ตาลีบันกับโลกในศตวรรษที่ 21

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มตาลีบันในครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายใหม่ เป็นความท้าทายมากกว่าการก้าวขึ้นสู่อำนาจครั้งแรกในปี ค.ศ.1996 เนื่องด้วยช่วงเวลา20ปีที่ผ่านมา สังคมอัฟกานิสถานเปลี่ยนแปลงไปมากมาย สิทธิของประชาชนที่เคยถูกจำกัดอยู่ภายใต้กรอบการตีความทางศาสนาแบบสุดโต่งมีการเปิดกว้างมากขึ้นเมื่อตาลีบันหมดสิ้นอำนาจลงในปีค.ศ.2001 กระบวนทัศน์ทางความคิดของผู้คนในสังคมมีความร่วมสมัยมากขึ้น เด็กผู้หญิงได้รับโอกาสในการศึกษา สตรีมีพื้นที่ทางสังคมสาธารณะมากขึ้น มีอาชีพและหน้าที่การงานที่มั่นคง บางคนเป็นเจ้าของกิจการ บางคนรับราชการเป็นตำรวจ อีกทั้งการเกิดใหม่และการเจริญเติบโตของผู้คนหลังปีค.ศ.2001นั้น คือการก่อกำเนิดของคนในเจเนอเรชั่นใหม่ที่มิได้เติบโตมาในยุคที่กลุ่มตาลีบันเรืองอำนาจ ทำให้สภาพสังคมของอัฟกานิสถานในช่วง20ปีที่ผ่านมา จึงมิใช่อัฟกานิสถานในยุค 90’s อีกต่อไป

นอกจากเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กและสตรีที่ทั่วโลกกำลังจับตามองว่ากลุ่มตาลีบันจะเปิดพื้นที่ให้กับเด็กและสตรีมากขึ้นแบบเดียวกับที่พวกเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ ความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการขึ้นครองอำนาจของกลุ่มตาลีบัน คืออำนาจต่อรองภายใน เพราะเนื่องด้วยประเทศอัฟกานิสถานมีกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย และยังมีกลุ่มศาสนาในสำนักคิดอื่นที่ต้องการเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเทศ รวมไปถึงกลุ่มอื่นๆที่อยู่นอกประเทศที่มีความต้องการกลับเข้ามาใช้อัฟกานิสถานที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาซึ่งเหมาะในการจัดตั้งเป็นฐานปฏิบัติการ เบื้องต้นที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ คือกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือที่มีฐานปฏิบัติการในเมืองปัญจชีร์ทางตอนเหนือของประเทศ ห่างจากเมืองหลวงคาบูลไปเพียง 150 กิโลเมตร ที่แม้วันนี้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าชาติตะวันตกจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือที่นำโดยอะหมัด มัสอูด (Ahmad Massoud – ลูกชายของอะหมัด ชาห์ มัสอูด (Ahmad Shah Massoud) นักต่อสู้ผู้ต่อต้านโซเวียตในอดีต และผู้นำพันธมิตรฝ่ายเหนือที่ต่อต้านการเข้ามามีอำนาจของกลุ่มตาลีบันในยุคแรก(ค.ศ.1996 – ค.ศ.2001) ที่ถูกลอบสังหารไปแล้ว ) ก็อาจจะกลายเป็นหนามแหลมที่คอยทิ่มแทงมิให้กลุ่มตาลีบันปกครองประเทศได้อย่างราบรื่น รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอัลเคด้า( Al – Qaeda )กับกลุ่มตาลีบันก่อนหน้านี้ ที่เคยให้ความช่วยเหลือโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลเคด้ามานานหลายปีในการใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานในการปฏิบัติการ จะสามารถตัดขาดความสัมพันธ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ระหว่างกันได้หรือไม่ ถ้าไม่นั่นหมายถึงโอกาสในการกลับมาสร้างและขยายเครือข่ายของกลุ่มอัลเคด้าในอัฟกานิสถานได้อีกครั้ง และกลุ่มISIS K ( The Islamic State of Iraq and the Levant – Khorasan Province ) ที่มีเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐอิสลาม ที่ยังคงมีฐานปฏิบัติการแฝงอยู่ในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และประเทศในแถบเอเชียกลาง

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะมองข้ามไปมิได้เลยคือเหล่าบรรดามหาอำนาจทั้งหลาย แม้ว่ากองทัพสหรัฐจะมีกำหนดเส้นตายในการออกจากอัฟกานิสถานในปลายเดือนสิงหาคมนี้ แต่ก็มีการตั้งคำถามขึ้นเมื่อมีการพบกันระหว่าง วิลเลียม เบิร์นส ( William Burns – CIA Director ) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐที่เดินทางมายังคาบูล และเข้าพบหารือเป็นการส่วนตัวกับมุลเลาะห์ อับดุล กานี บาราดาร์ ( Abdul Ghani Baradar – ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตาลีบัน – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายการเมืองของกลุ่มตาลีบัน ) และการขยับขับเคลื่อนของกลุ่มประเทศG7 หลังจากเบริส จอห์นสัน ( Boris Johnson) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษต่อสายตรงถึงเอ็มมานูเอล มาครง ( Emmanuel Macron ) ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน จนมีการออกแถลงการณ์ร่วมกันของกลุ่มผู้นำG7ในการประชุมออนไลน์ (อังคาร24สิงหาคม2564) ที่ผ่านมา และไม่เพียงแต่พันธมิตรชาติตะวันตก บทบาทของผู้นำจีนต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในอัฟกานิสถาน และปมความขัดแย้งกับชาวอุยกูร์ (Uyghurs) ในพื้นที่เขตปกครองตนเองซินเจียง( Xinjiang ) ที่มีอาณาเขตติดต่อกับอัฟกานิสถาน รวมไปถึงบทบาทของผู้นำรัสเซียที่ให้ความสำคัญกับปัญหากลุ่มนักรบชาวเชเชน ที่อาจใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานในการปฏิบัติการ ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนทิศทางของชาติต่างๆต่อสถานการณ์ในอัฟกานิสถานเช่นกัน

เมื่อสปอร์ตไลท์ทั่วโลกส่องไปที่อัฟกานิสถานอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 911 ในปีค.ศ.2001 ผ่านไปแล้ว 20 ปี อัฟกานิสถานในปีค.ศ.2021 นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของกลุ่มตาลีบันในการเข้ามาปกครองประเทศเป็นครั้งที่ 2 นอกจากความท้าทายในการสร้างภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงของตาลีบันต่อโลกยุคใหม่แล้ว กลุ่มตาลีบันยังมีความท้าทายที่รออยู่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับศึกหลายด้านทั้งในและนอกประเทศ เป็นความท้าทายเช่นเดียวกับประชาชนชาวอัฟกานิสถานในการตามหาสันติภาพและความสงบที่แท้จริงอีกครั้งในรอบ 40 ปีที่ประเทศนี้มิเคยว่างเว้นจากไฟสงคราม …….