“โดยปกติค่าเฉลี่ยการระบาด จะอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน ประเทศไทย เองน่าจะจบใกล้ๆ กับ จีน คือประมาณ 3 เดือน เพราะมีการดำเนินการใกล้เคียงกับแบบจำลองสถานการณ์ในแบบที่ 3 ดังที่ได้ยกเคสมาให้เห็นแล้ว” พลเดช ปิ่นประทีป
ฤดูร้อนไทยๆ เอาอยู่ไหม? เมื่อต้องปะทะกับไวรัสมรณะ สัมภาษณ์พิเศษ “นพ.พลเดช ปิ่นประทีป” สมาชิกวุฒิสภา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา มีลุ้นจบการแพร่ระบาดในอีกไม่ช้า
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ซึ่งสำหรับในประเทศไทยกำลังส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และลุกลามไปถึงในระดับการเมือง รวมถึงการแพร่ระบาดอย่างไม่หยุดยั้งไปในหลายประเทศทั่วโลก
“นพ.พลเดช ปิ่นประทีป” สมาชิกวุฒิสภา และเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อดีตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา หรือ คุณหมอสว. ซึ่งนอกเหนือจากตำแหน่งที่กล่าวมาแล้ว “นพ.พลเดช” ยังเคยทำงานในด้านระบาดวิทยา ในกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดของโรคร้ายต่างๆ ที่จะมาไขสารพัดข้องใจของ สถานการณ์ “ไวรัสโควิด-19”ในเวลานี้
เกี่ยวกับสถานการณ์ในเวลานี้ เรื่องของอากาศ-ชาติพันธุ์มีผลหรือไม่?
มี…เรื่องนี้ต้องบอกว่าสภาพอากาศและชาติพันธุ์ มีผลกับการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ เพราะว่าโดยทั่วไปพวกไวรัส แท้จริงแล้วก็คือพวกหวัด เมื่อนึกถึงหวัด ก็จะต้องนึกไปถึงสภาพอากาศที่เย็น เพราะไวรัสชอบอากาศแบบนี้ จริงๆ แล้วเราไม่ค่อยเป็นหวัดในฤดูร้อน จะเป็นแต่ในช่วงมีละอองฝน หรืออากาศเย็นๆมากกว่า
โดยปรากฏการณ์ของฤดูร้อนเวลาแดดเปรี้ยงๆ จำพวกไวรัสมักจะไม่สู้กับสภาพอากาศและแดด โดยเฉพาะในเมืองไทย แต่จะเป็นเชื้อประเภทอื่นที่ชอบคือพวกแบคทีเรีย นี่คือธรรมชาติของเชื้อ โดยเชื้อราจะเป็นอีกแบบหนึ่ง แบคทีเรียเป็นอีกแบบหนึ่ง และไวรัสเป็นอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นโรคบางโรคจะเป็นโรคเมืองร้อน บางโรคก็เป็นโรคเมืองหนาว แต่พอฤดูกาลเปลี่ยนก็สามารถเปลี่ยนสถานที่ได้
โอกาสของไว้รัสโคโรนาก็เช่นกัน เกิดขึ้นที่อู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย อยู่เป็นแนวเส้นรุ้ง ที่ไล่ไปแพร่ระบาดในเกาหลีใต้ ในญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องนี้ทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถอธิบายได้เช่นเดียวกัน ทั้งจากอุณหภูมิ และสภาพอากาศ
เชื้อไวรัสโควิด -19 จะชอบอยู่ในสภาพอากาศชื้น และเย็น ยกตัวอย่างกรณีที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อนแต่ทำไมการแพร่ระบาดเกิดขึ้นมาก เพราะคนสิงคโปร์ชอบที่จะอยู่ในห้องแอร์ ในออฟฟิศ จึงเป็นเหตุสำคัญของการคงอยู่ของเชื้อ และการแพร่เชื้อ
เชื้อตัวนี้ ชอบอากาศเย็น พอฤดูกาลเปลี่ยน จะอ่อนแอไปโดยปริยาย ละอองฝอยของเชื้อ ด้วยบรรยากาศห้อง (ลักษณะปิดเปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส ) เมื่อปิดแอร์ เพียงสองชั่วโมงก็ตาย ถึงไม่ตายก็อ่อนแอมาก
ถ้าเป็นเมืองไทยในฤดูร้อน การแพร่ระบาดจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร?
