มีคนถามกันมามากว่าชาวเคิร์ดเป็นใครหลังจากเกิดปฎิบัติการ “ต้นน้ำสันติภาพ” ที่ตุรกีนำกำลังทหารบุกโจมตีเข้าไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียล่าสุด
ชาวเคิร์ดถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง มีประชากรรวมกันทั้งหมดอยู่ประมาณ 20-40 ล้านคน (ตัวเลขของแต่ละแหล่งข้อมูลแตกต่างกัน) ประมาณร้อยละ 90 ของชาวเคิร์ดทั้งหมดอาศัยอยู่บริเวณพรมแดนของประเทศอาหรับ 1 ประเทศคือ อิรัก และอาศัยอยู่ในรัฐที่ไม่ใช่ประเทศอาหรับอีก 2 ประเทศ คือ ตุรกีและอิหร่าน ส่วนที่เหลือจะพบได้ในซีเรีย (ประมาณ 1 ล้านคน) ในอดีตสหภาพโซเวียต (500,000 คน) และอีกกว่า 700,000 คน กระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ
ถึงแม้ว่าจำนวนประชากรชาวเคิร์ดจะมีจำนวนไม่น้อยดังกล่าว แต่ชาวเคิร์ดก็มักถูกปฏิเสธสิทธิการก่อตั้งรัฐเอกราชของตนเอง และเป็นชนกลุ่มน้อยที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของแต่ละประเทศในตะวันออกกลางและชาติมหาอำนาจภายนอกมาตลอด
ชาวเคิร์ดเป็นกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจากเผ่าพันธุ์อินโด-ยูโรเปียน (Indo-European tribes) (เช่นเดียวกับชาวเติร์ก ชาวอาร์เมเนียน และชาวอัสสีเรียน) ซึ่งอาศัยอยู่ตามเทือกเขาซากรอส (Zagros Mountains) มานานมากแล้ว แต่ช่วงเวลาการดำรงอยู่ของชาวเคิร์ดในพื้นที่ดังกล่าวมีความเด่นชัดในช่วง 2000 ปีก่อนคริสตกาล โดยปัจจุบันยังคงเป็นดินแดนศูนย์กลางของประชากรชาวเคิร์ดที่อยู่กันอย่างหนาแน่น
พื้นที่นี้มีลักษณะเป็นเทือกเขา อันเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพรมแดนของอิหร่าน อิรัก และตุรกี ปัจจุบัน แม้พื้นที่นี้จะไม่ได้มีชาวเคิร์ดอยู่อาศัยเพียงกลุ่มเดียว แต่ก็ต้องถือว่าชาวเคิร์ดเป็นชนกลุ่มใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญที่สุดในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ
ชาวเคิร์ดเรียกมาตุภูมิของพวกเขาว่า เคอร์ดิสถาน (Kurdistan) แต่ภายหลังดินแดนดังกล่าวต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรเปอร์เซีย และอาณาจักรออตโตมาน ตามลำดับ
ทั้งนี้ เคอร์ดิสถานหมายถึง ดินแดนของชาวเคิร์ด (the land of kurds) ซึ่งเป็นดินแดนที่ในอดีตมีพื้นที่รวมกันทั้งหมดประมาณ 392,000 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในตุรกี 190,000 ตารางกิโลเมตร ในอิหร่าน 125,000 ตารางกิโลเมตร ในอิรัก 65,000 ตารางกิโลเมตร และในซีเรีย 12,000 ตารางกิโลเมตร
เคอร์ดิสถาน (Kurdistan) เป็นคำที่ใช้กันมากในช่วงต้นของศตวรรษที่ 13 ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 16 ภายหลังจากที่ชาวเคิร์ด (จากการอพยพของเผ่าต่าง ๆ จำนวนมาก) ได้เคลื่อนย้ายไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตก มุ่งหน้าสู่ที่ราบสูงอนาโตเลีย (Anatolian plateau) คำว่า เคอร์ดิสถาน จึงกลายเป็นเพียงคำที่แสดงถึงระบบผู้นำของชาวเคิร์ดหรือรัฐนครเล็ก ๆ (minor principalities) ซึ่งปรากฏอยู่ในบางแผนที่ทางภูมิศาสตร์เท่านั้น โดยไม่มีเขตพรมแดนที่ชัดเจน
ถึงอย่างนั้นก็ตาม นับจากการล่มสลายของอาณาจักรเคอร์ดิสถาน ชาวเคิร์ดต่างก็มุ่งมั่นที่จะสถาปนารัฐอิสระของตนเองขึ้นมาใหม่
ต่อมาเมื่ออาณาจักรออตโตมานล่มสลาย อังกฤษและฝรั่งเศสจึงกดดันให้สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมานลงนามในสนธิสัญญา Sevres เมื่อปี 1920 โดยตั้งเงื่อนไขสำคัญไว้ว่า ดินแดนของชาวเคิร์ดทางด้านตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติสจะถูกแยกให้เป็นรัฐอิสระ
หากว่าแผนการดังกล่าวถูกนำมาปฏิบัติใช้จริงตั้งแต่ตอนนั้น ดินแดนบางส่วนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีและบางส่วนทางตอนเหนือของอิรักก็คงถูกเฉือนออกไปเป็นประเทศของชาวเคิร์ด
แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากสนธิสัญญา Sevres ถูกอังกฤษบิดพลิ้ว ประกอบกับ กามาล อตาเติร์ก ผู้นำชาตินิยมและบิดาแห่งตุรกีสมัยใหม่ ได้ปฏิเสธสนธิสัญญาฉบับนี้ พร้อมทั้งขับไล่กองทัพอิตาลี ฝรั่งเศส และกรีก ออกไปจากดินแดนที่เป็นประเทศตุรกีในปัจจุปัน ทำให้แผนการก่อตั้งรัฐเคอร์ดิสถานต้องหยุดชะงักลง
การแบ่งแยกชนชั้นในหมู่ชาวเคิร์ดด้วยกันเอง นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่กีดขวางความพยายามในการสร้างเอกภาพของชาวเคิร์ด และเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวเคิร์ดไม่สามารถรวมพลังทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น พวกเขายังมีความหลากหลายในภาษาที่ใช้ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ภาษาท้องถิ่นบางภาษาของชาวเคิร์ดกลุ่มหนึ่ง บางทีก็ไม่สามารถใช้สื่อสารกับชาวเคิร์ดอีกกลุ่มหนึ่งได้ ถึงแม้ว่าชาวเคิร์ดจำนวนมากจะสามารถเข้าใจหนึ่งในสองของภาษาท้องถิ่นหลัก ๆ ก็ตาม
ในขณะเดียวกัน ชาวเคิร์ดเองก็ไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องศาสนา อย่างไรก็ตาม ประชากรส่วนใหญ่ของชาวเคิร์ดก็นับถือศาสนาอิสลามสายซุนนีย์ (ชาฟิอีย์) แต่ก็มีชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ในดินแดนเคอร์ดิสถานอนาโตเลีย (Anatolian Kurdistan) อีกกว่า 3 ล้านคนที่เป็นอลาวีย์ (Alawis) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยทางศาสนาอิสลามสายชีอะห์ ชาวเคิร์ดบางส่วนในอิหร่านนับถืออิสลามสายชีอะห์ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีชาวเคิร์ดที่เป็นคริสเตียนและอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้คำว่าประชาชาติ (nation) ของชาวเคิร์ด จึงหมายรวมไม่เฉพาะซุนนีย์ แต่ยังรวมถึงนิกายทางศาสนาเล็กๆ อื่น ๆ อีก อย่างเช่น พวกยาซิดี (yazidis) และชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียน เช่น พวกอัสสีเรียน (Assyrians) และพวกซีเรียออโธด๊อก (Syrian Orthodox) ในบางประเทศ
ความแตกต่างที่เกิดขึ้นมากมายในหมู่ชาวเคิร์ดดังกล่าว ประกอบกับความห่างไกลทางภูมิศาสตร์ของหลาย ๆ ชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ ตลอดรวมถึงความมักใหญ่ใฝ่สูง และการแข่งขันกันสร้างอิทธิพลของผู้นำท้องถิ่นดั้งเดิม (หรือที่เรียกว่า Aghas) ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างเอกภาพของชาวเคิร์ดตลอดมาในประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่
ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย