บทบาทนักศึกษากลุ่ม “สลาตัน” ยุค 14 ตุลา 16 (ตอนที่ 1)

คำว่า “กลุ่มสลาตัน” เป็นชื่อที่สื่อมวลชนช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรียกขานนักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่จังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา ที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างฯในกรุงเทพฯซึ่งชื่อเต็มของนักศึกษากลุ่ม นี้ คือ ชุมนุมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิมสลาตัน แกนนำหลักของนักศึกษากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ได้รับสิทธิพิเศษและทุนการศึกษาตามโครงการของกระทรวงมหาดไทย เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยวิธีสอบคัดเลือกของแต่ละจังหวัด ซึ่งนักเรียนต้องมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นๆ เป็นนโยบายสมัย จอมพล “ถนอม กิตติขจร” เป็นนายกรัฐมนตรี และ “จอมพล ประภาส จารุเสถียร” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

โครงการสิทธิพิเศษเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของกระทรวงมหาดไทยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้น เนื่องจากมีกองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มก่อเหตุการณ์รุนแรงอยู่เป็นประจำ เช่น จับคนเรียกค่าไถ่ ลอบวางเพลิงโรงเรียน ลอบซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯ การก่อเหตุร้ายต่างๆ มีผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ ทำให้รัฐบาลสมัยนั้นเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ขบวนการโจรก่อการร้าย หรือเรียกชื่อย่อว่า ขจก. แม้ว่ารัฐบาลสมัยนั้นจะเป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่ยังมีหลักคิดอยู่ว่าการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องแก้ด้วยคนในพื้นที่อาศัยมิติทางกางการเมืองการปกครอง ดังที่ จอมพล ประภาส จารุเสถยร กล่าวคำให้โอวาทกับนักศึกษารุ่นแรกของโครงการปี 2514 ณ ห้องประชุมกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผู้เขียนร่วมฟังอยู่ด้วย ความว่า ” ที่ฉันเลือกให้พวกเธอเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับสูงต่างๆนี้ เพื่อให้พวกเธอจบการศึกษาแล้ว กลับไปปกครองพวกเธอกันเอง ”

ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยสมัยนั้น แต่ละสถาบันมีชมรมนักศึกษามุสลิมอยู่แล้ว แต่บทบาทที่มีต่อสังคงคมภายนอกยังไม่เป็นที่ประจักษ์นัก บทบาทส่วนใหญ่ของนักศึกษามุสลิมกลับเป็นของ สมาคมนิสิตนักศึกษไทยมุสลิมแห่งประเทศไทย มีสำนักงานอาศัยอยู่ใน สมาคมสหายมุสลิม ตั้งอยู่ ถนนสุโขทัย เขตพระนคร กทม. อันเป็นศูนย์รวมของชมรมนักศึกษมุสลิมสถาบันต่างๆ บทบาทอันโดดเด่นของสมาคมแห่งนี้ ได้แก่ กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทในจังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่ที่เป็นชุมชนหมู่บ้าน มุสลิมที่ทุรกันดารห่างไกลความเจริญ เช่น ขาดแคลนโรงเรียน ไฟฟ้า บ่อน้ำบาดาล สะพาน ถนนหนทาง เยาวชนขาดความรู้และเข้าใจการรวมกลุ่มที่จะรับใช้สังคม ฯ สมาคมฯจึงได้รับสมัครนักศึกษามุสลิมตามชมรมฯในสถาบันการศึกษต่างๆเพื่อเป็น ชาวค่ายในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน งานค่ายอาสาพัฒนาเป็นความรู้นอกตำราเรียน ใครก็ตามถ้าได้ผ่านงานค่ายฯของสมาคมฯตลอดระยะเวลา 30 วัน แล้ว ผู้นั้นจะได้รับการฝึกฝนเป็น “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม” ที่ดี เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปทำงานสู่สังคมภายนอกแล้ว มักจะประสบผลสำเร็จในอาชีพการงานมีอนาคตอัดสดใสเกือบทุกคน

ผู้เขียนได้สมัครเป็นสมาชิกชาวค่ายฯของสมาคมฯ ในปี 2515 คือ ค่ายฯ บ้านบาโงมาแย ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ในค่ายฯแห่งนี้ได้รู้จักกับ นายชูศักดิ์ มณีชยางกูร หรือ เซ็ง บ้านทอน เป็นนักศึกษารุ่นพี่เรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการที่ได้ทำงานร่วมทุกษ์ ร่วมสุข สนุกสนานด้วยกันนับเป็นแรมเดือนในฐานะชาวค่ายฯ ทำให้เกิดความคิดว่า จะทำอย่างไรให้นักศึกษามุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาในกรุงเทพฯได้มีโอกาสร่วมงานค่ายฯของสมาคมใน ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนมากขึ้น

หลังจากเสร็จงานค่ายฯบ้านบาโงมาแยแล้ว มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมงานค่ายฯในปีต่อไป ผู้เขียนได้เป็นกรรมการเตรียมงานค่ายฯกับเขาด้วยคนหนึ่ง แม้ได้ทำกิจกรรมและประชุมหารือเตรียมงานค่ายฯที่สมาคมนักศึกษามุสลิมบ่อยๆ แต่ก็ไม่ค่อยได้พบเห็นนักศึกษาที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมงานกับสมาคมเท่าใดนัก ทั้งๆที่สมาคมแห่งนี้คนที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งเพื่อเป็นศูนย์รวมของ นักศึกษามุสลิมที่จะทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมได้แก่ นายสุพจน์ พันธ์พฤษเมธา เป็นชาวโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเป็นปัญญาชนมุสลิมรุ่นบุกเบิกทำกิจกรรมงานค่ายอาสาพัฒนาจนมีชื่อเสียง เป็นที่กล่าวขวัญในสังคมไทย แต่เขาได้เสียชีวิตอย่างปริศนา ถูกประทุษร้ายโดยคนร้ายที่ไม่รู้ว่าเป็นใครใช้ไม้เป็นอาวุธทุบตีจนเสียชีวิต แต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า เป็นแผนเด็ดยอดไม้ที่กำลังโตวันโตคืนในสังคมมุสลิมของผู้มีอำนาจในสมัยนั้น

