ความรุ่งเรืองและถดถอย ของ บริษัทบริติชอีสต์อินเดีย (British India Company) ตอนที่ 2

"อีสต์อินเดียเฮาส์" สำนักงานใหญ่บริษัทฯ / ภาพ วิกิพีเดีย

เมื่อตอนก่อตั้งบริษัทแรกๆ บริษัท อีสต์ อินเดีย วางแผนว่าจะซื้อเครื่องเทศและสินค้าหรูหราอื่นๆ จากดินแดนตะวันออกและนำไปขายในอังกฤษรวมถึงประเทศอื่นๆ ในยุโรป และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนอังกฤษตั้งใจจะขายสินค้าให้กับดินแดนตะวันออกด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าหนาชนิดหนึ่งที่เรียกว่าผ้าสักหลาดอย่างดี  แต่โชคไม่ดีผ้าฝ้ายของอินเดียมีราคาถูกกว่า น้ำหนักเบากว่าและเหมาะสมที่จะใช้ในสภาพอากาศร้อนของประเทศอินเดีย ดังนั้นจึงมีความต้องการของผู้ซื้อน้อยมากที่จะซื้อผ้าของอังกฤษซึ่งน้ำหนักมากกว่า ในความเป็นจริงตอนนั้นคือบริษัท อีสท์  อินเดีย เริ่มนำเข้าผ้าจากอินเดียไปขายยังอังกฤษ

เมื่อสินค้าผ้าล็อตแรกไปถึงอังกฤษความต้องการในตลาดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปีค.ศ.1620 ขายได้ 50,000 ชิ้น โดยเป็นสินค้าผ้าฝ้ายวาดลวดลายและผ้าฝ้ายพิมพ์ลาย จนไปถึงประมาณปีค.ศ.1750 ผ้าจากอินเดียได้ครองตลาด 60% ของมูลค่าการขายสินค้าทั้งหมดในลอนดอนของบริษัทฯ (ถึงแม้ว่าเปอร์เซ็นต์นี้จะลดลงเนื่องจากเครื่องทอผ้าในอังกฤษได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นและได้แบ่งตลาดผ้าของอินเดีย)

การแข่งขันรุนแรงขึ้นเมื่อผ้าจากอินเดียถูกนำมาเสนอขายให้กับผู้ผลิตผ้าขนสัตว์และอุตสาหกรรมทอผ้าไหมที่กำลังเติบโตทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงในปี 1690  การนำเข้าไหมดิบของบริษัทฯ ซึ่งนำเข้ามาจากเปอร์เซียและที่อื่นๆ นั้นเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบให้แก่คนงานทอผ้าผู้ลี้ภัยชาวอูว์เกอโนจากฝรั่งเศสซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขต Spitalfields ในลอนดอน และแคนเทอร์เบอรีเป็นหลัก การมาถึงของผ้าไหมแบบจีนจาก Tonkin และจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้ถูกมองว่าเป็นการคุกคามต่ออุตสาหกรรมท้องถิ่นจนทำให้ผู้ทอผ้ารวมตัวกันประท้วงและโจมตี “อีสต์อินเดียเฮาส์” สำนักงานใหญ่บริษัทฯ ในเดือนมกราคมปีค.ศ.1697 ในปี ค.ศ.1997 รายงานโดยข้าหลวงอังกฤษด้านการค้าและการเกษตรได้กล่าวว่าควรมีมาตรการควบคุมบริษัทบริติชอินเดียในเรื่องการส่งออกทองคำแท่งไปยังอินเดีย ข้าหลวงยังเรียกร้องให้มีการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากผ้าอินเดียอีกด้วย

ในเดือนเมษายนปีค.ศ.1700 รัฐสภาได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติห้ามการใช้หรือการสวมใส่ผ้าจากอินเดียชนิดต่างๆ (ผ้าไหมสำเร็จและผ้าฝ้ายวาดลวดลายหรือผ้าฝ้ายย้อม) ผ้าดิบที่ไม่ได้รับการย้อมยังคงได้รับการอนุญาตให้นำเข้ามาผลิตต่อและขายในประเทศได้ ผ้ามัสลินของอินเดีย (เป็นผ้าที่ทออย่างละเอียดและมีราคาแพง)ยังคงได้รับอนุญาตให้นำเข้าอย่างไม่จำกัด  การห้ามนำเข้าสินค้าผ้าฝ้ายยังคงมีผลไปจนถึงปีค.ศ.1774 เมื่อพระราชบัญญัตินี้ถูกยกเลิก การตอบสนองโดยทันทีของบริษัทคือหันมาเน้นการส่งออกผ้าอินเดียไปยังประเทศอื่น อย่างไรก็ตามผ้าอินเดียยังคงได้รับความนิยมและยังคงเป็น เปอร์เซ็นการนำเข้าส่วนใหญ่ของบริษัท อีสต์ อินเดีย ระหว่างทศวรรษ1700

