“ฮามาส” เข้าร่วมงานศพ “นายพลอิหร่าน” เราควรตีความอย่างไร?

ชาวปาเลสไตน์แสดงความโศกเศร้าและร่วมอาลัยต่อการตายของสุไลมานี ในเมืองกาซาวันที่ 4 มกราคม 2020 [Anadolu Agency]

ผู้บัญชาการทหารของอิหร่านที่ถูกลอบสังหาร “นายพลกอเซม สุไลมานี” ถูกพาไปยังสถานที่พำนักแห่งสุดท้ายของเขาบนไหล่ของฝูงชนขนาดใหญ่บท้องถนนในกุรงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน นายพลได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษแห่งชาติอิหร่าน และ “ผู้พลีชีพ (ชะฮีด) แห่งเยรูซาเล็ม”

ซึ่งก็เป็น “อิสมาอีล ฮานีเยะห์” อดีตนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์และผู้นำคนปัจจุบันของขบวนการต่อสู้ “ฮามาส” ที่ขนานนามนายพลผู้ถูกสังหารว่าคือ “ผู้พลีชีพแห่งเยรูซาเล็ม”

ในคำปราศรัยของเขาต่อหน้าชาวอิหร่านที่มาร่วมงาน ผู้นำปาเลสไตน์ให้คำมั่นว่า ชาวปาเลสไตน์จะเดินตามรอยเท้าของสุไลมานี “ในการเผชิญหน้าแผนร้ายของไซออนิสต์และอิทธิพลของสหรัฐ”

คำพูดของเขาสร้างความโกรธต่อนักเคลื่อนไหวชาวซีเรีย ชาวอิรัก และชาวปาเลสไตน์ ซึ่งจัดให้อิหร่านอยู่ในกลุ่มของศัตรู และถือว่านายพลผู้เสียชีวิตคือมือสังหารที่คร่าชีวิตผู้คนทั้งในอิรักและซีเรียอย่างโหดเหี้ยม และผู้คนนับล้านต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น

วีรบุรุษแห่งชาติหรือผู้สนับสนุนของทรราช?

บางคนคิดว่าคำพูดของฮานีเยะห์นั้นพูดจาหลอกลวงและและค่อนข้างสร้างความเจ็บปวดต่อความรู้สึกของชาวซีเรียและอิรักหลายล้านคนซึ่งเห็นว่า สุไลมานีเป็นฆาตกรที่สนับสนุนระบอบซีเรียและอิรักในการฆ่าประชาชนของตนเองอย่างไร้ความปรานี

สำหรับพวกเขา สุไลมานีนั้นทำให้เลือดหลั่งนองมากกว่าชาวอิสราเอลผู้ยึดครอง พวกเขาอ้างว่า อิสราเอลอาจสังหารชาวปาเลสไตน์หลายพันคนและหลายล้านคนต้องพลัดถิ่น แต่กองนักรบและระบอบการปกครองที่อิหร่านหนุนหลังได้สังหารคนหลายแสนคนและพลัดถิ่นหลายสิบล้านคน ทรมานอีกหลายหมื่นคน

มุมมองฝั่งนี้จึงตีค่าเป็นศูนย์ต่อการให้เกียรติและยกย่องของฮานียะห์ที่มีให้นายพลอิหร่าน ผู้ซึ่งในมุมมองของพวกเขาไม่ควรได้รับยกย่องและจารึกบนหน้าอกว่าเป็น “ผู้พลีชีพแห่งเยรูซาเล็ม” พวกเขาคิดว่าการให้เกียรติเขาเช่นนี้เป็นการยั่วยุความรู้สึกนึกคิดของชาวมุสลิมและชาวอาหรับหลายล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกดขี่ของระบอบการปกครองอิหร่านและนักรบตัวแทนในซีเรีย อิรัก เยเมน และเลบานอน

ฮานีเยะห์ถูกวิจารณ์หนักว่า ต่อให้เป็นผู้นำก็ไม่มีข้ออ้างหรือได้รับสิทธิ์ที่จะยกโทษให้แก่นายพลที่ถูกฆ่าคนนี้

หัวรุนแรงตกขอบสุดของความเห็นฝ่ายนี้ ก็คือกลุ่มที่เชื่อว่า ฮามาสเป็นกลุ่มนอกรีตที่ไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้างว่าอยู่ฝั่งซุนนีอีกต่อไป กลุ่มนี้นำโดยนักวิชาการจากซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ไม่เพียงแต่แสดงความเป็นปฏิปักษ์และความเกลียดชังที่มีต่อฮามาสเท่านั้น แต่พวกเขายังแสดงความชัดเจนในการมีมิตรภาพและความใกล้ชิดกับอิสราเอล

ส่วนอีกฝ่าย คิดว่าฮามาสเป็นคนโง่งมทางการเมือง เพราะได้ทำให้ประเทศซุนนีระคายเคือง และเปลี่ยนพวกเขาจากการเป็นผู้เห็นอกเห็นใจต่อวาระของปาเลสไตน์ไปสู่การสาปแช่งผู้แทนฮามาสซึ่งตอนนี้กลายเป็นผู้มีเล่ห์เหลี่ยม (Machiavellians) ที่สวมหน้ากาก ‘อิสลาม’ เสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มที่สาม ที่มองถึงความสัมพันธ์ของฮามาสกับอิหร่านว่าเกี่ยวกับยุทธวิธีและมาตรการป้องกันล่วงหน้า (pre-emptive) ตามเงื่อนไขบังคับ กลุ่มนี้ให้เหตุผลว่า ประเทศซุนนีส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่ละทิ้งวาระของปาเลสไตน์เท่านั้น แต่ค่อนข้างยุ่งเหยิงและซับซ้อนในการสมคบกันเขมือบและปฏิเสธสิทธิของชาวปาเลสไตน์

ภูมิทัศน์ “ความสัมพันธ์”

เพื่อเข้าใจภูมิทัศน์นี้อย่างลึกซึ้ง เราต้องย้อนเวลากลับไปสู่เหตุการณ์โจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ต่อคำปราศรัยของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช “คุณจะอยู่กับเราหรือกับผู้ก่อการร้าย” เกือบทุกประเทศที่เคยให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ต่างก็หวาดกลัวที่จะถูกระบุว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้าย โดยเฉพาะประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีพลเมือง 19 คนอยู่หมู่นักจี้เครื่องบินและกระทำความผิดจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้องค์กรการกุศลทุกแห่งจึงระงับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เคยพรั่งพรูไปยังปาเลสไตน์ และปฏิเสธกิจกรรมทั้งหมดของพวกเขา ต่อมาเมื่อฮามาสได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 2006 สิ่งต่างๆ ก็ยิ่งเลวร้ายลง การปิดล้อมและการคว่ำบาตรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

ประเทศเดียวที่ไม่ตกใจกลัวหรือเสียใจที่จะสนับสนุนวาระของปาเลสไตน์ก็คือ “อิหร่าน” ที่ยังคงสนับสนุนกลุ่มปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่องและเปิดเผย ทั้งด้านการเงินและด้านโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตามเมื่อการปฏิวัติซีเรียปะทุขึ้นในเดือนมีนาคม 2011 มันก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทหลักระหว่างฮามาสและอิหร่าน ฮามาสพิจารณาว่าการลุกฮือของชาวซีเรียเป็นส่วนหนึ่งของคลื่น“ อาหรับสปริง” (Arab Spring) ซึ่งเป็นผลจากการปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution) ของตูนิเซีย ที่เป็นกระแสประท้วงของประชาชนต่อสภาพความเป็นอยู่ที่น่าสังเวช

ผู้นำของฮามาสมีรายงานว่าได้เรียกร้องให้ระบอบการปกครองของซีเรียจำกัดวงการประท้วง เจรจาตอบสนองความต้องการของประชาชน และไม่ให้ใช้กำลังอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามทั้งระบอบการปกครองของซีเรียและผู้สนับสนุนหลักในเตหะรานมองเห็นความต้องการของประชาชนในฐานะที่เป็นแผนการสมรู้ร่วมคิดระหว่างสหรัฐฯ และอิสราเอลที่จะโค่นล้มระบอบการปกครองของซีเรีย และทำลาย ‘แนวร่วมต่อต้าน’ ที่ประกอบด้วยชีอะห์อิรัก ซีเรีย เลบานอน และขบวนการต่อสู้ที่เคลื่อนไหวในฉนวนกาซา