แม้นว่าจะพบปะกับนักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงไม่กี่คน เราก็ได้ปรารภแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมัยนั้น นอกจากปัญหาทางด้านการศึกษาที่รัฐบาลยังบริการไม่ทั่วถึง ทำให้เด็กวัยรุ่นตามชนบทขาดโอกาสทางการศึกษา และความล้าหลังด้านการพัฒนาแทบทุกด้านแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องประชาชนไม่ได้รับความธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้า หน้าที่รัฐ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่บ่อยๆ ซึ่งปัญหานี้อยู่นอกกรอบวัตถุประสงค์ของสมาคมนักศึกษามุสลิมที่จะนำเข้าไป เป็นภาระได้ เพราะขัดกับวัตถุประสงค์อยู่ข้อหนึ่งว่า สมาคมฯจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ดังนั้นความคิดในเรื่องจะนำปัญหาประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมมาสู่การ พิจารณาของสมาคมฯไม่อาจกระทำได้แล้ว ทำให้เกิดความคิดในเรื่องการจัดตั้งองค์กรนักศึกษที่ไม่ต้องจดทะเบียนเป็น นิติบุคคลขึ้นมาเคลื่อนไหวแทน อันเป็นที่มาของการจัดตั้งชมรมนิสิตนักศึกษามุสลิมสลาตัน หรือชื่อที่สื่อมวลชนมักเรียกจนติดปากว่า ” กลุ่มสลาตัน ” ความคิดร่วมในการที่จะรับใช้สังคมบ้านเราเกิดขึ้นแล้ว ประมาณปลายปี 2515 ได้มีการประชุมนักศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนหนึ่งที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายหลังจากการปรึกษาหารือในหมู่แกนนำนักศึกษา 2-3 ครั้งที่ผ่านมาว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรมีการจัดตั้งชมรมนักศึกษาเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นปากเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ ถูกข่มเหง รังแก จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในวันนั้นได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชมรมฯชุดแรกได้แก่ นายชูศักดิ์ มณีชยางกูร เป็นประธาน นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ เป็นรองประธาน นายธีระ มินทราศักดิกุล( นามสกุลขณะนั้น ) เป็นเลขานุการ นายพีรยศ ราฮิมมูลา เป็นประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

นับตั้งแต่กลุ่มสลาตันได้ก่อตั้งขึ้นมากิจกรรมของกลุ่มฯยังไม่ได้ทำอะไรเป็นกิจจลักษณะเท่าใดนัก เพราะสมาชิกของกลุ่มที่เป็นนักศึกษาตามสถาบันต่างๆ มัวแต่ร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เพราะประเทศญี่ปุ่นเอารัดเอาเปรียบไทยทางด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯภายใต้การนำของ นายธีรยุทธ บุญมี เลขาธิการฯ ได้เริ่มนโยบายชาตินนิยม รณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้สินค้าไทย การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาเริ่มยกระดับขึ้นอย่างเข้มแข็ง จนถึงเมื่อวันที่ 20-22 มิถุนายน 2516 มีการประท้วงกรณีมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ได้รับการกดดันจากรัฐบาลเผด็จการให้ สั่งลบชื่อนักศึกษา 9 คน ที่คัดค้านการล่าสัตว์ป่าของคณะข้าราชการทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในเขตป่า สงวนที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี และได้บานปลายไ่ปถึงให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงชื่อ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ออกจากตำแหน่ง พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนประเด็นนี้เองเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516 ตำรวจสันติบาลได้เข้าจับกุมผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญจำนวน 13 คน โดยตั้งข้อหาว่า 1. ชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คน 2. ยุยงให้เกิดขบถในราชอาณาจักร 3. มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

สถานการณ์การเมืองในขณะนั้นเข้าขั้นวิกฤต มีการชุมนุมของนักเรียน นักเรียนอาชีว นิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ร่วมกับนักวิชาการและประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายจัดขบวนประท้วงรัฐบาล ออกไปยังท้องที่ต่างๆบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งเวทีปราศรัย ณ ท้องที่สนามหลวงใกล้ๆกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสมาชิกลุ่มสลาตันที่ศึกษาอยู่ในแต่ละสถาบันต่างได้ร่วมมือกับองค์กรภายในมหาวิทยาลัยที่ตัวเองได้ศึกษาเรียกร้องรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

จนในที่สุดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญอันเป็นกติกา ระบอบประชาธิปไตยประชาธิปไตยภายใต้การนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ทวีความร้อนแรงขื้นจนถึงกับรัฐบาลตบะแตกสั่งการให้ทหารและตำรวจใช้กำลังอาวุธปราบปราบสลายขบวนการนักเรียน นักศึกษา และประชาชน จนเกิดโศกนาฏกรรมในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นที่มาคำว่า ” วันมหาวิปโยค ” เป็นวันสิ้นสุดของรัฐบาลคณะเผด็จการทหารทรราชลง และประเทศไทยได้มีรัฐบาลพระราชทาน โดย มีฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานองค์มนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย