“ชา” เป็นไม้ยืนต้น ที่เชื่อกันว่ามีแหล่งกำเนิดมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีหลักฐานการค้นพบต้นชาสายพันธุ์ดั้งเดิมหลายสายพันธุ์ ที่เป็นพืชพื้นเมืองประจำถิ่นของมณฑลยูนนาน (Yu & Lin, 1987) และมีการแพร่กระจายของแหล่งเพาะปลูกไปยังประเทศทางเอเชียตะวันออก รวมถึงประเทศญี่ปุ่น
ชาเป็นพืชกึ่งร้อนที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตอบอุ่นและมีฝน ปลูกได้ดีที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 200-2,000 เมตร ต้นชาเมื่อเจริญเติบโต “ตามธรรมชาติ” อาจมีความสูงถึง 10-15 เมตร แต่ในการนำมาเพาะปลูกมักมีการตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่ม จะรักษาระดับความสูงประมาณ 0.6-1.0 เมตร เพื่อความสะดวกในการเก็บใบชานั่นเอง
จากจีนสู่อินเดีย…ถึงดอยสูงของไทย
รู้จักที่มาของชากันพอสังเขปแล้ว ลองมาดู “ชาชื่อดังติดอันดับโลก” กันบ้าง โดยเฉพาะชาจีน ผู้เป็นเจ้าแห่งต้นตำรับชา และชาอินเดีย ที่คอชาทั่วโลกนิยมดื่มกันอย่างแพร่หลาย (ชาอินเดียมีอยู่ 3 ชนิด คือ ชาอัสสัม ชาดาร์จิลิ่ง และชานิลคีรี)
โดยเฉพาะ “ชาอัสสัม” นั้นเป็นที่นิยมจนแพร่หลายเข้ามาปลูกในไทย ชาอินเดียพันธุ์นี้ถูกค้นพบที่รัฐอัสสัมเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1823 เกือบๆ สองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐอัสสัมเป็นรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อถูกค้นพบ อุตสาหกรรมชาในแถบนี้ก็เจริญรุ่งเรืองและเติบโต โดยเจ้าของไร่ชาส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของอินเดียในขณะนั้น กอปรกับสภาพพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ทำให้สามารถปลูกชาได้งอกงามดี
ชาอัสสัม นั้นถูกเรียกอีกหลายชื่อ อย่าง “เมี่ยง” หรือ “ชาป่า” หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var. assamica ลักษณะเด่นของใบชาอัสสัมคือ ขนาดใบชาที่ใหญ่กว่าชาสายพันธุ์จีน เจริญเติบโตได้ดีตามป่าที่มีร่มเงาไม้ และแสงแดดลอดผ่านได้พอประมาณ ชาอัสสัมในเมืองไทยส่วนมากมักพบบนเขตพื้นที่สูง หรือบนดอยต่างๆ ในเขตจังหวัดภาคเหนือของไทย ใบชาที่ได้จากแหล่งดังกล่าวนี้ถือว่ามีคุณภาพดีเยี่ยม
(อ้างอิงข้อมูลทางวิชาการจาก : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง )
ชาป่า-ชาอัสสัม-ชาแม่แสะ
“เอนก นิมิตภาคภูมิ” กูรูด้านชา เจ้าของไร่ชาอู่หลงที่ ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง ให้ข้อมูลเรื่องของใบชา ทั้งความแตกต่างของชาแต่ละชนิดที่ผู้คนนิยมดื่มกัน อย่างชาอู่หลง ชาอัสสัม หรือชาผู่เอ๋อ อันเลื่องชื่อที่ชาวจีนมณฑลยูนนานเรียกขานกัน โดยบังเอนกอธิบายว่า ชาแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ตามกรรมวิธีการทำใบชา นั่นคือ 1.ชาดำ (Black Tea) 2.ชาจีน หรืออู่หลง (Oolong Tea) และ 3.ชาเขียว (Green Tea) ดังนั้นชาต้นเดียวกันอาจนำมาทำชาได้ทั้งสามประเภท เมื่อเก็บใบชาจากต้นมาแล้วต้องมาผ่านกระบวนการผึ่ง อบ หรือนวด สำหรับในเมืองไทยนั้นมีการปลูกชากันอยู่ 2 สายพันธุ์หลักคือ ชาอัสสัม และ ชาอู่หลง
โดยชาอัสสัมนั้นจะปลูกตามธรรมชาติ เรียกได้ว่าเป็นการทำเกษตรอินทรีย์หรือเป็นออร์แกนิคขนานแท้ เพราะขึ้นเองตามป่าตามดอย ไม่ต้องดูแลมากมาย เช่นที่ “แม่แสะ” อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีการปลูกชาอัสสัมแบบออร์แกนิค ซึ่งให้ผลผลิตใบชาที่มีคุณภาพ
คุณดารา เกียรติกรัณย์ เจ้าของโรงงานชาหอมแม่แสะ และแบรนด์ “ชาหอมดอยสามหมื่น” กับ “บังเอนก นิมิตภาคภูมิ” กูรูด้านชาและเจ้าของไร่ชาอู่หลง ต.เทอดไท
“ดารา เกียรติกรัณย์” เจ้าของโรงงานชาหอมแม่แสะ และแบรนด์ “ชาหอมดอยสามหมื่น” ชาคุณภาพเยี่ยมที่มาจากโรงผลิตชาแห่งนี้ ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยตำนานชาหอมของที่นี่เริ่มจากโรงบ่มใบชาหลังคามุงตองตึง นานนับครึ่งศตวรรษมาสู่การสืบต่อโรงงานผลิตใบชาหอม จากไร่ชา 200 กว่าไร่ใน ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง ปัจจุบันโรงงานใบชาแห่งนี้ยังคงดำเนินการผลิตและได้รับความนิยมในหมู่นักดื่มชาที่ชื่นชอบในรสชาอัสสัมแท้ ตามมาตรฐานการผลิตใบชาคุณภาพสูง โดยปลูกแบบธรรมชาติท่ามกลางภูมิอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีในบริเวณนี้ จึงให้คุณภาพของใบชาที่โดดเด่น กลิ่นและรสชาที่หอมกรุ่นติดจมูก ให้รสชาติเข้มข้นติดปลายลิ้น หลายโรงงานหลากแบรนด์ชาจะมารับใบชาคุณภาพเยี่ยมจากโรงงานใบชาของเจ้ดารา นำไปผลิตเป็นชาแบรนด์ต่างๆ ทั้งจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ
โรงงานชาแม่แสะ แห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนสายแม่แสะ-ปาย เมื่อขับรถมาตามเส้นทางนี้จะเห็นร้านข้าวซอย ข้าวหมกไก่ ซุปหางวัว ชื่อร้าน “ข้าวซอยเจ้ซิง” ที่อร่อยขึ้นชื่อลือชา นักท่องเที่ยวสามารถแวะพักจิบชาหอมกรุ่น และอิ่มอร่อยกับอาหารมุสลิมพื้นถิ่นอย่าง ข้าวซอย หรือ ข้าวมันไก่สไตล์ยูนนาน หรือจะซื้อชาหอมดอยสามหมื่นไปเป็นของฝากก็ไม่ควรพลาด นอกจากนี้เจ้ดารา หรือเจ้ซิงยังมีผลิตภัณฑ์ “มัน ดารา” มันฝรั่งดอยแสนอร่อยจำหน่ายด้วย สนใจสอบถามเส้นทางหรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ชาหอมแม่แสะและดอยสามหมื่น ได้ที่ โทร.087 1812001
ผลิตภัณฑ์ชาหอมดอยสามหมื่น มีจำหน่ายที่ร้านข้าวซอยเจ้ซิง ริมเส้นทางแม่แสะ-ปาย
อิ่มอร่อยเมนูเด็ดร้านเจ้ซิง ตบท้ายด้วยชาหอมรสเข้มข้น