เยรูซาเล็ม – กองกำลังอิสราเอลเพิ่มจำนวนมากขึ้นที่บริเวณมัสยิดอัล-อักศอเมื่อวันศุกร์ (18 ก.ย.) โดยที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่าได้มีการใช้กำลังทหารพิเศษของอิสราเอลหลายร้อยคนในบริเวณโดยรอบ
การเพิ่มกำลังเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวลือที่ว่า เยาวชนกำลังวางแผนทำการประท้วงที่บริเวณดังกล่าวเพื่อต่อต้านการสะกัดกั้นอย่างหนักไม่ให้ชาวปาเลสไตน์เข้าไปในพื้นที่นั้น รวมทั้งชาวอิสราเอลขวาจัดกลับได้เข้าไปท่องเที่ยวในบริเวณนั้นอยู่เสมอ
การประท้วงต่อการเพิ่มกำลังที่บริเวณมัสยิดอัล-อักซอได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วเวสต์แบงค์และเยรูซาเล็มตะวันออกมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว
กองกำลังอิสราเอลได้ยิงชาวปาเลสไตน์ได้รับบาดเจ็บ 12 คน หนึ่งคนอาการสาหัส ในที่พื้นยึดครองเวสต์แบงก์ตลอดคืนวันพฤหัสบดีและตลอดการปะทะกันในวันศุกร์ ขณะที่ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ได้จุดไฟเผารถโดยสารสาธารณะของอิสราเอลหนึ่งคันจนไหม้ทั้งคันด้วยระเบิดขวด เมื่อคืนวันพฤหัสบดีในพื้นที่ยึดครองเยรูซาเล็มตะวันออก
ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์รถโดยสารนี้
วันศุกร์ กองกำลังอิสราเอลยืนเฝ้าประตูหน้าบริเวณอัล-อักซอ ห้ามไม่ให้ผู้ชายอายุต่ำกว่า 40 ปีทุกคนเข้าไป ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นได้รวมตัวเรียงแถวกันเพื่อละหมาดบนพื้นและท้องถนนโดยรอบเมืองเก่า
เหตุการณ์ค่อนข้างสงบในพื้นที่ที่มีการคุ้มกันแน่นหนาตอนช่วงเช้า แต่การปะทะกันได้เกิดขึ้นหลังจากละหมาดบ่าย โดยกองกำลังอิสราเอลยิงแก้สน้ำตาและกระสุนยางเข้าใส่ชาวปาเลสไตน์ที่ขว้างก้อนหินและระเบิดขวดกลับไป
ตอนเย็นสื่ออิสราเอลรายงานว่า ทหารอิสราเอลได้รับบาดเจ็บสี่นายในเยรูซาเล็มตะวันออกระหว่างการปะทะ
หนังสือพิมพ์ Haaretz ของอิสราเอลรายงานว่า ทหารอิสราเอลสี่นายนั้นได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากระเบิดไฟที่ขว้างใส่พวกเขาที่บริเวณจาบัล มุคาบิร ของพื้นที่ยึดครองเยรูซาเล็มตะวันออก ยังมีรายงานที่ไม่ยืนยันอีกด้วยว่าชาวปาเลสไตน์ได้ยิงกระสุนจริงเข้าใส่กองกำลังอิสราเอลในบริเวณดังกล่าว
(ต่อมาในวันศุกร์ สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ได้มีจรวดยที่ยิงจากกาซ่าตกลงในเมือง Sderot ทางใต้ของอิสราเอล โฆษกตำรวจอิสราเอลระบุว่า จรวดดังกล่าวตกลงใกล้รสโดยสารว่างคันหนึ่ง ทำให้รถเสียหายแต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ)
“สงครามที่พ่ายแพ้ของอิสราเอล”
ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ชาวอิสราเอลขวาจัดได้รับอนุญาตให้ไปท่องเที่ยวยังบริเวณดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีการคัดค้านจากกองทุนการกุศล Islamic Endowment ซึ่งเป็นองค์กรศาสนาภายใต้การบริหารจัดการของจอร์แดน ที่น่าจะมีอำนาจควบคุมสถานที่ดังกล่าว