อย่างที่ได้อธิบายปรากฏการณ์การแพร่ระบาดในแถบเส้นรุ้ง ที่มีสภาพอากาศเย็นและชื้นไปแล้ว มาถึงเมืองไทย ที่อยู่ในแถบเส้นรุ้งที่ต่ำลงมา เป็นเขตเมืองร้อน ซึ่งจริงๆ แล้วโรคนี้แพร่ระบาดก็มาจากคน ซึ่งจากอู่ฮั่น ก็ตรงลงมาที่ไทย ตอนนั้นเรียกได้ว่าไทยเป็นเบอร์หนึ่งที่มีความเสี่ยงอันดับต้นๆ ของโลกเลย เพราะมีคนจีนเข้ามาท่องเที่ยวมาก ปีละประมาณ 10 ล้านคน และคนไทยไปเที่ยวจีนอีกประมาณ 7 แสนคนต่อปี
ฉะนั้นก็จะเป็นเหตุผลของการแพร่ระบาดลงมา และไทยเป็นประเทศอันดับสองที่มีสถิติ การติดเชื้อมากที่สุด (ณ ช่วงแรกของการแพร่ระบาด) และไทยไม่ได้มีนโยบาย หยุดการท่องเที่ยว ไทยไม่ได้ห้าม ไม่ได้ปิดประเทศ ซึ่งหลายประเทศปิดประเทศ แต่กลับกลายเป็นสถานการณ์แย่กว่าไทย ….ตรงนี้มองได้หลายปัจจัย แต่สำคัญๆ คงมีสองเรื่อง คือเรื่องของการควบคุม เรื่องของมาตรการในการดูแลการแพร่ระบาด และ ปัจจัยในเรื่องของสภาพอากาศก็มีผล
อย่างที่กล่าวไว้แล้ว ว่า เชื้อไวรัสโควิด -19 ชอบอากาศเย็น และชื้น แต่ในฤดูร้อนของบ้านเรา (ประเทศไทย) มีอุณหภูมิสูงมาก ยิ่งหากเป็นฤดูร้อนในประเทศ ความแข็งแรงของเชื้อก็จะต่ำลงไปด้วย คืออยู่ในสถานที่สาธารณะตามท้องถนน หรือ ตามสถานที่ต่างๆ ได้ไม่นานนัก และการแพร่ระบาดก็จะดร็อปลงตามความคงทนของเชื้อ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่เชื้อด้วย
ส่วนตัวเชื่อว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไทยเป็นประเทศเสี่ยงอันดับสองของโลก และกลายเป็นอันดับที่ 27-28 ของโลก นั่นเกิดจากระบบสาธารณสุขไทย ที่มีมาตรฐานค่อนข้างดี มีการควบคุม การติดตามที่ดี และประเทศมีประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรคระบาดที่เกิดจากไวรัส หลายๆ ชนิดมาก่อนหน้านี้ มีประสบการณ์ มีการเตรียมการรับมือที่ดี ทั้งเรื่อง เอดส์ เรื่องของ ซาร์ส เรื่อง เมอร์ส รวมถึงเรื่องของไข้หวัดนก เท่ากับไทยเคยผ่านเรื่องแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว และเป็นที่ยอมรับของ WHO หรือองค์การอนามัยโลกมาแล้ว
ข้อดีอีกประการสำคัญของไทย คือการเกิด PM2.5 ที่ทำให้ตื่นตัวเรื่องของการใส่หน้ากากอนามัยจนชิน พอไวรัสโควิด -19 มาก็เป็นช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดลดลง เพราะประชาชนชินกับการใส่หน้ากากอยู่แล้ว
มาถึงเรื่องสำคัญที่หลายคนอยากทราบ ระยะเวลาในการระบาดจะยาวนานแค่ไหน?
สถานการณ์การแพร่ระบาดจะยาวนานหรือไม่นั้น ไม่สามารถที่จะมีใครบอกได้ แต่ในทางทฤษฎีของการระบาด ที่ระบุเอาไว้สองเรื่องสำคัญ คืออัตราการระบาด และอัตราตาย ในเรื่องของอัตราการระบาด คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ โรคๆ หนึ่งจะระบาดนานหรือไม่นาน? ขึ้นอยู่กับอัตราการระบาด โรคๆ หนึ่ง เชื้อๆ หนึ่งเมื่อระบาดแล้ว จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง คิดเป็นเปอร์เซ็น ถ้าเปอร์เซ็นต์สูงเท่ากับว่า การระบาดเกิดขึ้นเร็ว แต่ในไวรัสโควิด-19 มีอัตราการระบาดเพียง 2.3 % เมื่อเทียบกับการระบาดของโรคอื่นเช่นโรคหัด จะมีการระบาดที่เร็วถึง 18 % ส่วน ซาร์ส กับ เมอรส์ จะมีตัวเลขการระบาดสูงกว่า โควิด -19 แต่ต่ำกว่าโรคหัด ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า อัตราการระบาดของ ไว้รัส โควิด -19 ค่อนข้างต่ำ ส่วนอัตราการตายของเชื้อโควิด-19 ก็ต่ำกว่า เมอร์ส ต่ำกว่าโรคระบาดอื่นๆ อีกหลายโรค
