ประเทศไทยครองอันดับ 7 ของโลก ด้านความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำ ปี 2567

สภาทองคำโลกเผยความต้องการทองคำทั่วโลกพุ่งทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่จำนวน 4,974 ตัน ขณะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นในปี 2567 ไทยเติบโตต่อเนื่อง

สภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาสที่ 4 และภาพรวมปี 2567 ระบุว่าความต้องการทองคำทั่วโลกทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4,974 ตัน โดยปริมาณการซื้อขายทองคำนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter: OTC) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันตลาดให้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ด้วยปริมาณ 39.8 ตัน เติบโตขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ธนาคารกลางซื้อทองคำมหาศาล ความต้องการลงทุนเพิ่มขึ้น

รายงานของสภาทองคำโลกระบุว่า ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนตลาดทองคำในปี 2567 คือการซื้อทองคำของธนาคารกลาง ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 1,000 ตัน เป็นปีที่สามติดต่อกัน โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 มีการเข้าซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 333 ตัน ทำให้ยอดรวมการซื้อทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปีอยู่ที่ 1,045 ตัน

ขณะเดียวกัน ความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนทั่วโลกเติบโตขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 1,180 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี แรงหนุนมาจากการฟื้นตัวของการลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำ โดยในไตรมาสที่ 4 กองทุน ETF ทั่วโลกเพิ่มปริมาณทองคำ 19 ตัน นับเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันที่มีการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนในสินทรัพย์ทองคำ

สำหรับประเทศไทย ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 14.6 ตัน เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ยอดรวมทั้งปีอยู่ที่ 39.8 ตัน สะท้อนถึงแนวโน้มการลงทุนในทองคำของไทยที่แข็งแกร่ง

ราคาทองคำพุ่งฉุดความต้องการทองเครื่องประดับ แต่ไทยยังคงแข็งแกร่ง

สภาวะราคาทองคำที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลก โดยปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับลดลง 11% อยู่ที่ 1,877 ตัน อย่างไรก็ตาม ตลาดไทยสามารถรักษาความต้องการไว้ได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ โดยปรับตัวลดลงเพียง 2% อยู่ที่ 9.0 ตัน ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจภายในประเทศ

คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลก ของสภาทองคำโลก ระบุว่า “ราคาทองคำที่สูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2567 ถือเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับตลาดอาเซียน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความแข็งแกร่ง โดยความต้องการทองคำเครื่องประดับลดลงเพียง 2% เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ลดลงถึง 11%”

ทองคำภาคเทคโนโลยีเติบโต ขณะที่อุปทานทั่วโลกทำสถิติสูงสุดใหม่

ทองคำในภาคเทคโนโลยีทำสถิติรายไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2564 โดยมีความต้องการ 84 ตัน การเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการทองคำในภาคนี้เพิ่มขึ้น 7% คิดเป็นปริมาณสุทธิรายปี 326 ตัน

ด้านอุปทานทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 4,794 ตัน จากทั้งการผลิตเหมืองแร่และการรีไซเคิลทองคำที่เพิ่มขึ้น

แนวโน้มปี 2568: ธนาคารกลางยังคงเป็นปัจจัยหลักของตลาดทองคำ

คุณหลุยส์ สตรีท (Louise Street) นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ในปี 2567 ราคาทองคำทำสถิติสูงสุดใหม่ถึง 40 ครั้ง โดยความต้องการจากธนาคารกลางยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่นักลงทุนในฝั่งตะวันตกเริ่มกลับมาสนใจทองคำอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนแนวโน้มในปี 2568 คาดว่าธนาคารกลางจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันตลาดทองคำต่อไป โดยเฉพาะหากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง”

สภาทองคำโลกมองว่าความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจมหภาคจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับการลงทุนในปีหน้า