นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านดำเนินไปอย่างย่ำแย่ สหรัฐฯ กล่าวหาอิหร่านว่า อิหร่านโจมตีเรือพาณิชย์ที่แล่นผ่านช่องแคบฮอร์มุซสองครั้งในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน แต่อิหร่านก็ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และกล่าวหาสหรัฐฯ ในทางเดียวกันว่าสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เพื่อแสวงหาความชอบธรรมในการใช้ปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่าน เหตุการณ์ดำเนินมาสู่จุดวิกฤติเมื่ออิหร่านยิงเครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐฯ ตก อิหร่านยืนยันว่าเครื่องบินสหรัฐฯ ละเมิดน่านฟ้าของอิหร่านดังนั้นอิหร่านจึงมีสิทธิยิง ส่วนสหรัฐฯปฏิเสธว่าเครื่องบินสหรัฐฯ ไม่ได้บินเหนือน่านฟ้าอิหร่านแต่อยู่ในบริเวณน่านฟ้าสากล ผู้นำสหรัฐฯ สั่งให้เตรียมพร้อมทำสงครามกับอิหร่านแต่ก็ยกเลิกคำสั่งในนาทีสุดท้าย
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านย่ำแย่มาตลอดนับตั้งแต่มีการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 แต่ก่อนหน้านั้น อิหร่านคือพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยเฉพาะในสมัยที่อิหร่านปกครองโดยกษัตริย์มูฮัมหมัด เรซา ปาลาวี (Mohammad Reza Pahlavi) ระหว่างปี 1941-1979 ในช่วงเวลาที่ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นพื้นที่ทำสงครามตัวแทนของอภิมหาอำนาจทั้งสองในช่วงสงครามเย็น
เริ่มต้นความสัมพันธ์
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาไม่ได้พยายามแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านการเมืองและทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกกลางดังเช่นมหาอำนาจยุโรปอันเนื่องมากจากนโยบายโดดเดี่ยวของสหรัฐฯ ในขณะนั้น อย่างไรก็ตามตั้งแต่ทศวรรษ 1940 ภูมิภาคนี้กลับทวีความสำคัญเนื่องด้วยความต้องการทรัพยากรน้ำมัน ทำให้สหรัฐฯ เริ่มเข้าไปแสวงผลประโยชน์ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียและคาบสมุทรอาระเบีย อิหร่านคือหนึ่งในประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย
อิหร่านตั้งอยู่บนจุดสำคัญทางภูมิศาสตร์ ในอดีตตั้งอยู่ระหว่างสองจักรวรรดิ คือจักรวรรดิรัสเซียในทิศเหนือและจักรวรรดิอังกฤษในทิศใต้ ในช่วงทศวรรษ 1830-1890 ทั้งสองจักรวรรดิแข่งขันกันขยายอิทธิพลเหนืออัฟกานิสถานและบริเวณเอเชียกลางเรียกว่า The Great Game และต้องการยึดครองอิหร่านแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้อิหร่านรวมถึงอัฟกานิสถานกลายเป็นรัฐกันชนระหว่างสองจักรวรรดิ อย่างไรก็ตามจักรวรรดิรัสเซียยังได้ดินแดนส่วนหนึ่งจากอิหร่านตามสนธิสัญญา Turkmenchayปี 1828 คือ อาเซอร์ไบจาน [1]
ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตและอังกฤษซึ่งร่วมมือกันในฝ่ายสัมพันธมิตรระแวงว่าอิหร่านจะให้ความช่วยเหลือกับฝ่ายนาซีเยอรมันและอาจทำให้ฝ่ายนาซีสามารถเข้าถึงอ่าวเปอร์เซียได้ [2] ฝ่ายสัมพันธมิตรบังคับให้กษัตริย์เรซา ชาห์ (Reza Shah) สละราชสมบัติ และแต่งตั้งบุตรชายคือ เรซา ชาห์ ปาลาวีขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ในปี 1941 สหภาพโซเวียตยึดครองทางตอนเหนือของอิหร่านและจักรวรรดิอังกฤษยึดครองทางตอนใต้ของอิหร่านในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้สนธิสัญญาสามฝ่าย (Tripartite Treaty) 1942 ที่ระบุว่าสหภาพโซเวียตและอังกฤษคือพันธมิตรกับอิหร่านการยึดครองนี้เพื่อป้องกันการยึดครองของฝ่ายนาซี และจะถอนตัวภายในหกเดือนเมื่อสิ้นสงคราม สหรัฐฯ ส่งหน่วยสนับสนุนที่ไม่มีภารกิจในการรบไปช่วยฝ่ายพันธมิตรในอิหร่าน
ต่อมาเมื่อฝ่ายนาซียอมแพ้ อังกฤษและสหรัฐฯ ถอนกำลังจากอิหร่านในปี 1945 แต่สหภาพโซเวียตโดย สตาลินไม่ยอมถอน แต่กลับขยายพื้นที่ยึดครองไปทางใต้ก่อตั้งดินแดนอิสระขึ้นมาสองเขตคือรัฐบาลประชาชนแห่งอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan People’s Government) และสาธารณรัฐมาฮาบัดของชาวเคิร์ด (Kurdish Republic of Mahabad) แรงจูงใจของสหภาพโซเวียตคือต้องการทางออกสู่ทะเลทางทิศใต้ การกระทำของโซเวียตทำให้เกิดการแตกหักกันกับพันธมิตรตะวันตกเป็นหนึ่งในจุดกำเนิดของสงครามเย็น อิหร่านภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐฯ และอังกฤษสามารถสู้รบเพื่อปลดปล่อยดินแดนที่ถูกยึดไปทั้งสองได้สำเร็จในปี 1946 [3]
สงครามเย็นได้เริ่มต้นขึ้น สหภาพโซเวียตกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ของมหาอำนาจตะวันตกแทนที่นาซี ภัยคุกคามของโซเวียตในอิหร่านทำให้ประธานาธิบดีแฮรี่ ทรูแมน ของสหรัฐฯในขณะนั้นประกาศหลักการทรูแมน (Truman Doctrine) ปี 1947 เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและภูมิภาคเมอดิเตอร์เรเนียน โดยให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและการทหารแก่ตุรกีและกรีกที่กำลังเผชิญภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ [4]
มหามิตร
ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 บริษัทน้ำมันของอังกฤษ-อิหร่าน (Anglo-Iranian Oil) ปฏิเสธที่จะเจรจาเพื่อปรับปรุงเรื่องส่วนแบ่งรายได้กับทางรัฐบาลทำให้ นายกรัฐมนตรีมูฮัมหมัด มูซัดเด็ก (Mohammad Mosaddegh) ประกาศยึดครองกิจการน้ำมันที่จากเดิมอยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษให้กลายเป็นของรัฐ ประกาศตัดความสัมพันธ์กับอังกฤษ เขาเองมีความใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต ทำให้หน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ CIA และหน่วยสืบราชการลับอังกฤษ MI6 ร่วมมือกันทำรัฐประหารรัฐบาลของมูซัดเด็กในเดือนสิงหาคม 1953
ผลสำคัญของรัฐประหารก็คือ 1) อำนาจของกษัตริย์มีมากขึ้น ชาห์กำจัดศัตรูทางการเมืองไปได้หลายคน 2) สหรัฐอเมริกามีอำนาจอย่างสมบูรณ์ในอิหร่านพร้อมๆ กับการอังกฤษต้องลดบทบาทลงไปจนแทบหมดสิ้น 3) อิหร่านกลายเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง 4) อิหร่านตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ พัฒนาประเทศแบบเสรีนิยมตะวันตกเต็มรูปแบ[5] 5) จุดประทุความไม่พอใจของประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจกษัตริย์ รูปแบบการพัฒนาประเทศ และอิทธิพลของต่างชาติ ความไม่พอใจนี้ทำให้สถาบันศาสนากลายเป็นที่พึ่งที่ในการต่อต้านกษัตริย์ นักการศาสนากลายเป็นตัวแทนของเกียรติยศ อธิปไตย เสรีภาพ และอิสรภาพ [6]
ความสัมพันธ์ที่หวานชื่นระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านในช่วงนี้ยืนยันได้จากการที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนอิหร่านเรื่องเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สหรัฐฯ ริเริ่มโครงการปรมาณูเพื่อสันติ (Atom for Peace) ในช่วงทศวรรษ 1950 โดยประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) สหรัฐฯ ได้มอบเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสันติในการผลิตพลังงานให้แก่ประเทศพันธมิตรในช่วงสงครามเย็น โดยมอบให้แก่อิหร่าน อิสราเอล และปากีสถานเป็นประเทศแรก [7] สหรัฐฯ มอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และเชื้อเพลงนิวเคลียร์ให้กับอิหร่านในปี1957 [8] อิหร่านกลายเป็นชาติที่สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โครงการปรมาณูเพื่อสันตินี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของหลักการไอเซนฮาวร์ที่สหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารเมื่อได้รับการร้องขอ และให้หลักประกันแก่บูรณภาพเหนือดินแดนแก่ประเทศที่ถูกคุกคามด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์
