สมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตอิหร่าน จัดเลี้ยงละศีลอด และกิจกรรมเนื่องในวันอัลกุดส์สากล ปี 2559 เพื่อสนับสนุนสิทธิอันชอบธรรมของมุสลิมในปาเลสไตน์
เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2559 เวลา 16.00 – 20.00 น. ที่โรงแรมอัลมีรอซ ถนนรามคำแหงซอย 5 กรุงเทพฯ สมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน โดย ซัยยิดมุบาร็อก ฮูซัยนี นายกสมาคมฯ ร่วมกับ ศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน โดย มร.โมฮัมหมัด เรซา เซนาลี อุปทูตวัฒนธรรมฯ ได้จัดเลี้ยงละศีลอด และจัดกิจกรรมเนื่องในวันอัลกุดส์สากล ปี 2559 หรือ Intenational Quds Day 2016 เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวไทยมุสลิมในการยืนหยัดเคียงชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกยึดครองดินแดนจากอิสราเอล โดยงานนี้มีประชาชนชาวไทยเข้าร่วมงานกว่า 500 คน
ภายในงานนอกจากมีการเลี้ยงละศีลอดแล้ว ยังมีการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “อะไรที่เรา ควรรู้เกี่ยวกับปาเลสไตน์” (What we need to know about Palestine?) โดยวิทยากรผู้มีชื่อเสียงได้แก่ ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี นักการศาสนา ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี และประธาน มูลนิธิอัลมะฮ์ดี (ประเทศไทย), ผศ.ดร.นิรันดร์ พันทรกิจ อาจารยประจำคณะสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, และ อ.อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
สำหรับวัน “อัลกุดส์” นั้นถูกสถาปนาขึ้นโดยอิมามโคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน ในปี ค.ศ.1979 (พ.ศ.2522) โดยได้ประกาศให้วันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอนอันศักดิสิทธิ์เป็นวันแห่งการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวมุสลิมทั่วโลก ในการสนับสนุนสิทธิอันชอบธรรมของมุสลิมในปาเลสไตน์ ซึ่งหลังจากนั้นในทุกๆ ปีมุสลิมก็ได้ขานรับการประกาศดังกล่าว โดยมีการเดินขบวนแสดงพลัง และจัดงานรำลึกทั่วโลก
อนึ่งก่อนหน้านี้ ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 13.00 น. ชาวมุสลิมไทยในนาม “สมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทย” ได้รวมรวมตัวที่หน้าธนาคารอิสลาม สาขาอโศก และเคลื่อนขบวนไปที่สถานทูตอิสราเอล อาคารโอเชียนทาวน์เวอร์ ถนนสุขุมวิท ซอย 19 เนื่องในวันอัลกุดส์สากล ซึ่งถือเป็นวันแห่งการปลดปล่อยและทวงคืนมัสยิดอัลอักซอ ที่ตั้งอยู่ในนครเยรูซาเล็ม
โดยระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดกันผู้ชุมนุมไม่ให้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าอาคารสถานทุตอิสราเอล ก่อนเข้าจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมราว 4 คนขึ้นรถควบคุมตัว โดยต่อมาแกนนำเข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อ ขอให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว และในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อรองโดยนำตัวผู้ชุมนุม 20 คนไปทำประวัติว่ากระทำผิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ จากนั้นผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกันกลับ