หลัง จากที่ดร.ซุนยัดเซ็นนักปฏิวัติและผู้นำในการโค่นล้มอำนาจของราชวงศ์ชิงเมื่อ ปีค.ศ. 1911 เป็นช่วงเวลาที่เริ่มต้นเข้าสู่ระบบการศึกษาอิสลามแบบใหม่ในจีน ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะเกิดขึ้นมีชาวหุยไม่น้อยที่มีโอกาสเดินทางไป ร่ำเรียนในต่างแดน แม้ว่าการเดินทางในสมัยนั้นจะลำบาก แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสรรหาความรู้ของชาวหุยที่มีความมุ่งหวังในการ ร่ำเรียน นอกจาก MaJian ที่นำเสนอในตอนที่ผ่านมาแล้ว ยังมีบุคคลสำคัญของชาวหุยอีกไม่น้อย ที่มีบทบาทต่อสังคมโดยรวมของชาวหุย ในตอนนี้ใคร่นำเสนอบทบาทของ Na Zhong (1909-2008) และ Chen Guangyuan ( 1932- ปัจจุบัน)
Na Zhong (1909-2008) เกิดในครอบครัวชาวหุยที่หมู่บ้านNajiaying อำเภอ Tonghai มณฑลยูนนานเป็น นักการศึกษาทางด้านภาษาอาหรับที่สำคัญคนหนึ่งของจีน ปีค.ศ.1931 Na Zhong ได้รับทุนการศึกษาเพื่อเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัซฮัร ประเทศอียิปต์ การเดินทางในสมัยนั้นต้องออกเดินทางจากมณฑลยูนนาน เข้าสู่เวียดนาม นั่งเรือที่ฮ่องกง ผ่านสิงคโปร์ มะละกา ศรีลังกา อ่าวเปอร์เซีย เยเมน ทะเลแดง คลองสุเอซ ใช้เวลาในการเดินทางร่วม 51 วัน Na Zhong ได้เขียนบรรยายชีวิตระหว่างเดินทางได้อย่างละเอียด Na Zhong ใช้เวลา ในการเป็นนักศึกษาต่างชาติที่อียิปต์เป็นเวลา 10 ปี เขาเรียนจบในปี ค.ศ.1940 สาขาวิชาประวัติศาสตร์อาหรับและวัฒนธรรมอิสลาม
ระหว่างที่ Na Zhong เรียนที่อียิปต์ ในปีค.ศ. 1937 มีนักเทนนิสชาวจีนไปร่วมแข่งขันเทนนิสที่เมืองไคโร แต่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลงเป็น ‘ชาวญี่ปุ่น’ เป็นผู้เข้าร่วมแข่งขัน เมื่อ Na Zhong รู้แล้วจึงตามหานักกีฬาถึงโรงแรม เมื่อนักกีฬายืนยันว่าเป็นคนจีน พวกเขาจึงได้การจัดงานแถลงข่าว เพื่อแก้ไข ‘สัญชาติ’ ของนักกีฬาให้ถูกต้อง ซึ่งในงานแถลงข่าวครั้งนั้นทำให้ชาวอียิปต์รู้จักจีนมากขึ้น
หลังจากที่ Na Zhong เรียนจบ เขากลับประเทศเป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนสอนศาสนาระดับมัธยมในมณฑลยูนนาน เมืองฉงชิ่งและเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มุสลิมในสมัยนั้น ในปีค.ศ. 1958 ทางการเชิญNa Zhong เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอาหรับ ตามมหาวิทยาลัยที่สำคัญในปักกิ่ง และตั้งแต่ ค.ศ. 1962 เป็นต้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Na Zhong ได้ทุ่มเทให้กับผลงานทางด้านวิชาการที่เกี่ยวกับภาษาอาหรับ ประวัติศาสตร์ของกลุ่มประเทศอาหรับและวัฒนธรรมอิสลาม ระหว่างที่ Na Zhong สอนอยู่นั้น ตำแหน่งทางด้านวิชาการเขาคือศาสตราจารย์ เขาเป็นที่ปรึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
นอกจากงานเขียนแล้ว Na Zhong ยังมีผลงานแปลอีกไม่น้อย แม้ชีวิตหลังเกษียณของเขา เขาก็ไม่วายที่จะวางปากกาเพื่อหยุดเขียน เขาเป็นคนแรกที่เขียนแบบเรียนภาษาอาหรับระดับอุดมศึกษาที่สมบูรณ์และมีบทบาท มากที่สุด งานเขียนหนังสือและแบบเรียนของเขามีทั้งหมด 30 กว่าเล่ม งานแปลอีก 8 เล่มยังมีบทความตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ กว่า 200 เรื่อง โดยสรุปแล้วผลงานต่างๆ ของเขาเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการและในปี 2001 ได้รับรางวัลThe Sharjah Prize for Arab Culture จากองค์การ ยูเนสโก แต่เขาไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเองได้ เพราะตอนนั้นเขาอายุ 92 ซึ่งเป็นช่วงที่มีโรคภัยต่างๆ คุกคาม กระนั้นก็ตามเขาก็ยังมีความมุมานะในการเขียนหนังสือจนกระทั่งลมหายใจเฮือก สุดท้าย และสิ้นลมหายใจเมื่อวันที่ 24 เดือนมกราคม ค.ศ. 2008 อายุ 99 ปี
หลังจากที่จีนเปิด ประเทศแล้ว ชาวหุยเริ่มมีบทบาททางด้านต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่จีนเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก การติดต่อทางด้านต่างๆ กับกลุ่มประเทศอาหรับมีมากขึ้น แม้ว่าแต่ละมณฑลจะมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ของทางด้านธุรกิจอาหารฮาลาล แต่นโยบายหลักที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังคงมาจากส่วนกลาง และหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการประสานงานนี้คือ Chinese Islamic Association โดยที่ Chen Guangyuan เป็นหัวหน้าสมาคม ตั้งแต่ปีค.ศ. 2001-ปัจจุบัน
Chen Guangyuan เป็นชาวมณฑล เหอหนาน เกิดเมื่อปี ค.ศ.1932 เขาเติบโตใน ครอบครัวชาวหุยที่ยากจนตอนเป็นเด็กเขาไม่มีโอกาสเข้าเรียนใน โรงเรียน อาศัยความขยันและถามเพื่อนที่ได้เรียน จนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองเทียบเท่ากับเรียนจบชั้นประถมศึกษา เมื่ออายุได้ 12 ปี Chen ได้มีโอกาสเรียนศาสนาในมัสยิดแห่งหนึ่งของเมือง ShenYang เขาทุ่มเทและมีความมุมานะในการเรียนมาก ระหว่างเรียนนอกจากต้องเรียนภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียแล้ว เขายังเรียนตำราโบราณที่เป็นภาษาจีนด้วยตัวเองจนแตกฉาน ปีค.ศ. 1952 เขาสามารถสอบเข้าวิทยาลัยชาวหุยของเมืองปักกิ่งได้ ได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อที่ China Islamic Institute ด้วยผลการเรียนที่ดีเด่น เขาได้รับเป็นตัวแทนนักศึกษาพาคณะมุสลิมในจีน เยือนผู้นำประเทศซีเรียและอียิปต์ หลังจากที่เรียนจบเขาเป็นอีหม่ามในของมัสยิด Changping ที่ตั้งอยู่ชานเมืองปักกิ่ง ปีค.ศ. 1959 เขาย้ายไปเป็นอีหม่ามของมัสยิด Niujie ซึ่งเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงปักกิ่ง มีโอกาสเข้าร่วมคณะแสวงบุญเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1962
ระหว่างที่เกิด เหตุการณ์การปฏิวัติทางด้านวัฒนธรรมในค.ศ. 1966 – 1976 ช่วงระยะเวลานั้นมัสยิดต่างๆ ในจีนถูกสั่งปิด Chen Guangyuan ได้ย้ายไปประจำที่มัสยิด Dongsi ซึ่งเป็นมัสยิดเพียงแห่งเดียวที่นายกโจวเอินไหล ในสมัยนั้นคงให้เปิดไว้ รองรับการติดต่อกับโลกภายนอก หลังจากที่เหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง Beijing Islamic Association ได้ก่อตั้งขึ้น เขาได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าสมาคม และในปี ค.ศ.1980 เขาได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรระดับเขตของปักกิ่ง
ระหว่างเดือนธันวาคม ปีค.ศ.1991 ถึง เดือนมีนาคม ค.ศ.1992 Chen Guanyuan ได้นำคณะอิหม่ามจากจีน ให้ความรู้ทางด้านศาสนาเพิ่มเติมที่มหาวิทาลัยอัซฮัร ระหว่างนั้นนอกจากความมุมานะในการเรียนแล้ว Chen ยังเป็นตัวแทนในการเผยแพร่นโยบายทางด้านศาสนาของจีน วัฒนธรรมอิสลามในจีนและเขายังเป็นตัวแทนของคณะในการกล่าวขอบคุณในงานเลี้ยง ส่ง ด้วยความมุมานะและการใช้ภาษาอาหรับอย่างแตกฉานของเขา ทำให้สื่อมวลชนต่างๆ ที่เข้าร่วมงานต่างก็รู้สึกประทับใจ
ตลอดระยะเวลาที่Chen Guangyuan ดำรงตำแหน่ง เขามักจะพูดถึงเสมอว่า การเสริมสร้างความปรองดองและสามัคคีในชาตินั้น เป็นภารกิจหลักในการเชื่อมความสัมพันธ์ของ พี่น้องชนชาติต่างๆ ในจีน จะต้องผลักดันภารกิจต่างๆ ของศาสนาภายใต้กรอบของกฎหมายให้ได้มากที่สุด และดูเหมือนนโยบายทางด้านศาสนาของจีนนั้นมีความครอบคลุมไม่น้อย Chen Guangyuan เคยกล่าวว่า “การแก้ปัญหาพื้นฐานของผู้ประสานงานทางด้านศาสนาเป็นเรื่องที่พึงปฏิบัติ อย่างเร่งด่วน เพราะพวกเขานั้นมีหน้าที่เชื่อมและเผยแพร่ความรู้ทางด้านนโยบายและศาสนาแก่ ประชาชน ดังนั้นจะต้องรีบผลักดันปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่มีความสำคัญกับการดำรงชีพของเขา ยามเจ็บป่วยมีที่รักษา เมื่อแก่เฒ่ามีคนเลี้ยงดู ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่วนกลางสนับสนุน”
จากตัวอย่าง นโยบายของ Chen ข้างต้น เราจึงสามารถมองเห็นความฉลาดในการวางนโยบายทางด้านศาสนาของเขา เขาจึงสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 3 สมัย และระหว่างดำรงตำแหน่งเขามีผลงานและนโยบายลักษณะเดียวกันนี้ไม่น้อย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
http://saadtie.blog.sohu.com/77852441.html
http://www.musilin.net.cn/2010/0313/34661.html
http://70th.bfsu.edu.cn/70beiwai/people/2011/0607/124.html
http://www.cctv.com/oriental/dfzz/jmnr/20020322/26.html
http://www.nxnews.net/hz/system/2011/08/15/010027543.shtm
http://www.2muslim.com/forum.php?mod=viewthread&tid=3158
อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
nisareen@mfu.ac.th