/winaidahlan