เสาหลัก
ในทศวรรษ 1960 สหรัฐอเมริกาเผชิญภัยสงครามที่กำลังติดหล่มที่เวียดนาม ทำให้กังวลต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในอ่าวเปอร์เซีย ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน จึงประการหลักการนิกสัน (Nixon Doctrine) ขึ้นในปี 1969 โดยมีสาระสำคัญคือ “สหรัฐอเมริกาจะให้ความสนับสนุนและให้ความสำคัญกับมหาอำนาจในภูมิภาคเพื่อช่วยปกป้องรักษาผลประโยชน์ของโลกเสรีในขณะที่สหรัฐฯกำลังเผชิญกับภาวะสงครามในสมรภูมิเวียดนาม” สหรัฐฯมองว่าอิหร่านและซาอุดิอาระเบียคือมหาอำนาจในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย ณ ขณะนั้น
นายเฮนรี คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนิกสัน จึงได้เสนอนโยบายสองเสาหลัก(Twin Pillar Policy) ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย โดยมองอิหร่านและซาอุดิอาระเบียว่าเป็นสองเสาหลักที่สหรัฐฯ ต้องการให้เป็นฐานของการรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย [9]
หลักการของนโยบายสองเสามีสี่ประการคือ 1) อิหร่านและซาอุดิอาระเบียจะต้องปรองดองและเป็นมิตรต่อกัน 2) สหรัฐฯ อิหร่านและซาอุดิอาระเบียจะต้องมีผลประโยชน์ที่สอดคล้องกัน 3) สหรัฐฯ จะต้องรักษาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ดีกับทั้งสองประเทศ 4) อิหร่านและซาอุดิอาระเบียจะต้องมีเสถียรภาพทางด้านการเมืองภายในที่มั่นคงและมีระเบียบ อิหร่านถูกคาดหวังมากกว่าซาอุดิอาระเบียเนื่องจากมีความพร้อมด้านการทหารมากกว่า [10]
ราคาน้ำมันที่เพิ่งสูงขึ้นในทศวรรษ 1970 ทำให้อิหร่านมั่งคั่งมากขึ้น มีเงินมาซื้ออาวุธซึ่งนับตั้งแต่ปี 1925 อิหร่านพึ่งพาอาวุธจากชาติตะวันตกเป็นหลัก ช่วงต้นทศวรรษ 1970 อิหร่านซื้ออาวุธจำนวนมาก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้ขายอาวุธหลักให้แก่อิหร่าน อิหร่านนำเข้าอาวุธมากสุดในปี 1977 โดยนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือจากสหภาพโซเวียตด้วยมูลค่า 740 ล้านเหรียญสหรัฐฯ [11] ศักยภาพทางกองทัพที่เพิ่มขึ้นทำให้อิหร่านเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศในอ่าวเปอร์เซีย โดยเข้าไปช่วยรัฐบาลสุลต่านโอมานรบกับกบฏฏอฟัร (Dhofar Rebellion) ในปี 1971
เสาหัก
จุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกาและอิหร่าน เกิดขึ้นในปี 1979 เมื่อมีการปฏิวัติโค่นล้มกษัตริย์มูฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาห์ลาวี นำโดยกลุ่มนักการศาสนา นักศึกษา และกลุ่มฝ่ายซ้าย เนื่องจากมีประชาชนและนักการศาสนาจำนวนมากไม่พอใจนโยบายการพัฒนาชาติให้ทันสมัยตามแบบเสรีนิยมตะวันตกของกษัตริย์ ซึ่งห่างเหินจากวิถีและคุณค่าของศาสนาอิสลาม ผู้ปกครองใหม่ของอิหร่านนำโดยอายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี ได้ปฏิเสธทั้งวิถีการพัฒนาแบบตะวันตกและแบบคอมมิวนิสต์ โดยนำระบบการปกครองแบบอิสลามตามแบบสำนักคิดชีอะฮ์อิษนาอะชะรี หรือชีอะฮ์อิหม่ามสิบสอง เป็นแกนหลักในการปกครองประเทศจนถึงปัจจุบัน
ปี1979 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางได้แก่ 1) การปฏิวัติอิหร่าน 1979 2) วิกฤติจับตัวประกันในสถานทูตสหรัฐฯ กรุงเตหะราน 1979 3) สหภาพโซเวียตบุกอัฟกานิสถาน 1979 4) อียิปต์เซ็นสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล
การปฏิวัติอิหร่านคือ ‘ดาบแรก’ ที่เชือดเฉือนความสัมพันธ์ที่เคยมี แม้ในช่วงแรกสหรัฐอเมริกาจะมองเห็นด้านดีของรัฐบาลของนักการศาสนาว่าแม้ไม่เอาสหรัฐฯ แต่ก็ไม่เอาคอมมิวนิสต์ ‘ดาบสอง’ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นอย่างเป็นทางการคือวิกฤติการจับตัวนักการทูตอเมริกันในสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน ซึ่งดำเนินไปถึง 444 วัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1979 ถึงเดือนมกราคม 1981
