นายพลกอเซ็ม สุไลมานี (Qasem Suleimani) ถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญของอิหร่านและตะวันออกกลาง ในทางพฤตินัยเขาคือผู้ทรงอิทธิพลลำดับที่ 2 ของอิหร่านรองจากผู้นำสูงสุด หนึ่งในผลงานสำคัญซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญ คือการปราบปรามกลุ่มไอเอส (Islamic State – IS) หรือดาอิช (Daesh) ในอิรักและซีเรีย ผ่านการสร้างเครือข่ายและการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ในพื้นที่ต่างๆ จนทำให้กลุ่มไอเอสแตกพ่ายในหลายสมรภูมิ
นายพลสุไลมานีจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของชาวอิหร่าน อิรัก และเครือข่ายชีอะห์ หรือแม้แต่ซุนนีบางส่วนที่เผชิญภัยคุกคามจากไอเอส กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์เองก็ชื่นชมในบทบาทของนายพลสุไลมานีแม้จะมีสำนักคิดต่างกัน นอกจากนี้นายพลสุไลมานียังมีบทบาทสำคัญในการขยายอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง ต่อต้านสหรัฐฯและชาติพันธมิตรในภูมิภาคโดยเฉพาะอิสราเอล จึงถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางซึ่งในมิติหนึ่งถูกทำให้กลายเป็นภาพของสงครามตัวแทนทางสำนักคิดระหว่างซุนนีกับชีอะห์ บทบาทของนายพลสุไลมานีในปฏิบัติการสู้รบในบางพื้นที่โดยเฉพาะการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียและกลุ่มติดอาวุธจึงถูกมองจากกลุ่มซุนนีบางส่วนว่าเป็นการสร้างความเสียหายหรือความรุนแรงซึ่งทำให้ชาวซุนนีเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย นายพลสุไลมานีจึงมีทั้งภาพลักษณ์ที่เป็นวีรบุรุษและตัวร้ายในเวลาเดียวกัน
วันที่ 3 มกราคมค.ศ. 2020 หลังนายพลสุไลมานีถูกสังหารจากปฏิบัติการโจมตีของอากาศยานไร้นักบินหรือโดรนของสหรัฐฯ นอกจากจะส่งผลให้สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านตึงเครียดมาก แต่ยังนำมาสู่คำถามหรือข้อกังวลว่าเมื่อบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการปราบปรามกลุ่มไอเอสเสียชีวิตลงจะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์การปราบปรามในอนาคต ไอเอสจะฟื้นตัวกลับมาอีกหรือไม่ท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งในภูมิภาค
ผู้นำการปราบปรามกลุ่มไอเอส
กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps – IRGC) เป็นอีกหนึ่งหน่วยทัพสำคัญที่ขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ทั้งนี้ IRGC ถือได้ว่าเป็นกองกำลังสำคัญเป็นฐานกำลังค้ำจุนระบอบการปกครองของระบอบสาธาณรัฐอิสลามอิหร่านโดยมีทหารในสังกัดประมาณ 190,000 นาย มีกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ มีธุรกิจเป็นของตนเอง และยังควบคุมหน่วยบาซิจ (Basij) ทหารอาสาชาวชีอะห์
กองกำลังคุดส์ (Quds) หรือองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์เป็นอีกหนึ่งหน่วยที่สำคัญของ IRGC ที่ปฏิบัติภารกิจพิเศษนอกประเทศทั้งในด้านข่าวกรองการเงินการเมืองการทหาร โดยมีนายพลสุไลมานีเป็นผู้นำกองกำลังคุดส์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1998 ทั้งนี้ที่ผ่านมาภายใต้การนำของนายพลสุไลมานีได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธอื่น เช่น การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในหลายๆ ประเทศในตะวันออกกลาง การฝึกฝนและจัดหาอาวุธ รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มติดอาวุธ เช่น กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอน กลุ่มฮามาส (Hamas) กลุ่มอิสลามิกญิฮาด (Islamic Jihad) ในปาเลสไตน์ และกบฏฮูษี (Huthi) ในเยเมน
นับตั้งแต่กลุ่มไอเอสเริ่มเป็นที่รู้จักจากปฏิบัติการรุนแรงและสุดโต่งจนสามารถยึดครองพื้นที่ขนาดใหญ่ในอิรักและซีเรียได้ในค.ศ. 2014 กลุ่มไอเอสประกาศตั้งรัฐอิสลามครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เมืองอเลปโป (Aleppo) ที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของซีเรียไปจนถึงเมืองดิยาลา (Diyala) ทางภาคกลางของอิรัก มีหัวหน้ากลุ่มไอเอสอย่าง อบูบักร อัล-บัฆดาดี (Abu Bakr al-Baghdadi) เป็นคอลีฟะห์ จากนั้นกลุ่มไอเอสขยายเขตแดนของรัฐอิสลามและขยายปฏิบัติการใช้สื่อออนไลน์เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อออกไปในวงกว้าง กลุ่มไอเอสจึงสามารถขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็ว
ช่วงกลาง ค.ศ. 2014 หลังจากกลุ่มไอเอสประกาศตั้งรัฐอิสลามขึ้น กลุ่มไอเอสก็สามารถรุกคืบจากซีเรียข้ามเข้าไปยึดเมืองโมซุล ((Mosul) ของอิรักได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งโมซุลเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอิรัก มีประชากรประมาณ 650,000 คน และอยู่ห่างจากกรุงแบกแดดประมาณ 400 กิโลเมตร การยึดเมืองโมซุลทำให้กลุ่มไอเอสามารถระดมนักรบ และเงินทุน มีรายงานว่า กลุ่มไอเอสมีรายได้ถึง 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการเก็บภาษีและขูดรีดประชาชนในเมืองโมซุล รายได้จำนวนมากนี้ถูกนำไปใช้สนับสนุนปฏิบัติการของกลุ่ม ทำให้กลุ่มสามารถขยายปฏิบัติการออกไปยังเมืองอื่นได้ ความเข้มแข็งของกลุ่มไอเอสทำให้รัฐบาลอิรักไม่สามารถต้านทานได้ จึงขอร้องไปยังสหรัฐฯ ให้ส่งทหารกลับมาช่วยปราบกลุ่มไอเอส ซึ่งขณะนั้นสหรัฐฯ ได้ถอนทหารออกไปจากอิรักแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 2011 เหลือเพียงบางส่วนทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แต่ข้อเรียกร้องของรัฐบาลอิรักไม่ได้รับการตอบสนอง ปรากฎว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ตอบรับคำขอที่จะส่งทหารกลับเข้ามาในทันที ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสหรัฐฯ ในขณะนั้นเคยเรียกร้องให้อิรักหันมาใช้การปกครองเป็นแบบสหพันธรัฐ แต่อิรักไม่เห็นด้วย จึงอาจเป็นประเด็นที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิรักไม่ราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สหรัฐฯ สนับสนุนการทำประชามติการแยกตัวของชาวเคิร์ดในอิรัก
เมื่อสหรัฐฯ ไม่ได้ตอบรับการร้องขอจากอิรัก อิรักจึงขอความช่วยเหลือไปยังอิหร่าน ปรากฏว่าอิหร่านตอบรับอย่างรวดเร็ว โดยนายพลสุไลมานีและกองกำลังคุดส์เข้าไปมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการเป็นผู้นำในการรบ การวางแผน การร่วมต่อสู้กับกองกำลังท้องถิ่น และรวมตัวขึ้นเป็นเครื่อข่ายเพื่อต่อต้านกลุ่มไอเอสในชื่อกองกำลังระดมประชาชน (Popular Mobilization Forces – PMF) หรือฮาชด์ชาบี (Hashd Shaabi) กองกำลังที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลอิรัก ผลงานที่เห็นได้ชัดคือการยึดเมืองโมซุล (Mosul) คืนจากกลุ่มไอเอสและตัดเส้นทางการเงินและการสนับสนุนของกลุ่มจากการต่อสู้ที่เมืองโมซุล กองกำลังความมั่นคงอิรักและกองกำลัง PMF ต่างยินดีที่นายพลสุไลมานีเป็นผู้นำในปฏิบัติการนี้และกล่าวขอบคุณอิหร่านรวมถึงกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ ชัยชนะเหนือกลุ่มไอเอสทำให้นายพลสุไลมานีและอิหร่านมีบทบาทมากในอิรักในการปราบปรามกลุ่มไอเอสอย่างเข้มข้น หลังจากนั้นสหรัฐฯ จึงตัดสินใจส่งทหารเข้าไปในอิรัก
