นักบวชหญิงโซโรแอสเตอร์ในอิหร่าน

เยือนวิหารไฟของชาวโซโรแอสเตอร์ทางภาคใต้ของอิหร่าน และได้รับฟังจากนักบวชในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศในหมู่ผู้ปฏิบัติตามศาสนาเก่าแก่นี้

(ภาพ) นักบวชหญิงโซโรแอสเตอร์ ซาร์วาร์ ทาราโพเลวารา และราชิน จาฮันกิรี ระหว่างการฉลองกาฮัมบาร์ ในวิหารแห่งเตหะราน (MEE/Ines Della Valle)

มองจากทางอากาศ กรุงเตหะรานมองดูเหมือนเป็นสระน้ำที่มีอิฐและเศษชิ้นส่วนกระจัดกระจาย ใกล้ถนนฟิรดูซี ทางใต้ของเมืองหลวง เป็นที่ตั้งของสถานที่ทางศาสนาที่เด่นชัดที่สุดและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของชนกลุ่มน้อยชาวโซโรแอสเตอร์ที่กระจายอยู่ทั่วไปในอิหร่าน พิธีการประจำวันถูกจัดขึ้นในวิหารไฟแห่งนี้ และโถงประกอบพิธี ที่ซึ่งสภาโมเบด (นักบวชโซโรแอสเตอร์) มาประชุมกัน

ศาสนานี้ก่อตั้งขึ้นโดยศาสดาโซโรแอสเตอร์เมื่อประมาณ 3,500 ปีที่แล้ว มีสาวกผู้ปฏิบัติตามประมาณ 190,000 คน มันเป็นศาสนาอย่างเป็นทางการในอิหร่านมาเป็นเวลา 1,000 ปีแล้ว โดยปัจจุบันผู้นับถือศาสนานี้เป็นชนกลุ่มน้อยที่กำลังลดน้อยลงในสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้

Middle East Eye ได้ไปเยือนวิหารไฟ (หรือ Agiary สถานที่เก็บไฟ) ของพวกเขา ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีประจำวันที่นำโดยนักบวชโซโรแอสเตอร์ MEE ไปเยือนในช่วงเวลาเดียวกันกับวันกัมบาฮาร์(Gambahar) ครั้งที่สาม ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลประจำปีหกเทศกาลที่มีขึ้นเพื่อฉลองการสร้างโลก

(ภาพ) โมเบด ซาร์วาร์ ทาราโพเลวารา และโมเบด โซรัชเพอร์ ประธานสมาคมโมเบด ยืนอยู่หน้าวิหารไฟในเตหะราน (MEE/Ines della Valle )
(ภาพ) โมเบด ซาร์วาร์ ทาราโพเลวารา และโมเบด โซรัชเพอร์ ประธานสมาคมโมเบด ยืนอยู่หน้าวิหารไฟในเตหะราน (MEE/Ines della Valle )

โมเบดหญิง ซาร์วาร์ ทาลาโพเลวารา เข้าสู่วิหารในชุดยาวสีขาว ซึ่งส่วนบนจะมีผ้าคลุมสีขาวด้วย และนั่งใกล้กับไฟดวงเล็กแต่ลุกโชนที่ปะทุอยู่ตรงกลางวิหาร

ผ้าด้ายบริสุทธิ์ของทาลาโพเลวาราถูกซักอย่างดี เป็นสีขาวไร้ตำหนิทั้งผืน เครื่องประดับชิ้นเดียวของเธอคือ โคชตี (koshti) โบราณ เป็นเข็มขัดยาวที่แสดงถึงหลักการเบื้องต้นของชาวโซโรแอสเตอร์ที่ว่า “คิดดี พูดดี และทำดี”

“พ่อของฉันเป็นปาร์ซี คือเป็นโซโรแอสเตอร์มาจากอินเดีย” เธอบอก “ฉันจำได้ว่าพ่อจะผูกเข็มขัดของท่านทุกวันก่อนอาหารเช้า และเล่าเรื่องในวัยเด็กของท่านในอินเดียให้พวกเราฟัง ที่นั่นชาวโซโรแอสเตอร์จะยึดมั่นกับประเพณีแบบอนุรักษ์นิยม และเด็กๆ ต้องสวมโคชตีตั้งแต่อายุแปดขวบ”

