รอมฎอนท่ามกลางซากปรักหักพังของกาซ่า

อะห์เมดเคยบริจาคเงินเพื่อการกุศลก่อนที่จะเกิดสงคราม แต่ตอนนี้เขาและครอบครัวอยู่รอดได้ด้วยเงินบริจาค

(ภาพ) ครอบครัวของอบู อาซิร ทานอาหารละศีลอด - อิฟตาร์ ท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านที่ถูกทำลายเสียหายของพวกเขา

ในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา เมื่อเวลาละหมาดมัฆริบกำลังใกล้เข้ามา ครอบครัวมุสลิมทั้งหมดในกาซ่าจะมารวมตัวกันรอบโต๊ะอาหาร เพื่อละศีลอดที่เริ่มตั้งแต่ตะวันขึ้นจนถึงตะวันตกของพวกเขา มันเป็นช่วงเวลาแห่งความเป็นมิตร การให้อภัย และการใคร่ครวญ

เป็นเวลา 20 ปีมาแล้ว ที่ซาเลห์ อาบู อาซิร วัย 36 ปี ได้ภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติตามประเพณีประจำปีในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ปีนี้แตกต่างออกไป แทนที่ครอบครัวจะได้อยู่ร่วมกันในห้องนั่งเล่นที่แสนสบายของพวกเขา พวกเขากลับพบว่าตอนนี้ตัวเองกำลังนั่งอยู่บนเสื่อผืนเล็กๆ ที่ปูบนพื้นแข็งๆ ครอบครัวนี้ต้องนั่งอยู่ในสิ่งที่หลงเหลืออยู่จากบ้านของพวกเขา ที่ถูกทำลายจากการโจมตีทางทหารของอิสราเอลเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา

“นี่คือบ้านขนาด 300 ตารางเมตรของเรา สำหรับสมาชิก 35 คนของครอบครัวเรา และทั้งหมดที่เราเหลืออยู่ก็คือ ซากปรักหักพังและเศษหินดินทราย 30 เมตร” อาบู อาซิรกล่าว ขณะที่ภรรยาของเขาเข้ามาสมทบพร้อมด้วยถ้วยผักอารุกูล่าสด

(ภาพ) ฟานูสแบบดั้งเดิม หรือโคมไฟเดือนรอมฎอน เป็นเครื่องตกแต่งที่เด็กๆ บางคนในกาซ่าสามารถคาดหวังได้ในปีนี้
(ภาพ) ฟานูสแบบดั้งเดิม หรือโคมไฟเดือนรอมฎอน เป็นเครื่องตกแต่งที่เด็กๆ บางคนในกาซ่าสามารถคาดหวังได้ในปีนี้

 

สลัดทาฮินีแบบง่ายๆ ข้ามผสมกับขนมปังสด และน้ำผลไม้ ถูกจัดเตรียมโดยดารีน อาบู อาซิร ภรรยาของซาเลห์ที่ตั้งครรภ์แก่ วัย 36 ปี ขณะที่เธอยืนอยู่ภายในห้องครัวที่ตอนนี้เป็นครัวเปิดโล่ง

“ฉันเคยมีห้องครัวพร้อมอุปกรณ์ครบครัน แต่ตอนนี้ฉันต้องปรุงอาหารที่มุมนี้ ใกล้ผนังด้านหนึ่งที่อาจจะพังลงมาตอนไหนก็ได้”

ถ้ากำแพงนั้นจะพังลงมา ครอบครัวนี้ก็จะไม่มีที่ไหนให้ไปอีกแล้ว และดารีนรู้ว่าการไปพึ่งพิงโรงเรียนและที่พักพิงที่ยูเอ็นบริหารไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัย เพราะอิสราเอลจะพุ่งเป้าไปยังที่อาศัยของพลเรือนเช่นนั้น

พวกเขาเคยไปอาศัยอยู่ในห้องเรียนของยูเอ็นเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากสงคราม 51 วัน ในปี 2014

สงครามครั้งนั้นสังหารชาวปาเลสไตน์ไป 2,250 คน รวมทั้งเด็กๆ ประมาณ 551 คน ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าถูกย้ำเตือนให้นึกถึงมันในตอนนี้ หลังจากรายงานของยูเอ็นส่วนใหญ่ที่เพิ่งเปิดเผยออกมาระบุว่า ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์อาจได้กระทำอาชญากรรมสงคราม

ถึงกระนั้น ความเป็นจริงในพื้นที่ดูเหมือนจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงการโต้เถียงกันของบรรดาผู้นำประชาคมนานาชาติ และการฟื้นฟูกาซ่าสำหรับผู้อยู่อาศัยเกือบ 2 ล้านคน ดูเหมือนว่าจะเป็นความฝันที่ห่างไกลมากกว่า แม้จะมีคำสัญญามากมายว่าจะให้ความช่วยเหลือก็ตาม

แม้จะมีความยากลำบากทั้งหมดนี้ ความเอาใจใส่ด้วยความรักจากแม่ที่มีต่อลูก ริอาด 8 ขวบ, ตัสนีม 7 ขวบ, อินติซาร์ 5 ขวบ, มัยซา 3 ขวบ และอิบรอฮีม 2 ขวบ ยังคงแข็งแกร่งและมั่นคง เธอยังคงจัดการวางอาหารง่ายๆ ลงบนโตะ และเรียกลูกๆ เข้ามาล้อมรอบเธอ ครอบครัวนี้กล่าวขอบคุณและขอพรเพื่อเสรีภาพเพื่อจะได้เฉลิมฉลองตามศาสนาและวัฒนธรรมของพวกเขาได้อย่างสันติ ในแผ่นดินเกิดของพวกเขา

“รอมฎอนเป็นเดือนแห่งความโปรดปรานและความปิติสุข เรากำลังพยายามที่จะรักษาให้มันเป็นอย่างนั้น แม้จะมีสภาพแวดล้อมที่น่ากลัวและความกดดันที่ไม่อาจทนรับได้” ซาเลห์ อาบู อาซิร กล่าว

(ภาพ) เด็กหญิงกวาดฝุ่นและเศษหินดินทรายในบ้านที่ถูกทำลายเสียหายของครอบครัวเธอ เพื่อเตรียมรับประทานอาหารละศีลอด – อิฟตาร์
(ภาพ) เด็กหญิงกวาดฝุ่นและเศษหินดินทรายในบ้านที่ถูกทำลายเสียหายของครอบครัวเธอ เพื่อเตรียมรับประทานอาหารละศีลอด – อิฟตาร์

 

อาบู อาซิร ทบทวนถึงรอมฎอนปีที่แล้วด้วยความเจ็บปวดและความทุกข์ เดือนนั้นเขาต้องสูญเสียคนอันเป็นที่รักไปหลายคน เมื่อเพื่อนบ้านถูกฉีกเป็นชิ้นๆ ด้วยกระสุนจากรถถังของอิสราเอล เมืองชีจาเยห์ ละแวกบ้านของเขากลายเป็นซากเศษอิฐ แต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่ตอนนี้ แม้จะเป็นฝันร้าย แต่ยังมีความหวังเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น

“เราเป็นเพียงไม่กี่ครอบครัวที่ยังอยู่ที่นี่ตอนนี้ เรารู้สึกโดดเดี่ยว แต่เราไม่มีทางเลือกอื่น ประชาคมระหว่างประเทศทำให้เราผิดหวังอีกครั้ง ด้วยการฟื้นฟูกาซ่า” เขาบอกกับ Middle East Eye

“อาหารครับ พ่อ อาหาร อาหาร!” ริอาด ลูกชายของเขาเรียกร้องด้วยรอยยิ้ม

หลังอาหารอิฟตาร์ ดารีน อบู อาซิร์ เก็บโต๊ะและพับผ้าผืนเล็กๆ ที่คนในครอบครัวใช้นั่ง เธอหยุดชะงักครู่หนึ่งและยิ้ม ขณะที่เธอก้มไปข้างหน้าด้วยท้องที่หนักอึ้ง ทารกอีกคนหนึ่งกำลังจะคลอดในไม่ช้า

“เราไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องทำให้มันเป็นรอมฎอนตามปกติเท่าที่เราจะสามารถทำได้เพื่อลูกๆ ของเรา ภายในสภาพแวดล้อมที่อิสราเอลจัดให้ ปีนี้ มันหมายถึงการนั่งบนซากที่เหลือของบ้านที่ถูกทำลายของเรา”

เมื่อวาน น้องชายของอาบู อาซิร ได้เป็นพ่อคุณ ซาเลห์ อาบู อาซิรได้รู้ข่าวนี้จากคนแปลกหน้าคนหนึ่ง เนื่องจากตอนนี้ครอบครัวของเขากระจัดกระจายอยู่ทั่วเมืองกาซ่า มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปเยี่ยมทุกคน

“ในอดีต พวกเราทั้งหมด 35 คน จะนั่งรอบโต๊ะหนึ่งตัวเพื่อรับประทานอาหารอิฟตาร์ด้วยกัน แต่สงครามทำให้พวกเราต้องแยกกัน สำหรับตอนนี้” เขาบอกว่าเขามีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นที่จะมีชีวิตอยู่ในสถานที่ที่เรารัก พวกเขาอาจจะไม่มีห้องรับประทานอาหาร แต่ครอบครัวของพวกเขาตกลงใจที่จะอยู่ที่นี่คือสิ่งที่มีค่ามากยิ่งกว่า

“จงเรียนรู้ที่จะรักแผ่นดินของลูก เรียนรู้ที่จะรักน้องสาวของลูก และอย่าล้มเลิกสิ่งที่ลูกยืนหยัดเพื่อมัน” ซาเลห์สอนริอาด ลูกชายของเขา ในช่วงเวลาสำหรับการใคร่ครวญ ก่อนที่เขาจะเตรียมตัวทำตัรวีห์ (ละหมาดช่วงค่ำ)

ภายนอกบ้านที่พังยับของเขา มัสยิดในชีจาเยห์เป็นประจักษ์พยานการทำลายล้างของอิสราเอล ในขณะที่ปีก่อนๆ สถานที่ประกอบศาสนหิจเหล่านี้จะมีผู้คนหลั่งไหลมา แต่ปีนี้มันเหลือแต่ซาก และไม่สามารถใช้เป็นสถานที่รวมตัวกันของผู้ศรัทธาได้

Euromid Observers for Human Rights กลุ่มสิทธิ์ฯ กลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกาซ่าและเจนีวา นับจำนวนมัสยิด 171 หลังที่ถูกทำลาย ซึ่ง 62 หลังถูกโจมตีด้วยการจู่โจมของกองทัพอากาศอิสราเอลระหว่างสงคราม 51 วัน

(ภาพ) มัสยิดอาลี บิน อาบีฎอลิบ ที่ถูกทำลาย
(ภาพ) มัสยิดอาลี บิน อาบีฎอลิบ ที่ถูกทำลาย

 

ห้องสำเร็จรูป

คูซาอฺ ทางใต้ของฉนวนกาซ่า เป็นหมู่บ้านอยู่ที่ภายใต้การปิดล้อมในช่วงสงคราม และประสบกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง รวมทั้งการยิงในระยะใกล้ด้วย

มันเป็นวันถือศีลอดอีกวันหนึ่งที่นี่ เมื่อเสียงเรียกให้ละหมาดมัฆริบเริ่มดังขึ้น อะห์เมด อีมิช วัย 35 ปี คุณพ่อของลูก 4 คน ยืนอยู่ข้างนอกบนถนนเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์

“เราไม่สามารถได้รับอากาศบริสุทธิ์จริงๆ แบบนี้ได้ในทางเลือกของเรา ซึ่งเป็นบ้านสำเร็จรูปที่สร้างโดยกลุ่มผู้บริจาค” เขากล่าว

“เราคิดถึงบ้านเก่าฟาร์มเลี้ยงไก่ของเรา” อีมิชกล่าว เขาสนับสนุนและช่วยเหลือครอบครัวของเขาและครอบครัวอื่นๆ ด้วยการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก เขาเคยบริจาคเงินเพื่อการกุศลก่อนที่จะเกิดสงคราม แต่ตอนนี้เขาและครอบครัวอยู่รอดได้ด้วยเงินบริจาค

บ้านสำเร็จรูปเคลื่อนที่นำความทุกข์ยากมาให้แก่ครอบครัวผู้ไร้ที่อยู่อาศัยในคูซาอฺ และตอนนี้ยิ่งทุกข์มากขึ้นในความร้อนของฤดูร้อน

“การใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งปลูกสร้างสำเร็จรูปเหล่านั้นไม่ดีเลย แม้แต่สำหรับสัตว์” เขาอธิบาย

มีบ้านสำเร็จรูป 160 หลัง ในคูซาอฺ ที่ครอบครัวขนาดเฉลี่ย 6 คน อย่างครอบครัวของอีมิชอาศัยอยู่ในหนึ่งห้อง ที่ซึ่งพวกเขาต้องเตรียมอาหาร รับประทาน นอนหลับ อาบน้ำ และใช้ห้องน้ำในนั้น

“พื้นและหลังคาเป็นสนิม และน้ำโสโครกซึมเข้ามาในห้อง” เขากล่าว เล่าถึงช่วงเวลาที่น่าจะมีความสุข เมื่อครอบครัวมาอยู่พร้อมหน้ากันเพื่อรับประทานอาหารก่อนถือศีลอด หรือซุโฮร์

“น้ำท่วมในบ้านของเราตอนตีสองครึ่ง เมื่อภรรยาของผมจะลุกขึ้นมาเตรียมอาหารซุโฮร์ น้ำโสโครกนองท่วมพื้น คิดดูซิว่าต้องพยายามเตรียมอาหารในน้ำนั่น” เขากล่าว

สัญญาที่พวกเขาได้รับจากองค์กรบรรเทาทุกข์ไม่ได้ถูกทำให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ เพราะครอบครัวต่างๆ ยังคงขาดอาหาร และเด็กๆ ต้องเผชิญกับสภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพ

กลิ่นน้ำโสโครกอาจทำให้มนุษย์สลบได้ แต่เขาพยายามที่จะจัดการกับมันด้วยการกวาดมันออกไปจากสถานที่เล็กๆ นี้ ห้องสำเร็จรูปเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อผู้อพยพระยะสั้นใช้ในยามฉุกเฉิน หลังสงคราม แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่ามันจะเป็นความจริงระยะยาวถ้าหากไม่มีการอนุญาตให้มีการฟื้นฟูอีก เขาได้รับคำสัญญาจากอิสราเอลระหว่างสงครามว่า ถ้าเขาออกไปจากบ้าน ครอบครัวของเขาจะปลอดภัย แต่เมื่อพวกเขากลับมา บ้านได้กลายเป็นซากปรักหักพังไปหมดแล้ว

ปีนี้ “ไม่มีบรรยากาศของรอมฎอนสักเท่าไหร่” เป็นคำพูดของเด็กคนหนึ่งที่เดินผ่านไป เด็กๆ ไม่มีเงินที่จะซื้อพลุหรืออุปกรณ์รื่นเริงเหมือนเช่นเคย

(ภาพ) ฟานูสแบบดั้งเดิม หรือโคมไฟเดือนรอมฎอน เป็นเครื่องตกแต่งที่เด็กๆ บางคนในกาซ่าสามารถคาดหวังได้ในปีนี้
(ภาพ) ฟานูสแบบดั้งเดิม หรือโคมไฟเดือนรอมฎอน เป็นเครื่องตกแต่งที่เด็กๆ บางคนในกาซ่าสามารถคาดหวังได้ในปีนี้

 

เดือนรอมฎอนในสายตาของอีมิช ทำให้นึกถึงการทำลายล้างขนานใหญ่ในละแวกบ้านของเขา การทำลายล้างฟาร์มและฆ่าไก่ของเขาด้วยการโจมตีจากรถถังและกระสุนปืนของอิสราเอล แต่ถึงกระนั้น เมื่อ Middle East Eye ขอให้เขาเล่าถึงช่วงเวลาที่มีความสุขจากรอมฎอนปีก่อนๆ เขายิ้มและกล่าวว่า

“ผมจำวันที่สวยงามเหล่านั้นได้ เราจะนั่งกันในสวนกว้างใหญ่ของเรา และรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัวอย่างสงบสุข ที่ถูกเสิร์ฟมาจากห้องครัวกว้างแบบอเมริกันที่ทันสมัย”

 

 

—–
แปลจาก http://www.middleeasteye.net