การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 นี้ ไม่ได้มีเฉพาะโอกาสทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีความท้าทายด้านอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม เริ่มเป็นที่จับตามองมากขึ้น โดยประเทศไทย มีรายได้จากการท่องเที่ยวมาเป็นอันดับหนึ่ง ประเทศไทยจึงต้องให้ความสนใจกับตลาดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมให้มาก รวมทั้งประเทศไทยมีศักยภาพในด้านสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย จนนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเที่ยวประเทศไทยจากทั่วโลก
ทั้งโลกมีประชากรมุสลิม 1.57 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23 ของจำนวนประชากรโลก โดยมุสลิมร้อยละ 20 อยู่ในทวีปเอเชีย ประเทศที่มีมุสลิมมากที่สุดในโลกคือ อินโดนีเซีย มีมากถึง 203 ล้านคน จากประชากรของประเทศ 243 ล้านคน มาเลเซีย 17 ล้านคน ปากีสถาน 174 ล้าน คนอินเดีย 161 ล้านคน บังกลาเทศ 145 ล้านคน ประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่รวมกัน 300 ล้านคน จีน รัสเซีย เยอรมนี มีมุสลิมอยู่ 22 ล้านคน 16 ล้านคน 4 ล้านคน ตามลำดับ
จากการวิจัยของ Crescentrating ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวแบบฮาลาลในสิงคโปร์ร่วมกับ DinarStandard บริษัทในสหรัฐฯ ที่ติดตามตลาดในวิถีชีวิตของมุสลิม พบว่า ปี 2554 นักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีมูลค่าตลาด 126,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าความต้องการจะเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 4.8 ต่อปีไปจนถึงปี 2563 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่คิดเป็นร้อยละ 3 และจำนวนชาวมุสลิมทั้งโลกจะเพิ่มจากตัวเลขปัจจุบัน 1,600 ล้านคน ไปเป็น 2,200 ล้านคนในปี 2573 คิดเป็นร้อยละ 26.4 ของประชากรโลก
AEC ในปี 2558 อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่สร้างรายได้เข้าสู่ไทย เพราะนอกจากอินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก แล้ว ยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนอีกด้วย โดยร้อยละ 20 ของจำนวนมุสลิมในประเทศ หรือ 40 ล้านคน จัดอยู่ในกลุ่มมีกำลังซื้อสูง นิยมที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ หลายประเทศพยายามที่จะเข้าไปเจาะตลาดนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซีย เพราะเห็นศักยภาพในกำลังซื้อ ประกอบกับเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังอยู่ในช่วงขาขึ้น GDP เติบโตที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี
จีนและญี่ปุ่นกำลังพุ่งเป้าไปยังตลาดนักท่อง เที่ยวมุสลิมในอินโดนีเซียเช่นกัน โดยจีนใช้กุ้ยหลินโมเดลในการเปิดตลาดท่องเที่ยวในประเทศมุสลิม เพื่อนำเสนอเส้นทางและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวมุสลิมใน ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมก่อตั้งเครือข่ายพันธมิตรการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดลูกค้ามุสลิมโดย เฉพาะ เตรียมดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหารสำหรับชาวมุสลิม
ส่วนญี่ปุ่นเน้นการรุก จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ทุกภาคส่วนเกี่ยวกับวัฒนธรรมมุสลิม การต้อนรับนักท่องเที่ยวมุสลิม จัดทำเว็บไซต์เกี่ยวกับวัฒนธรรมมุสลิม ให้ชาวญี่ปุ่นศึกษา โรงแรมในญี่ปุ่นได้เตรียมห้องละหมาดที่จัดทำอย่างถูกต้อง มีอาหารฮาลาลไว้บริการนักท่องเที่ยว มีรายชื่อร้านอาหารที่มีอาหารฮาลาล มีแผนพัฒนาธุรกิจอาหารฮาลาลสำหรับนักท่องเที่ยวในญี่ปุ่น รวมไปถึงการยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียเพื่อเพิ่มนักท่อง เที่ยวชาวมุสลิม