“พ่อของฉันคือคนที่ส่งเสริมฉันมากที่สุด ตอนแรกปาร์ซีอินเดียคัดค้านความคิดเรื่องนักบวชหญิง” โมเบด ทาลาโพเลวารา กล่าว “นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันประหลาดใจอย่างยิ่งกับการเริ่มต้นฐานะนักบวชของฉันเมื่อสี่ปีที่แล้ว ที่ได้รับจดหมายสนับสนุนจากปาร์ซีอินเดียกลุ่มเดียวกันนั้น พวกเขาถึงขนาดพิมพ์บทความลงในหนังสือพิมพ์อินเดีย และที่สภาระหว่างประเทศของชาวโซโรแอสเตอร์ด้วย”

เบห์ราด ชายหนุ่มผู้นับถือโซโรแอสเตอร์ ที่อ่านคัมภีร์เอวิสต้า คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวโซโรแอสเตอร์ด้วยหัวใจบ่อยครั้งเท่าที่เขาสามารถทำได้ เขาได้บอกกับ MEE ว่า “สังคมโซโรแอสเตอร์ยังรักษาระบบวรรณะไว้ โมเบดเป็นวรรณะสูงสุด หลังจากการรุกรานของอาหรับและการประหัตประหารที่ตามมาภายหลังจากนั้น โมเบดส่วนใหญ่ได้หนีไปยังอินเดีย”

“พวกเขาเป็นกลุ่มที่เก่าแก่มากที่สุด ที่ได้ใช้การอธิบายความหมายภาษาซาสซาเนียของคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เอวิสตา ที่จริงแล้ว ในสมัยของซาสซาเนีย ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายก่อนหน้าอิสลามในอิหร่าน พวกโมเบดมีอำนาจและได้ผสมผสานศาสนากับการเมืองเข้าด้วยกัน ด้วยการกำหนดกฎหมายประเภทเดียวกับกฎหมายชารีอะฮ์ หรือกฎหมายและหลักศีลธรรม ซึ่งทำให้เกิดหลักธรรมและกฎเกณฑ์ขึ้นในการอธิบายความหมายใหม่ของการอ่านซาราทุสตรา(Zarathustra)”

เบห์ราดกล่าวต่อไปว่า “หลังจากการรุกรานของอาหรับและการยกเลิกระบบวรรณะ พวกโมเบดที่สนับสนุนระบบวรรณะ ได้ลี้ภัยในอินเดีย เพราะฉะนั้นปาร์ซีในอินเดียส่วนใหญ่จึงยังคงเป็นโมเบด”

เขาบอกว่า ในอิหร่าน เรื่องนี้แตกต่างกัน

(ภาพ) การฉลองวันกาฮัมบาร์ ในวิหารแห่งเตหะราน
(ภาพ) การฉลองวันกาฮัมบาร์ ในวิหารแห่งเตหะราน

“หลังจากการปฏิวัติในปี 1979 ประชากรชาวโซโรแอสเตอร์ลดน้อยลงอย่างมาก ในหมู่บ้านห่างไกลหลายแห่ง ไม่มีโมเบดเหลืออยู่เลย และด้วยเหตุผลนี้ จำนวนของ “โมเบเดียร์” หรือผู้ช่วยนักบวช จึงได้เริ่มเพิ่มขึ้น”

“ในปี 2009 โมเบดโซรุชเพอร์จึงได้หยิบยกแนวคิดในเรื่องนักบวชหญิงขึ้นมากล่าวถึงที่สภาโมเบดในเตหะราน” เบห์ราดบอกกับ MEE

โมเบด โซรุสเพอร์ ประธานสภา สวมชุดขาวเพื่อประกอบพิธี กล่าวว่า “ระหว่างการศึกษาค้นคว้าของผม ผมสืบค้นลึกลงไปในบันทึก และพบว่าโรงเรียนสำหรับนักบวชนั้นรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผมก็เลยคิดว่าผมมีหน้าที่ที่จะต้องเขียนบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้และนำเสนอต่อสภา”

“กฎหมายชารีอะฮ์ไม่ได้วัฒนธรรมของเรา เราเชื่อในแนวคิดของ ฟราชกัต (frashkat) ซึ่งหมายถึงการฟื้นฟูและส่งเสริมค่านิยมของเรา” โมเบดโซรุสเพอร์ บอกกับ MEE

“แนวคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมของเรามาตลอด ในสมัยโบราณ จะมีนักบวชหญิง นักการเมืองหญิง นักรบหญิงมากมาย และมีมาจนถึงสมัยของซาสซาเนีย” เขากล่าว

“แต่หลังจากการรุกรานของอาหรับ สิ่งนี้ได้เปลี่ยนไป… ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศเป็นวาระสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่จะฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมาภายใต้สัญลักษณ์ของ ฟราชกัต” โดยเริ่มต้นจากสภาโมเบด

กำแพงแรกที่ต้องถูกแก้ไขก็คือตัวสภาเอง ที่ปัจจุบันยังเป็น “ร้านปิด” สำหรับผู้ชาย นับตั้งแต่เริ่มต้น ชาวโซโรแอสเตอร์ส่วนใหญ่ให้การยอมรับกับแนวคิดที่จะให้ผู้หญิงเคียงข้างกับผู้ชาย แต่ไม่ใช่โดยปราศจากข้อจำกัด
ระหว่างการเยือนของ MEE มีการกล่าวถึงเรื่องรอบเดือนของผู้หญิง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยได้ยินในศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวอื่นๆ มันเป็นหัวข้อสำคัญในวาระการประชุม

“โมเบดหัวโบราณส่วนใหญ่ยืนยันว่า ผู้หญิงไม่สามารถประกอบพิธีกรรมได้ในระหว่างมีรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเธอ ‘ไม่สะอาดบริสุทธิ์’” โมเบด โซรุชเพอร์ บอกกับ MEE “นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเธอไม่สามารถเป็นนักบวชได้อย่างเต็มตัวก่อนที่จะอายุ 50 หรือ 60 ปี แม้ว่าพวกเธอจะสามารถเป็นโมเบเดีย หรือผู้ช่วยนักบวชได้ก็ตาม”
ตัวโซรุชเพอร์เองคัดค้านความคิดนี้ ซึ่งเขาพบว่ามันคร่ำครึและเลือกปฏิบัติ

ในส่วนของโมเบดราชิน จาฮันกีรี ซึ่งเป็นแพทย์และเป็นนักบวชมาสองปี กล่าวว่า “ท่าทีหัวโบราณแบบนี้อาจจะต้องเปลี่ยนแปลง เพราะในโกทาห์ (Gotah) (เทียบเท่ากับเป็นภาคพันธสัญญาเดิม ในคัมภีร์เอวิสตาที่มีสองภาค) ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องรอบเดือนของผู้หญิงเลย”

“สิ่งเหล่านี้เป็นการอธิบายความหมายที่ล้าสมัยถอยกลับไปจนถึงยุคซาสซาเนีย ซึ่งเราไม่ควรจะถูกบังคับให้ปฏิบัติตามในศตวรรษที่ 21” เธอกล่าว พลางหันไปหาไฟ

“การดูแลไฟเป็นสิ่งที่โมเบเดียร์ถูกขัดขวางให้ทำ มันเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่โมเบดเท่านั้นจะสามารถทำได้”
ไฟที่ลุกไหม้อยู่ภายในวิหารในเมืองหลวงแห่งนี้ถูกนำมาจากแหล่งกำเนิดของศาสนาโซโรแอสเตอร์ นั่นก็คือ เมืองยัซด์ ในภาคใต้ของอิหร่าน

(ภาพ) ผู้ดูแลไฟในวิหารไฟ Chak Chak ใกล้เมืองยัซด์ หนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดสำหรับชาวโซโรแอสเตอร์ (MEE/Ines Della Valle)
(ภาพ) ผู้ดูแลไฟในวิหารไฟ Chak Chak ใกล้เมืองยัซด์ หนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดสำหรับชาวโซโรแอสเตอร์ (MEE/Ines Della Valle)

ในเมืองยัซด์ ยังคงมีวิหารของโซโรแอสเตอร์อยู่อีกหกแห่ง หอคอยแห่งความเงียบ (Towers of Silence) ที่ไม่ใช้แล้วตั้งอยู่แถวชานเมือง เมื่อ 50 ปีที่แล้วเมืองนี้ได้เห็นสถานที่แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นสุสาน

“ตามประเพณีของเรา ศพจะต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยปราศจากสิ่งที่เป็นมลพิษด้วยธาตศักดิ์สิทธิ์สี่อย่าง” ชานาห์นาซ ชาห์ซาดี ครูในโรงเรียนสอนโมเบดแห่งหนึ่งกล่าว