มีรายงานว่ามีเอกสารลับของอิหร่านนับร้อยฉบับรั่วไหลไปยังสำนักข่าว The Intercept ซึ่งเปิดเผยถึงอิทธิพลของอิหร่านที่เพิ่มมากขึ้นในอิรักจากบทบาทของนายพลสุไลมานี จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องตัดสินใจส่งทหารเข้าไปอิรักเพราะไม่ต้องการให้อิหร่านมีบทบาทมากขึ้นในอิรัก
กองกำลังคุดส์ภายใต้การบัญชาการของนายพลสุไลมานีนอกจากจะเข้าไปช่วยค้ำจุนประธานาธิบดีอัสซาดตั้งแต่ ค.ศ. 2011 ที่เริ่มมีสงครามกลางเมืองในซีเรียแล้วยังมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามกลุ่มไอเอส นายพลสุไลมานีถือเป็นบุคคลสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ทางทหารและส่งหน่วยที่แข็งแกร่งอย่างบาซีจรวมถึงทหารในสังกัด IRGC เข้าไปยังเมืองดามัสกัส (Damascus) เพื่อปราบปรามกลุ่มไอเอส นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักรบและกลุ่มติดอาวุธชีอะห์เดินทางเข้าไปยังซีเรียเพื่อช่วยยึดพื้นที่คืนจากกลุ่มไอเอสซึ่งหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธที่เข้าไปคือกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ (Hezbollah)
นอกจากการต่อสู้กับกลุ่มไอเอสแล้วนายพลสุไลมานีและกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ยังเป็นผู้ดูแลกองกำลังป้องกันแห่งชาติ (National Defense Forces – NDF) ซึ่งเป็นกองกำลังทหารอาสาสมัครชาวซีเรีย มีนักรบประมาณ 50,000 นาย โดยนายพลสุไลมานีเป็นผู้ปรับโครงสร้างของกลุ่มและวางแผนปฏิบัติการ กลุ่มฮิซบุลเลาะห์เป็นผู้ฝึกการใช้อาวุธและวิธีการรบ NDF มีส่วนร่วมในการรบกับกลุ่มไอเอส เช่นการต่อสู้ที่เมืองอเลปโปในค.ศ. 2016 NDF ภายใต้การสนับสนุนของนายพลสุไลมานีและกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ต่อสู้กับกลุ่มไอเอสจนสามารถขับไล่กลุ่มไอเอสออกไปและช่วยฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกยึดครอง ประธานาธิบดีอัสซาดกล่าวถึงความสำคัญของนายพลสุไลมานีว่ามีบทบาทอย่างมากที่ช่วยให้รัฐบาลซีเรียเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามนี้ การสนับสนุนจากนายพลสุไลมานีและอิหร่านจะไม่ถูกลืม
จากผลงานดังกล่าวทำให้อิทธิพลของนายพลสุไลมานีและอิหร่านเพิ่มมากขึ้นในตะวันออกกลาง แต่สหรัฐฯ มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของสหรัฐฯในภูมิภาค โดยสหรัฐฯ อ้างว่ามีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า IRGC วางแผนโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ จึงขึ้นบัญชี IRGC เป็นองค์กรก่อการร้ายตั้งแต่เดือนเมษายนค.ศ. 2019 นอกจากนี้ยังกล่าวโจมตีอิหร่านว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้าย รวมทั้งกองกำลัง IRGC ก็มีส่วนร่วมในการสนับสนุนทางการเงินและเป็นเครื่องมือสำคัญเบื้องหลังการก่อการร้ายของรัฐ การขึ้นบัญชี IRGC เป็นองค์กรก่อการร้ายเท่ากับเปิดทางให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ต่างๆ โดยมีโดรนเป็นเครื่องมือสำคัญ จนกระทั่งประธานาธิบดีทรัมป์มีคำสั่งใช้โดรนโจมตีขบวนเดินทางของนายพลสุไลมานีในอิรัก ทำให้นายพลสุไลมานีเสียชีวิต
สหรัฐฯใช้โดรนโจมตีแกนนำรัฐบาลตาลีบันตั้งแต่ค.ศ. 2001 หรือหลังเหตุการณ์ 9/11 นับแต่นั้นก็มีการใช้มากขึ้นในภารกิจโจมตีกลุ่มติดอาวุธในหลายๆ ประเทศ ทำให้เห็นแนวโน้มของสหรัฐฯ ในการนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ปฏิบัติการทางทหารมากขึ้น ในขณะเดียวกันหลายประเทศต่างก็เร่งพัฒนาโดรนของตน แม้แต่กลุ่มก่อการร้ายก็เช่นกัน จนมีความกังวลกันว่าจะมีการใช้โดรนเพื่อการโจมตีแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอย่างกลุ่มไอเอสที่มีการดัดแปลงและพัฒนาโดรนของตนเองเช่นกัน
ความเสี่ยงในการกลับมาของกลุ่มไอเอสและการใช้โดรน
ชาวอิรักจำนวนมากไม่พอใจที่สหรัฐฯ สังหารนายพลสุไลมานี นำไปสู่กระแสความโกรธเคืองและต่อต้านสหรัฐฯในวงกว้าง รัฐบาลอิรักมีมติให้กองทัพสหรัฐฯ ถอนออกจากประเทศ IIan Goldenberg ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงในตะวันออกกลางศูนย์ความมั่นคงแนวใหม่ของสหรัฐฯ (Center for a New American Security) กล่าวเตือนว่า การถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักอาจเป็นการนำอิรักเข้าสู่อันตรายที่แท้จริง ภารกิจต่อต้านกลุ่มไอเอสยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง หากกองกำลังสหรัฐฯออกจากอิรักปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มไอเอสอาจได้รับผลกระทบ ดังนั้นหากสหรัฐฯ ถอนกองกำลังออกจากอิรักจะถือเป็นข่าวดีสำหรับกลุ่มไอเอสในการหาช่องทางใหม่เพื่อฟื้นฟูความเข้มแข็งของกลุ่ม ในอีกด้านหนึ่งถ้ามองจากมุมของอิหร่านหากสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการปราบปรามกลุ่มไอเอสก็ไม่ควรสังหารนายพลสุไลมานี เพราะกลุ่มไอเอสจะใช้โอกาสนี้ในการกลับมามีบทบาทอีกครั้ง
ดังนั้นไม่ว่าจะมองจากมุมไหน กลุ่มไอเอสก็น่าจะได้ประโยชน์จากการสังหารนายพลสุไลมานีและสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ตามมา
แม้ผู้นำกลุ่มไอเอส นายอบูบักร อัล-บัฆดาดี ถูกสังหารจากปฏิบัติการของสหรัฐฯในวันที่ 27 ตุลาคมค.ศ. 2019 แต่ไม่ได้ทำให้อิทธิพลของกลุ่มหมดไป มีการตั้งผู้นำคนใหม่คือ อบูอิบราฮิม อัล-ฮาเชมิ อัล-กูราชิ (Abu Ibrahim al-Hashemi al-Qurayshi) ปัจจุบันกลุ่มไอเอสก็ยังคงฝังตัวและสร้างแหล่งกบดานในพื้นที่ต่างๆของอิรัก โดยเฉพาะตามเขตพื้นที่ชนบทภูเขาและพื้นที่ของชาวซุนนี เช่น เมืองอันบาร์ นิเนวา เคอร์คุก ดิยาลา ฯลฯ และยังคงมีปฏิบัติการการซุ่มโจมตี การขู่กรรโชกอยู่เรื่อยๆ
สถานการณ์ความวุ่นวายในอิรักหลังเหตุสังหารนายพลสุไลมานี และความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐฯกับอิหร่านหรือสหรัฐฯกับอิรัก หรือแม้แต่ระหว่างกลุ่มต่างๆ ภายในอิรักเอง มันอาจส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจที่ไปลดหย่อนประสิทธิภาพในการปราบปรามกลุ่มไอเอสในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิรักเป็นประเทศแรกที่กลุ่มไอเอสเริ่มเคลื่อนไหวก่อตั้งกลุ่มและเข้มแข็งขึ้นมาจนสามารถสถาปนารัฐอิสลามได้ (ระยะหนึ่ง) โดยหากย้อนไปช่วงสงครามอิรัก ค.ศ. 2003 สหรัฐฯ เข้ายึดครองอิรักและโค่นล้มการปกครองของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น (Saddam Hussein) ทำให้เกิดเครือข่ายต่อต้านสหรัฐฯ ในอิรัก ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลนายมาลิกีกับชาวซุนนีบางกลุ่มที่ไม่พอใจการบริหารงานของเขา บางกลุ่มก็เป็นกลุ่มที่เคยสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง และเป็นช่องว่างให้นักรบมูญาฮิดีนจำนวนมากเดินทางเข้าสู่อิรัก รวมตัวกันขึ้นเป็นเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธจำนวนมากและพัฒนาไปเป็นกลุ่มไอเอสใน ค.ศ. 2014 ถึงแม้ว่าในตอนนี้กลุ่มไอเอสจะลดบทบาทไป แต่สมาชิกกลุ่มยังคงกระจายตัวอยู่ทั่วตะวันออกกลาง รวมทั้งในอิรัก
จากความขัดแย้งที่กล่าวมาอาจส่งผลให้กลุ่มไอเอสฉวยโอกาสรื้อฟื้นกองกำลังของตนขึ้นมาอีกครั้งในอิรัก ที่อาจจะไม่ได้เข้มแข็งเหมือนเดิม แต่จะปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการต่อสู้โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น เช่นการใช้เทคโนโลยีโดรนในการก่อเหตุ
ถึงแม้การกลับมาของกลุ่มไอเอสอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีบทบาทเลย กลุ่มไอเอสอาจใช้ยุทธวิธีโจมตีแบบกองโจร รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง โดรนที่สามารถกำหนดเป้าหมายได้อย่างแม่นยำมาใช้ ซึ่งกลุ่มไอเอสมีการพัฒนาโดรนของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มไอเอสพัฒนาโดรนมาตั้งแต่ค.ศ. 2014 เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลเชิงพื้นที่รวบรวมข่าวกรองเพื่อวางแผนการโจมตีและสามารถพัฒนาไปสู่การใช้โดรนเพื่อโจมตีเป้าหมาย โดยกลุ่มไอเอสนำโดรนพาณิชย์ทั่วไปมาดัดแปลงให้สามารถบรรทุกระเบิดขนาด 40 มม. บังคับระยะไกลได้ 100 กิโลเมตร มีรายงานว่า โดรนของกลุ่มไอเอสส่วนใหญ่ผลิตในประเทศจีนจากบริษัท DJI Technology company ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ผลิตโดรนชั้นนำสำหรับการใช้งานทั่วไป กลุ่มไอเอสซื้อโดรนประเภทดังกล่าวมาดัดแปลงและพัฒนาต่อ เนื่องจากราคาถูก หาซื้อได้ทั่วไปในท้องตลาด ครั้งหนึ่งเคยมีรายงานว่าทางการเดนมาร์กได้จับกุมเครือข่ายกลุ่มไอเอสได้ 2 คนในขณะที่กำลังซื้อโดรน ผู้ต้องสงสัยให้ข้อมูลว่า กลุ่มไอเอสพยายามซื้อโดรนจากประเทศต่างๆ เพื่อส่งไปให้หน่วยปฏิบัติการในอิรักและซีเรียพัฒนาต่อ
การพัฒนาโดรนของกลุ่มไอเอสทำให้กลุ่มไอเอสสามารถนำโดรนมาใช้โจมตีกองกำลังความมั่นคงอิรักในช่วงปลายค.ศ. 2016 และช่วงต้นค.ศ. 2017 กลุ่มไอเอสปล่อยวิดีโอที่บันทึกการใช้โดรนปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ผ่าน Youtube ในวิดีโอแสดงให้เห็นเทคโนโลยีโดรนรุ่นใหม่ของกลุ่มที่มีประสิทธิภาพคล้ายคลึงกับรุ่น Skywalker Black X8 Flying Wing ซึ่งเป็นโดรนที่สามารถบังคับได้ในระยะไกลมีปีกคล้ายเครื่องบินทั่วไปบินได้นานถึง 3 ชั่วโมงสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ถึง 2.3 กิโลกรัมซึ่งมากกว่าโดรนทั่วไป และสามารถควบคุมได้ด้วยระบบเซิฟเวอร์คอมพิวเตอร์ ความก้าวหน้าในการพัฒนาโดรนทำให้กลุ่มไอเอสเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในครอบครองมากกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้นหากกลุ่มไอเอสฟื้นตัวกลับมาโดรนอาจเป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์สำคัญที่ทำกลุ่มไอเอสอาจนำมาใช้ในอิรัก
มีความกังวลของบางประเทศที่มองว่ากลุ่มไอเอสอาจจะกลับมาฟื้นกำลังอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเยอรมนีที่ตัดสินใจส่งกองกำลังติดอาวุธบุนเดสแวห์ร (Bundeswehr) กลับเข้าไปในเมืองเออร์บิลของอิรักช่วงเช้าวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 2020 เพื่อปฏิบัติภารกิจฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยชาวเคิร์ดและต่อสู้กับกลุ่มไอเอส อันเนเกรต ครัมป์-คาร์เรนบาวเออร์ (Annegret Kramp-Karrenbauer) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเยอรมนีกล่าวว่า “ถ้าเราหยุดต่อสู้ตอนนี้กลุ่มไอเอสจะกลับมาโจมตียุโรปอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง” และไฮโก มาส (Heiko Mass) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีระบุว่า อเดล อับดุลมาห์ดี รักษาการนายกรัฐมนตรีของอิรักส่งสัญญาณให้กองกำลังของเยอรมนีกลับเข้าไปปฏิบัติภารกิจอีกครั้ง หากเยอรมนีไม่ส่งทหารกลับไปก็จะถือว่ามีส่วนในการก่อความไม่มั่นคงในอิรัก