ในปี 1967 หลังจากที่อิสราเอลได้ผนวกรวมดินแดนเยรูซาเล็มตะวันออก อิสราเอลได้ทำข้อตกลงกับกองทุนการกุศลแห่งนี้ว่า การสวดมนต์ของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในพื้นที่นี้เป็นที่ต้องห้าม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นปมของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในดินแดนนี้ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้
นับตั้งแต่สิ้นเดือนสิงหาคม มุสลิมได้รายงานว่าพวกเขาถูกขัดขวางไม่ให้เข้าไปในบริเวณมัสยิดอัล-อักซอในช่วงเวลา 7.00 น. ถึง 11.00 น. ช่วงเวลาเป็นช่วงที่กลุ่มชาวอิสราเอลขวาจัดได้รับอนุญาตให้เข้าไปท่องเที่ยวในบริเวณนั้น
เมื่อวันพฤหัสบดี สื่อท้องถิ่นรายงานว่า นักเคลื่อนไหวกลุ่มขวาจัดมากกว่า 60 คน เข้าไปท่องเที่ยวในบริเวณนั้นภายใต้การคุ้มกันอย่างแน่นหนาจากกองกำลังอิสราเอล ขณะที่ชาวมุสลิมถูกขัดขวางไม่ให้เข้าไป
ซาฟาห์ นัสเซอร์ ชาวบ้านในเยรูซาเล็มตะวันออกกล่าวว่า เธอเจ็บปวดหัวใจจากการสะกัดกั้นและการต่อสู้รอบบริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
“อัล-อักซอควรจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันสงบสุขสำหรับชาวมุสลิม” นัสเซอร์กล่าว
“ฉันไปละหมาดที่นั่นทุกวันศุกร์ เราไม่ต้องการสร้างปัญหาขึ้นที่นั่น เราไม่ต้องการต่อสู้ที่นั่น แต่เมื่อครอบครัวของฉันพยายามไปละหมาดที่นั่น มันเป็นสิทธิ์ของเรา และพวกเขาแย่งสิทธิ์ของเราไปจากเราเพื่อให้เอกสิทธิ์กับชาวอิสราเอลที่ไม่มีสิทธิ์อยู่ที่นั่น มันเป็นก้าวหนึ่งที่มากเกินไปสำหรับการยึดครอง”
นัสเซอร์เชื่อว่าการปะทะกันนี้จะดำเนินต่อไปจนกระทั่งสถานการณ์จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม การสะกัดกั้นพิเศษถูกยกเลิกไป และชาวปาเลสไตน์ได้รับการรับรองว่าชาวยิวจะถูกห้ามไม่ให้มาสวดมนต์ที่บริเวณนี้
“ฉันคิดไม่ออกว่าการปะทะและการต่อสู้นี้จะหยุดลงได้อย่างไรถ้าเรื่องไร้สาระนี้ไม่หยุดลง ชาวปาเลสไตน์จะไม่ยอมเสียอัล-อักซอไป นี่จะเป็นสงครามที่พ่ายแพ้ของอิสราเอล” เธอกล่าว
ผู้อำนวยการมัสยิดอัล-อักศอ อุมัร คิสวานี บอกกับ Middle East Eye ว่า เขาและอัซซัม อัล-คอติบ ผู้อำนวยการกองทุนการกุศล Islamic Endowment ได้คัดค้านอย่างจริงจังต่อการมาท่องเที่ยวสถานที่แห่งนี้ของ “ชาวยิวขวาจัด”
“เมื่อคุณเป็นแขกหรือนักท่องเที่ยว คุณต้องขออนุญาตก่อน แต่นักท่องเที่ยวดังกล่าวเหล่านี้ไม่เคยขออนุญาตจากเรา และนั่นทำให้พวกเขาเป็นผู้บุกรุก ไม่ใช่นักท่องเที่ยวและไม่ใช่แขก” คิสวานีกล่าวด้วยความโกรธ “เรารู้ว่าคนเหล่านี้มาที่นี่เพราะพวกเขาต้องการจะทำการสวดมนต์ของยิวที่บริเวณนี้ ไม่ใช่มาท่องเที่ยว และนี่เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างชัดเจน เราไม่สามารถทนต่อเรื่องนี้ได้ และเราจะไม่อนุญาตให้ทำการสวดมนต์แบบไม่ใช่มุสลิมที่อัล-อักซอ”
ชาวยิวนับถือบริเวณมัสยิดอัล-อักซอว่าเป็นภูเขาพระวิหาร (Temple Mount) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนายิว ด้วยเหตุนี้ องค์กรขวาจัดหลายกลุ่มจึงได้เรียกร้องให้มีการก่อสร้างวิหารศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิวขึ้นที่สถานที่แห่งนั้น
ตั้งแต่เริ่มมีรายงานเกี่ยวกับตารางเวลา 7.00 น. ถึง 11.00 น. สำหรับนักท่องเที่ยวชาวยิว ชาวปาเลสไตน์ได้แสดงความกังวลว่าทางการอิสราเอลจะวางแผนเพื่อสร้างโครงการที่จะอนุญาตให้ชาวยิวและชาวมุสลิมใช้สถานที่นี้ร่วมกัน เช่นเดียวกันกับมัสยิดอิบราฮีมีของฮิบรอน ที่ชาวยิวเรียกว่า Cave of the Patriarch ซึ่งได้ถูกแบ่งส่วนในปี 1994 และชาวมุสลิมับชาวยิวใช้ร่วมกันด้วยความตึงเครียด
สัญลักษณ์ทางการเมือง
สำหรับชาวมุสลิม บริเวณมัสยิดอัล-อักซอเป็นสถานที่สำคัญอันดับที่สามในอิสลาม แต่ชาวปาเลสไตน์มองว่าอัล-อักซอเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งชาติด้วย
นาดิม เชบลี นักศึกษาวิทยาศาสตร์การเมืองที่มหาวิทยาลัยอัล-กุดส์ (เยรูซาเล็ม) บอกกับ MEE ว่า กลียุคที่เกิดขึ้นที่บริเวณมัสยิดอัล-อักซอขณะนี้ เป็นเรื่องที่มีการหารือกันมากที่สุดระหว่างทั้งนักศึกษาและอาจารย์ ในฐานะที่เป็นเรื่องทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา
“อัล-อักซอเป็นของชาวปาเลสไตน์ ไม่ใช่ของชาวมุสลิมเท่านั้น คุณไม่จำเป็นต้องเป็นมุสลิมจึงจะโกรธกับสิ่งที่อิสราเอลกำลังทำอยู่ที่นั่นได้” เชบลีกล่าว “ทุกคนที่มหาวิทยาลัยของผม และทุกคนในชุมชนของผมก็โกรธมากกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ที่โรงเรียนทั้งนักศึกษาและอาจารย์เห็นพ้องกันว่า เรากำลังรอให้ถึงจุดหนึ่ง ที่บางอย่างที่ใหญ่และเลวร้ายมากจะเกิดขึ้น
“นี่คือประเด็นทางการเมือง ไม่ใช่ทางศาสนา” เชบลีกล่าวต่อ “อิสราเอลกำลังใช้ความหัวรุนแรงแบบบ้าคลั่งของมันเพื่อสร้างวาทะกรรมทางการเมืองให้ดูเป็นเรื่องของศาสนา และเรื่องนี้ไม่สามารถจะจบสวยได้”
คิสวานียังกล่าวอีกว่า เขากลัวว่าบางอย่างที่ใหญ่กว่ากำลังรออยู่ที่ขอบฟ้า ถ้าวิกฤติการณ์ที่อัล-อักซอยังไม่สงบลงโดยเร็ว
ผ่านไป 15 ปีเต็มแล้วนับตั้งแต่การมาเยือนมัสยิดอัล-อักซอครั้งประวัติศาสตร์ของแอเรียล ชารอน เมื่อเดือนกันยายน 2000 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล การเยือนครั้งนั้นถูกมองว่าเป็นการจุดประกายให้เกิดขบวนการอินติฟาด้าครั้งที่สองของชาวปาเลสไตน์ หรือที่เรียกว่า อินติฟาด้า อัล-อักซอ และที่ได้เปลี่ยนชีวิตของทั้งชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ทั่วอาณาเขตที่ถูกแบ่งแยกนั้น
คิสวานีกล่าวว่า เขาเชื่อว่าความรุนแรงที่บริเวณนี้ในขณะนี้กำลังทำให้ทั้งชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอลตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจจะนำไปสู่ประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย
“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้กำลังเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้วอย่างน่ากลัว ครั้งนี้ไม่ใช่ชารอน แต่เป็นชาวอิสราเอลหัวรุนแรงที่กำลังมุ่งเข้าไปในบริเวณนี้ โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อเริ่มต้นความขัดแย้งนี้” คิสวานีกล่าว “ถ้าเรื่องนี้ไม่จบ ผมจะไม่ประหลาดใจเลยถ้ามันจะนำไปสู่บางอย่างที่ใหญ่กว่าการปะทะกัน”
—-
แปลจาก www.middleeasteye.net
นักแปล, โต๊ะข่าวต่างประเทศ