“ร่างของผู้ตายจะถูกวางลงบนแท่นหินและโลหะ เพื่อให้พวกเขาได้รับแสงของดวงอาทิตย์ ร่างของเขาถูกนำไปวางให้กับแร้ง และจะใช้กรดไนตริกเพื่อย่อยสลายกระดูกที่เหลืออยู่”

“เราเชื่อว่าธาตุเก้าชนิดที่ประกอบขึ้นเป็นมนุษย์จะอยู่กับร่างผู้ตายเป็นเวลาสามวัน ก่อนวันแห่งการพิพากษา ดังนั้น เป็นเวลา 30 ปีมาแล้วที่เราฉลองพิธีศพทุกปี และหลังจากนั้น วิญญาณทุกดวง แม้แต่วิญญาณของคนชั่ว จะได้กลับไปอยู่กับพระเจ้าในสวรรค์” เธอกล่าว

ถึงแม้จะอายุมากแล้ว แต่ชานาห์นาซก็รีบเดินนำไปตามเส้นทางที่ขึ้นไปยังหอคอยแห่งความเงียบ

“สิ่งที่ทำให้ศาสนานี้ยังมีชีวิตอยู่ก็คือผู้หญิง” เธอบอกกับ MEE “ตั้งแต่สมัยโบราณพวกเธอเป็นผู้ช่วยโมเบดในระหว่างพิธีการต่างๆ รวมทั้งดูแลไฟ แม้แต่ตอนนี้ ส่วนสำคัญที่สุดของพิธีต่างๆ เช่น การเตรียมอาหาร ก็ทำโดยผู้หญิง”

เธอบอกว่า ในสมัยซาสซาเนีย และหลังการรุกรานของอาหรับ “มันกลับเป็นไปไม่ได้ที่ผู้หญิงจะปฏิบัติพิธีกรรมในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม ในชุมชนโซโรแอสเตอร์ พวกเขาแอบปฏิบัติสิ่งเหล่านี้กันอย่างลับๆ”

(ภาพ) ภาพของซาราทุสตราบนแท่นบูชาที่วิหารไฟแห่งเมืองยัซด์ ระหว่างการฉลองกาฮัมบาร์ (MEE/Ines della Valle)
(ภาพ) ภาพของซาราทุสตราบนแท่นบูชาที่วิหารไฟแห่งเมืองยัซด์ ระหว่างการฉลองกาฮัมบาร์ (MEE/Ines della Valle)

วันก่อนหน้าที่ MEE จะมาเยือน โมเบดฟาริบาได้เป็นผู้หญิงคนแรกที่จัดพิธีเปิดวันกาฮัมบาร์ ในวิหารไฟเมืองยัซด์
“เมื่อฉันตัดสินใจจะเป็นนักบวช” เธอกล่าว “ฉันทำเพื่อแสดงให้เห็นว่า ศาสนานี้ต่อต้านสิ่งใดก็ตามที่เป็นการเลือกปฏิบัติ”

“ส่วนใหญ่จะเป็นคนสูงอาวุที่ไม่ชอบความคิดเรื่องนักบวชหญิงนี้” โมเบดเมอร์ฮาบาน ฟิรูซการี กล่าว

เคราสีขาวกลุ่มใหญ่ประดับรอยยิ้มที่ยับย่นของเขา ทำท่าเหมือนกับเด็กที่กำลังเล่าเรื่องหนึ่งให้พ่อแม่ฟังที่เขาคาดว่าจะต้องถูกลงโทษแน่ๆ

“บางทีนักบวชผู้ชายคงจะกลัวว่าจะมีคนเข้ามาแทรกแหล่งรายได้ของพวกเขาก็ได้”

“ถึงแม้จะปิดซ่อนการต่อต้านของพวกเขาไว้ แต่นักบวชส่วนใหญ่ก็เฉลิมฉลองและให้การต้อนรับนักบวชหญิงอย่างเปิดเผย เราเชื่อแน่ว่านี่เป็นอีกก้าวหนึ่งที่มุ่งไปสู่ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศภายในศาสนาโซโรแอสเตอร์” เขากล่าว พร้อมกับพาตัวเองออกจากโถงประกอบพิธี

 

แปลจาก http://www.middleeasteye.net