การปฏิวัติอิหร่านปี 1979 คือความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ เดิมสหรัฐฯ คงความเป็นพันธมิตรในอ่าวเปอร์เซียแก่ทั้งอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของอิหร่าน สหรัฐฯ ยกระดับความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียในฐานะพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางแทนที่อิหร่าน อย่างไรก็ตามซาอุดิอาระเบียก็เริ่มไม่มั่นใจในศักยภาพของสหรัฐฯ หากซาอุดิอาระเบียต้องเผชิญการท้ายทายจากกระแสการปฏิวัติเช่นเดียวกับอิหร่าน
อิหร่านกลายมาเป็นศัตรูของสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่บัดนั้น…
อ้างอิง
[1] ต่อมาอาเซอร์ไบจานถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในชื่อ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาเซอร์ไบจาน เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991อาเซอร์ไบจานก็ได้ประกาศเอกราช
[2] กษัตริย์ เรซา ชาห์ ปฏิเสธคำขอของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษให้ปลดที่ปรึกษาชาวเยอรมันออก
[3] เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ทำให้มีการแบ่งอาเซอร์ไบจานออกเป็นสองส่วนในสองประเทศ คือสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสภาพโซเวียต และจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันตกและตะวันออกของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
[4] การแข่งขันอย่างดุเดือดของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้หลายประเทศกลายเป็นพันธมิตรของสหภาพโซเวียต เหตุการณ์วิกฤติกลองสุเอซปี 1956 ทำให้ประธานาธิบดีไอเวนฮาวด์ตอกย้ำความสำคัญของภูมิภาคนี้โดยการประกาศหลักการไอเซนฮาวด์ปี1957 โดยให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและการทหารแก่ประเทศในภูมิภาคนี้ โดยรับประกันบูรภาพเหนือดินแดนของประเทศที่กำลังถูกคุกคามโดยลักธิคอมมิวนิสต์
[5] การปฏิรูปของชาห์เรียกว่า“การปฏิวัติขาว ” หรือ White Revolution ทำให้เกิดการปฏิรูปที่ดินและสิทธิทางการเมืองของสตรีที่ทำให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้งได้
[6] Alain Gresh and Dominique Vidal, “The New A-Z of the Middle East”, (London: I.B. Tauris, 2004), p.135
[7] Cohen, Avner; Burr, William (15 April 2015). “The Eisenhower Administration and the Discovery of Dimona: March 1958-January 1961”. nsarchive.gwu.edu. National Security Archive. Retrieved 17 April 2015.
[8] The Council on Foreign Relations (CFR) (10 March 2010). “Iran’s Nuclear Program”. https://www.cfr.org/backgrounder/irans-nuclear-program. Retrieved 23 June 2019.
[9] Hussein Sirriyeh, US Policy in the Gulf, 1968-1977 (London: Ithaca Press, 1984), p. 61 อ้างถึงในชูเกียรติ พนัสพรประสิทธิ์, ภูมิภาคตะวันออกกลางในการเมืองโลก:ความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลง,(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561), น. 177
[10] เรื่องเดียวกัน,น. 177
[11] Kuang Keng Kuek Ser (1 June 2016). “Where did Iran get its military arms over the last 70 years?”. https://www.pri.org/stories/2016-06-01/where-did-iran-get-its-military-arms-over-last-70-years. PRI. Retrived 23 June 2019.
เกี่ยวกับผู้เขียน : อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