ไม่ว่าสหรัฐฯจะสังหารนายพลของอิหร่านด้วยเหตุผลหรือวิธีการใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุไลมานีคือคนที่มีบทบาสำคัญในการปราบปรามกลุ่มไอเอสทั้งในซีเรียและอิรัก การเสียชีวิตของเขาย่อมส่งผลต่อทิศทางการต่อสู้กับกลุ่มไอเอสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์ความวุ่นวายและวิกฤตความขัดแย้งที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิรัก รวมทั้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน อาจเปิดโอกาสให้กลุ่มไอเอสกลับฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมากลุ่มไอเอสก็ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจฝ่ายต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพและความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายลดหย่อนลง หากกลุ่มไอเอสกลับมาปฏิบัติการอีกครั้งหนึ่งภายใต้บริบทใหม่ที่ไม่ได้มีฐานที่มั่นเหมือนเดิม ประกอบกับเครือข่ายสมาชิกที่อ่อนกำลังหรือแตกกระสานซ่านเซ็นออกไป กลุ่มไอเอสอาจจำเป็นต้องหันมาใช้ยุทธวิธีในการต่อสู้แบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีต้นทุนต่ำแต่สามารถสร้างการทำลายล้างสูง โดรนอาจเป็นอาวุธทางเลือกหนึ่งที่กลุ่มไอเอสจะนำมาใช้ในปฏิบัติการโจมตี/ลอบสังหารเป้าหมายบุคคลสำคัญๆ ในลักษณะเดียวกับที่สหรัฐฯใช้ลอบสังหารนายพลกอเซ็มสุไลมานี
อ้างอิง
- มาโนชญ์ อารีย์. (2560). Drone Strikes ความรุนแรงในโลกมุสลิม และกฎหมายระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
- https://www.aljazeera.com/news/2019/10/iraq-troops-leaving-syria-approval-stay-191022084630834.html
- https://www.bbc.com/news/world-middle-east-51021861
- https://www.bbc.com/news/world-middle-east-47852262
- https://www.cfr.org/backgrounder/irans-revolutionary-guards
- https://www.cnbc.com/2020/01/06/us-iran-crisis-isis-is-the-winner-in-death-of-qasem-soleimani.html
- https://focuswashington.com/2020/01/11/isis-praises-us-murder-of-iranian-general-soleimani-as-divine-intervention-that-will-help-them-rise-again/
- http://www.jstor.org/stable/10.7249/mg892af.12
- https://www.theguardian.com/world/2019/apr/08/trump-designates-irans-revolutionary-guards-as-foreign-terrorist-organization
- https://www.haaretz.com/middle-east-news/.premium-who-is-qasem-soleimani-the-head-of-iran-s-quds-force-that-attacked-israel-1.6075565
- https://www.justsecurity.org/67927/trumps-fatal-mistake-killing-suleimani-vs-countering-isis/
- https://www.newsweek.com/us-soldiers-under-threat-iran-allies-join-iraq-military-kick-americans-out-839255
- https://www.newyorker.com/news/our-columnists/the-breathtaking-unravelling-of-the-middle-east-after-suleimanis-death
- http://www.reuters.com/article/us-iraq-al-Maliki-idUSL2830043220070928
- https://www.reuters.com/article/us-syria-security-iraq/iraq-says-u-s-forces-withdrawing-from-syria-have-no-approval-to-stay-idUSKBN1X10RE
- https://www.terrorism-info.org.il/en/isiss-use-drones-syria-iraq-threat-using-overseas-carry-terrorist-attacks/
- https://time.com/5761448/why-iraqis-are-worried-about-an-islamic-state-resurgence-after-soleimanis-death/
- https://www.trackingterrorism.org/group/national-defense-force-ndf-syria
- https://www.xinhuathai.com/inter/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4_20200128
ปริญญาโททางประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง “พัฒนาการของกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย ค.ศ.2006-2017“