ประเทศไทยมีโอกาสเจาะนักท่องเที่ยวจาก อินโดนีเซียได้ จากปัจจัยบวก ทั้งการเดินทางที่ใกล้ สะดวก บินตรงได้ โดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเศษ ชาวอินโดนีเซียมีความนิยมชมชอบในอาหารไทย ประเทศไทยมีความหลากหลายของรูปแบบการท่องเที่ยว ราคาไม่แพง จากข้อมูลของสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวประเทศอินโดนีเซีย (อาซีต้า) ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวอินโดนีเซียเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมีอยู่ 200,000 คน ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก
แนวโน้มตลาดท่องเที่ยวมุสลิมอินโดนีเซียยังคง สดใสสำหรับประเทศไทย เพียงแต่จะต้องเข้าใจว่าการท่องเที่ยวอิสลามหรือการท่องเที่ยวเชิงชารีอะฮฺ มีความแตกต่างจากการท่องเที่ยวทั่วไป ตรงที่การท่องเที่ยวเชิงชารีอะฮฺ ไม่ใช่การเดินทางทางศาสนาหรือการเดินทางไปแสวงบุญ แต่คือการพักผ่อนและท่องเที่ยวที่เป็นไปตามหลักการอิสลาม เช่น อาหารและเครื่องดื่มจะต้องไม่มีเนื้อหมูและแอลกอฮอล์ การแยกผู้ชายผู้หญิงในงานหรือสถานท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวมุสลิมมีเงื่อนไข ความต้องการที่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวอื่นๆ เรื่องเสื้อผ้า อาหาร ที่พัก การเดินทาง การเลือกซื้อสินค้า ดังนั้น นักท่องเที่ยวมุสลิมจะกังวลในเรื่องการได้รับการความสะดวกด้านต่างๆ ในระหว่างท่องเที่ยว ว่าจะผิดหรือขัดต่อหลักศาสนาหรือไม่ ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับชาวมุสลิม ได้แก่ โรงแรมที่มีเครื่องหมายกิบลัต (บอกทิศทางของมักกะฮฺ) ป้ายบอกทางไปยังห้องละหมาด ผ้าปูละหมาด อาหารฮาลาล ห้องน้ำมีสายฉีดน้ำ และการท่องเที่ยวที่มีเวลาให้ละหมาดประจำวัน ประเทศไทยยังขาดความพร้อมในสิ่งเหล่านี้อยู่
ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการนักท่องเที่ยว จากตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม ควรจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริการนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม ศึกษาแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยนำโมเดลการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิมของจีนและญี่ปุ่นมาเป็นแบบอย่าง
นอกจากนี้ ภาครัฐจำเป็นจะต้องร่วมมืออย่างเต็มที่กับภาคเอกชน อาทิ โรงแรม ตัวแทนการท่องเที่ยว ร้านอาหาร วางแผนส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ อบรม ให้ความรู้กับภาคเอกชนเหล่านั้น เพื่อเตรียมพร้อมบริการนักท่องเที่ยวมุสลิม เพิ่มอาหารและสินค้า ฮาลาล มีไกด์ที่สามารถพูดภาษาอินโดนีเซียได้ให้เพียงพอ รวมทั้งสร้างแพคเกจทัวร์ที่มีโมเดลเป้าหมายต้อนรับนักท่องเที่ยวมุสลิมโดย เฉพาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ อย่างสบายใจ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมุสลิมรู้สึกว่า มาเที่ยวแล้วสะดวกเหมือนอยู่บ้าน และจากศักยภาพของประเทศไทย ถ้าโมเดลต้อนรับนักท่องเที่ยวของเราสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิม ได้ เชื่อได้ว่า เราสามารถเจาะตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิมได้อย่างแน่นอน
——–
เรียบเรียงจากข้อมูลวิจัย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)