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดที่คาดการณ์ คือต้องมองจากช่วงแรกที่มีการระบาด ตัวเลขผู้ติดเชื้อและการแพร่ระบาด กราฟจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง กราฟจะนิ่ง อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศจีน นับจากธันวาคม 2019 ถึงวันนี้ กราฟขึ้นสูงจนพีคในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และกราฟเริ่มลงมา และในปัจจุบัน กราฟลงมาต่ำจนติดพื้น นั่นหมายความว่า เคสใหม่แทบจะไม่เกิดขึ้นแล้ว หรือเกิดขึ้นก็ไม่มาก และหมอก็ยังรับมือไหว ต่อไปนี้จีนจะหาย
แต่เวฟกราฟในเวลากลับไปพีคในยุโรป รวมทั้งเกาหลีใต้ ยังพุ่งสูงไม่ถึงจุดพีค ซึ่งเมื่อถึงจุดพีคแล้วก็ต้องติดตามว่าจะลงอย่างไร ซึ่งหากดูจากแพทเทิร์นที่เกิดขึ้นกับจีน ส่วนตัวก็คาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของไว้รัสโควิด -19 ในประเทศต่างๆ (แยกเป็นแต่ละประเทศ) น่าจะไม่เกินช่วงเวลา 3 เดือน
ซึ่งทางทฤษฎี นักระบาดวิทยาระดับโลกจากสหรัฐฯ ยังระบุในเคสของการจำลองสถานการณ์ไว้ แบบที่ 1 คือการเกิดโรคระบาดในจำนวนประชากร 1,000 คน แล้วไม่ทำอะไรเลย คือไม่ควบคุมไม่ทำอะไรทั้งสิ้น ปล่อยให้ระบาดไปเรื่อยๆ โรคจะหยุดไปเองโดยธรรมชาติ ในประชากร 1,000 คน สุดท้ายการแพร่ระบาดจะหยุดภายใน 70 วัน โดยจะมีคนติดเชื้อไป 856 คน แต่ติดแล้วหาย ตายประมาณ 20 คน ซึ่งเป็นการจำลองสถานการณ์จากการเกิดในคน 1,000 คน
นอกจากนี้ยังไม่การจำลองสถานการณ์ในแบบที่สอง คือมีการแพร่ระบาด มีการติดเชื้อ แต่มีการควบคุมแบบ การใส่หน้ากากอนามัย ในประชากร 1,000 คน จะติดเชื้อ 750 คน แล้วจะตายประมาณ 14-16 คน
ส่วนการจำลองสถานการณ์แบบที่สาม คือ มีการติดเชื้อ เกิดกับประชากร 1,000 คนเช่นเดียวกับสองแบบจำลองแรก ซึ่งเมื่อเกิดแล้วีการควบคุมมีการกักบริเวณ และทำการรักษา รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัย ปฏิบัติตามคำแนะนำ ในประชากร 1,000 คน จะมีตัวเลขการตายเพียง 4-5 คน และสถานการณ์จะจบภายใน 49 วัน
ให้คุณหมอสว.ลองคาดการณ์สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย
ถ้าให้มองในส่วนของประเทศไทย ที่การแพร่ระบาดเริ่มมาหลังจากจีน วันนี้จีนเริ่มจบแล้ว ของไทยเองก็มีการควบคุมที่ดี และมีมาตรการต่างๆ ออกมารองรับอย่างมีมาตรฐาน รวมถึงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่มากนัก ซึ่งก็คาดว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดน่าจะจบใกล้เคียงกับในประเทศจีน
โดยปกติค่าเฉลี่ยการระบาด จะอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน ประเทศไทย เองน่าจะจบใกล้ๆ กับ จีน คือประมาณ 3 เดือน เพราะมีการดำเนินการใกล้เคียงกับแบบจำลองสถานการณ์ในแบบที่ 3 ดังที่ได้ยกเคสมาให้เห็นแล้ว
การยุติการระบาด นอกจากตามทฤษฎีและสภาพอากาศแล้วน่าจะเกิดจากอะไรได้อีก?
ก็คงเป็นเรื่องของภูมิคุ้มกัน …ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับโรคที่เกี่ยวกับไวรัส และภูมิคุ้มก่อน เรื่องภูมิคุ้มกันของคนในเรื่องของไวรัส จะมีภูมิคุ้มกันสองแบบ ในแบบแรกเรียกว่า ภูมิคุ้มกันของปัจเจก สมมุติมีการรับเชื้อจำนวนหนึ่งแล้วเข้าไปร่างกาย แล้วป่วย ถ้าป่วยแล้วก็อาจจะตาย แต่ถ้าไม่ป่วยมากก็อาจจะหาย เมื่อหายแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกัน เป็นภูมิคุ้มกันของตัว ซึ่งหากเกิดการป่วยแล้วหาย มีภูมิคุ้มกันถ้ารับเชื้อเดิมอีกก็จะไม่เป็น ยกเว้นเชื้ออื่น นั่นเรียกภูมิคุ้มกันเฉพาะตัว
อีกแบบหนึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันแบบรวมหมู่ คือมีคนป่วยแล้วหายมากๆ ก็จะเกิดภูมิคุ้มกันในคนหมู่มาก ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันของสังคมของ ชุมชนไปโดยปริยาย เรียกว่า herd immunity ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะเป็นปัจจัยในการยุติของการแพร่ระบาดได้ส่วนหนึ่ง
ที่มา: สยามบิสซิเนสนิวส์