ปริมาณการค้ากับการต่อต้านในประเทศของตน

ในตอนแรกปริมาณการค้าของบริษัทอีสต์ อินเดีย ได้เติบโตเป็นอย่างมาก โดยมีตัวเลขเฉลี่ยการส่งออกต่อปีของสินค้าและบริการของอังกฤษไปยังดินแดนตะวันออกใน 20 ปีแรกอยู่ที่ 22,000 ปอนด์ ในปีค.ศ.1681 Josiah Child ผู้บริหารบริษัท อีสต์ อินเดีย กล่าวว่าการส่งออกเหล่านี้อยู่ที่ระหว่าง 60,000 ถึง 70,000 ปอนด์ต่อปี ตั้งแต่ปีค.ศ.1715 ถึง 1724 ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 92,000 ปอนด์ต่อปี ตั้งแต่ปีค.ศ.1734 ถึง 1748 มีตัวเลขเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 172,000 ปอนด์ ตั้งแต่ปีค.ศ.1771 ถึง 1773มูลค่าสินค้าจากอังกฤษที่ส่งออกไปยังดินแดนนี้ต่ำกว่า 490,000ปอนด์ในช่วงต้นทศวรรษ1800 ไปจนถึงปีค.ศ.1814 มูลค่าอยู่ที่ 800,000 ถึง 1,000,000 ปอนด์

แต่หากเราลองมองที่ตัวเลขอีกครั้ง โดยไม่ได้มองจากจุดที่ว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มจาก 22,000 ปอนด์ต่อปีในช่วงต้นทศวรรษที่1600 มาเป็นเกือบ 500,000 ปอนด์ในช่วงปลายทศวรรษ 1700 แต่มองในแง่ของความคาดหวัง อังกฤษคาดหวังให้บริษัทอีสต์ อินเดียส่งออกสินค้าของอังกฤษ มากกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อมองจากขนาดเศรษฐกิจของอินเดียและจีนในขณะนั้นก็น่าจะเข้าใจได้ง่ายถึงสาเหตุความคาดหวัง

ในช่วงทศวรรษ1700 เศรษฐกิจของจีนอินเดียและยุโรป มีปริมาณใกล้เคียงกัน (ซึ่งต่างจากยุคปัจจุบัน ที่ยุโรปมี GDP 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกามี GDP11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนมี GDP8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินเดียมี GDP4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การคำนวณในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าในปีค.ศ.1700 เศรษฐกิจของจีนและอินเดียแต่ละประเทศใหญ่กว่าอังกฤษ 8-9 เท่าและสามารถเห็นได้ว่าความผิดหวังของชาวอังกฤษจำนวนมากจากการที่ส่งเรือไปทำการค้ากับดินแดนตะวันออกมาเป็นร้อยปีแต่ก็ยังขายสินค้าได้ เป็นจำนวนน้อย การค้าทั้งหมดทั่วโลกมีมูลค่า 6.5 ล้านปอนด์ในปี 1704 อังกฤษได้ส่งสินค้าของอังกฤษออกไปยังภูมิภาคตะวันออกทั้งสองมีมูลค่ารวม175,000 ปอนด์ต่อปีเท่านั้น ในช่วงทศวรรษ1770 การส่งออกไปยังเมืองขึ้นต่างๆของสหรัฐอเมริกาเพียงอย่างเดียวมีมูลค่ามากกว่า 6 ล้านปอนด์ต่อปี ฉะนั้นเราจึงเห็นได้ว่าทำไมอังกฤษถึงไม่ค่อยพอใจกับการส่งออกที่น้อยกว่า 500,000 ไปยังอินเดียและจีน ในขณะที่พวกเขาคาดหวังว่าจะ ขายสินค้าให้ทางดินแดนตะวันออกได้มากว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่ความผิดหวังของอังกฤษในเรื่องที่ว่าความมั่งคั่งอินเดียและจีนไม่ได้นำพามาสู่อังกฤษ พวกเขายังไม่พอใจที่เงินแท่งจำนวนมากถูกส่งจากอังกฤษออกไปยังดินแดนตะวันออกหากอังกฤษไม่สามารถทำให้อินเดียซื้อสินค้าของอังกฤษเป็นการแลกเปลี่ยนอังกฤษก็จำเป็นต้องชำระค่าสินค้าของอินเดียเป็นเงินแท่ง

การแข่งขันจากผู้ค้าอังกฤษรายอื่น

ความไม่ไว้ใจในบริษัทอีสต์ อินเดีย และการผูกขาดการค้าของบริษัทอีสต์ อินเดีย ในดินแดนตะวันออกเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษได้ทำสัญญากับผู้ค้ารายอื่นเพื่อให้ไปทำการค้าในตะวันออกไกล บริษัท อีสต์ อินเดีย จึงได้พัฒนารูปแบบการทำการค้าขึ้นมา  เมื่อกลุ่มของผู้ค้าเอกชน (ซึ่งไม่ใช่บริษัท อีสต์ อินเดีย) ทำการค้าในดินแดนตะวันออก จากนั้นพวกเขาจะได้รับการอนุญาตให้ทำการค้าจากรัฐสภาหรือจากราชวงศ์อังกฤษและท้ายที่สุดบริษัทอีสต์ อินเดีย จะดูดกลืนบริษัทผู้ค้าเหล่านี้และขอรัฐสภาให้ต่ออายุการอนุญาตของบริษัทอีสต์ อินเดีย ไปอีกเป็นเวลาประมาณ 20 ปี (เพื่อแลกกับการให้รัฐบาลกู้เงินก้อนงาม) รัฐบาลอังกฤษเองก็เห็นด้วยกับวิธีนี้เนื่องจากเป็นโอกาสที่จะบีบคั้นเพื่อให้ได้เงินกู้จากบริษัทอีสต์ อินเดีย

พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ในปีค.ศ.1635 ได้อนุญาตให้ เซอร์วิลเลียมคอเตนและคนอื่นๆทำการค้ากับอินเดียในเขตที่บริษัทอีสต์ อินเดีย ยังไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ทางการค้าด้วย ทั้ง2บริษัทท้ายที่สุดก็จะรวมกันและบริษัทที่รวมกันแล้วนี้จะได้รับการต่อใบอนุญาตโดย Cromwell ในปีค.ศ.1657 ซึ่งพระเจ้าชาชาลส์ที่2 ได้ยืนยันในปีค.ศ.1661  ต่อมาในปีค.ศ.1662 บริษัทอีสต์ อินเดีย แห่งอังกฤษได้บริจาคให้ราชวงศ์อังกฤษเป็นเงิน10,000 ปอนด์และอีกครั้งในปีค.ศ.1667 เป็นจำนวน 50,000 ปอนด์

ในปีค.ศ.1694 สภาสามัญได้มีการลงคะแนนเสียงให้ทุกคนในประเทศอังกฤษมีสิทธิเท่าเทียมกันในการทำการค้ากับดินแดนตะวันออกนอกเสียจากจะถูกห้ามโดยรัฐสภา นี่ถือเป็นโอกาสดีของรัฐบาลอังกฤษเนื่องจากบริษัท อีสต์ อินเดีย ได้หยุดการให้เงินกู้ 2 ล้านปอนด์ให้แก่รัฐบาลในปีค.ศ. 1698 ผู้ค้ารายใหม่ๆได้รวมกันตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ซึ่งพวกเขาได้รวมเงินกันเพื่อให้เป็นเงินกู้แก่รัฐบาล แต่ในปีค.ศ.1702 บริษัททั้งสองได้รวมกัน บริษัทที่รวมกันนี้ได้ให้เงินกู้แก่รัฐบาลเพิ่มอีกเป็นจำนวน 1,200,000 ปอนด์โดยไม่มีดอกเบี้ย และเพื่อเป็นการตอบแทนรัฐบาลได้ต่อใบอนุญาตการค้าให้จนถึง ปีค.ศ.1726 ในปี1730 การอนุญาตได้รับการต่อไปจนถึงปีค.ศ.1766 ถึงแม้ว่าบริษัท อีสต์ อินเดีย จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยสำหรับหนี้ส่วนที่เหลือลง 1% และยังให้เงินรัฐบาลเพิ่มอีกด้วยเป็นจำนวน 200,000 ปอนด์ ในปีค.ศ.1743 บริษัทได้ให้เงินกู้แก่รัฐบาลเพิ่มอีก 1,000,000 ปอนด์โดยคิดดอกเบี้ย 3% และรัฐบาลได้ต่อใบอนุญาตการค้าไปจนถึงปีค.ศ.1783 

(อ่านต่อตอนหน้า)

**ข้อมูลอ้างอิงจะลงในตอนสุดท้าย