จุดยืนที่แตกต่างเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ของฮามาส – อิหร่านแย่ลง ในที่สุดผู้นำฮามาสก็ออกจากซีเรียเมื่อปลายปี 2012 และย้ายไปที่กาตาร์ และด้วยการขึ้นสู่อำนาจของภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ในอียิปต์ อิหร่านและระบอบการปกครองของซีเรียคิดว่าฮามาสได้แยกออกจากวงโคจรของพวกเขาอย่างสมบูรณ์เพื่อค้นหาอำนาจจากฝ่ายซุนนีแทนทั้งจากในกรุงไคโรและอิสตันบูล ตั้งแต่นั้นมาความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้ดีนัก

ในเดือนพฤษภาคม 2017 หลังจากการเลือกตั้งผู้นำฮามาสในชุดปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของสองฝ่ายก็ดีขึ้นอีกครั้ง สิ่งนี้ใกล้เคียงกับวิกฤตทางการทูตของกาตาร์ที่เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2017 ซาอุดิอาระเบียได้เริ่มดำเนินการปราบปรามผู้สนับสนุนฮามาสในซาอุดิอาระเบียอย่างรุนแรงรวมถึงแพทย์ชาวปาเลสไตน์ วิศวกร และนักธุรกิจทั่วประเทศ ราชอาณาจักรอ้างสิทธิ์เรื่องการสร้างสายสัมพันธ์ของฮามาสกับอิหร่านคู่แข่งในภูมิภาคมานานของริยาด ฮามาสอ้างว่าผู้ที่ถูกทางการซาอุฯ จับกุมกำลังรวบรวมเงินบริจาคเพื่อการกุศลของชาวปาเลสไตน์และไม่ใช่ด้านการทหาร/ความมั่นคงแต่อย่างใด

การแต่งงานหุนหันพลันแล่นหรือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์?

ผู้นำของฮามาสย้ำว่าประเทศอิหร่านเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สนับสนุนการต่อสู้ของปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง และฮามาสจะปกป้องผลประโยชน์ของอิหร่าน ข้อความเหล่านี้อาจทำให้เกิดความกลัวต่อซาอุดิอาระเบียถึงความภักดีของฮาต่อแนวร่วมอิหร่าน

ฮามาสดูเหมือนจะเชื่อว่าอิหร่านได้สนับสนุนวาระปาเลสไตน์อย่างชัดเจนโดยไม่คำนึงถึงแรงจูงใจ ดังนั้นจึงสมควรได้รับการตอบแทนด้วยความสัตย์ซื่อและสำนึกบุญคุณสำหรับการสนับสนุนนี้

บางคนอาจกล่าวหาว่าอิหร่านใช้ประโยชน์จากฮามาสในฐานะกลุ่มซุนนีเพื่อโปรโมทนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติของอิหร่าน ในแง่หนึ่ง อิหร่านนำเสนอตัวเองราวกับว่ามันไม่ได้สนับสนุนกลุ่มชีอะห์เท่านั้น แต่ก็ยังสนับสนุนกลุ่มซุนนีในฉนวนกาซาซึ่งจะเป็นการลบล้างข้อกล่าวหาใดๆ

ผู้นำฮามาสไม่เคยแสดงความยินยอมต่อนโยบายอิหร่านในซีเรียหรืออิรัก นโยบายที่เป็นหายนะและเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม จะเป็นการไม่มีความรอบคอบทางการเมืองในการวิจารณ์นโยบายดังกล่าวซ้ำๆ เมื่อมีการเปิดเผยจุดยืนพื้นฐานและหลักการ

สถานะของฮามาสกับอิหร่านนั้นมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนกว่าของตุรกีซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างสมดุลและการจัดการในความสัมพันธ์กับอิหร่านและรัสเซีย

 

เขียนโดย : ดร.อะหมัด อัล-บูไร (Dr Ahmed Al-Burai) ติดตามทวิตเตอร์ @ahmedalburai1
โต๊ะข่าวต่างประเทศแปล/เรียบเรียงจาก มิดเดิลอีสต์มอนิเตอร์

** ความคิดเห็นในบทความนี้เป็นของผู้เขียน และไม่จำเป็นต้องสะท้อนถึงจุดยืนของกองบรรณาธิการเดอะพับลิกโพสต์