วิเคราะห์ : ชาร์ลี เอบโด, ลัทธิล่าอาณานิคม และขอบเขตของเสรีภาพในการพูด

บรรดาผู้นำโลกกำลังเข้าร่วมแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับกระแส “Je suis Charlie” (ฉันคือชาร์ลี) ถึงแม้ประวัติเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูดของพวกเขาเองในบางกรณียังน่าสงสัย และน่าตำหนิ

(ภาพAP) นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ไปเยี่ยมตลาดโคเชอร์ที่ตัวประกันสี่คนถูกสังหาร ในปารีส ฝรั่งเศส เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มกราคม 2015

 

นิตยสารล้อเลียน ชาร์ลี เอบโด ของฝรั่งเศส ได้กลายเป็นสิ่งที่มีความหมายเหมือนกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไปตั้งแต่มือปืนชาวฝรั่งเศสเชื้อสายอัลจีเรียเข้าไปในสำนักงานของนิตยสารดังกล่าวในกรุงปารีส และสังหารเจ้าหน้าที่ของนิตยสารไป 12 คน เมื่อวันที่ 7 มกราคม

ด้วยวาทะกรรมที่มุ่งเน้นอยู่กับ “ภัยคุกคามของอิสลาม” – โดยเฉพาะเมื่อเป็นวาทะกรรมของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล – การบรรยายเรื่องอย่างเป็นทางการส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะกล่าวถึงลูกจ้างชาวมุสลิมที่ตลาดโคเชอร์ ผู้ซึ่งช่วยพาชาวยิวไปซ่อนตัวในห้องเย็นระหว่างเกิดเหตุ และเจ้าหน้าที่ตำรวจมุสลิมผู้ซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บคนแรกจากเหตุการณ์ยึดสำนักงานระหว่างที่เขาพยายามจะปกป้องนิตยสารนี้จากผู้จู่โจม

การโจมตีสำนักงานของนิตยสารดังกล่าวและตลาดโคเชอร์ ซึ่งได้รับการประณามจากนานาชาติ เป็นการลงมือของสมาชิกสี่คนของกลุ่มที่เชื่อมโยงกับอัล-กออิดะฮ์ในเยเมน เพื่อเป็นการแก้แค้นภาพล้อเลียนศาสดามุฮัมมัดไปในทางเสียหายของนิตยสารล้อเลียนฉบับนี้

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับการยกย่องจากตะวันตกว่าเป็นองค์ประกอบโดยธรรมชาติของค่านิยมแบบประชาธิปไตย มันมีกิ่งก้านสาขาที่ถูกปิดบังด้วยการแยกเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันออกจากลัทธิล่าอาณานิยมในประวัติศาสตร์ การล้อเลียนในหนังสือพิมพ์ที่คนทั่วไปมองว่าเป็นสื่อในการวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครองได้ถูกชาร์ลี เอบโด นำมาใช้ในลักษณะที่มุ่งเป้าไปยังชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อเพิ่มผลประโยชน์แต่นิตยสาร และเพื่อการสนับสนุนสภาพการณ์ยุยงส่งเสริมและสร้างความปั่นป่วนในปัจจุบัน

การเติมเชื้อไฟให้กับการเกลียดกลัวอิสลามเป็นพิเศษ ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงรูปแบบธุรกิจที่อยู่ได้ด้วยการเงินของชาร์ลี เอบโด ซึ่งเป็นประเด็นที่สื่อละเลยไป ก่อนเกิดเหตุสังหารนั้น นิตยสารฉบับนี้จวนจะล้มละลายอยู่แล้ว โดยขายได้เพียงครึ่งของยอดพิมพ์ในแต่ละสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม มันได้ค้นพบตั้งแต่นั้นว่ามันสามารถงัดเอาโรคเกลียดกลัวอิสลามขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างเงินได้ หลังเหตุสังหาร สื่อเสียงอันกระฉ่อนของนิตยสารฉบับนี้ทำให้มันสามารถกอบกู้ฐานที่ยืนทางการเงินของมันกลับมาได้ ซึ่งเป็นหลักประกันเงินทุนที่มั่นคง ในนามของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเริ่มต้นด้วยยอดพิมพ์ 3 ล้านฉบับสำหรับนิตยสารฉบับล่าสุดของมัน

ด้วยการแสดงตัวเป็นตัวอย่างของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ชาร์ลี เอบโด ใช้การตีพิมพ์ฉบับแรกหลังเกิดเหตุของมันเป็นโอกาสในการแสดงภาพล้อเลียนศาสดามุฮัมมัดอีกภาพหนึ่ง เมื่อมันเข้าสู่แอพ newsstands เมื่อวันพุธ หน้าปกของมันแสดงภาพศาสดามุฮัมมัดกำลังถือป้ายข้อความ “Je suis Charlie” ซึ่งเป็นคำขวัญที่กลายเป็นการแสดงออกระดับสากลเพื่อสนับสนุนเหยื่อในการโจมตีนั้น ด้านบนของเขา มีข้อความว่า “ทุกคนได้รับการอภัย”

 

ประวัติของการ์ตูนที่สร้างความโกรธแค้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาร์ลี เอบโด ตกเป็นเป้าโจมตีเนื่องจากการเย้ยหยันบุคคลสำคัญทางศาสนาอย่างไม่น่าชม ที่ตั้งของนิตยสารฉบับนี้เคยถูกยิงระเบิดมาแล้วหลังจากตีพิมพ์ภาพล้อเลียนศาสดามุฮัมมัดไปทางเสียหายคล้ายกันนี้เมื่อปี 2011

ภาพล้อเลียนศาสดามุฮัมมัดในปีต่อมา ทำให้มีแถลงการณ์จากนายกรัฐมนตรี ฌอง-มาร์ค เอโรลต์ ของฝรั่งเศส

“ในสภาพการณ์ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีปรารถนาที่จะเน้นถึงความไม่พอใจต่อความเลยเถิดทั้งปวง และเรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติตัวอย่างมีความรับผิดชอบ”

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องให้ประพฤติตัวอย่างมีความรับผิดชอบนี้กลับไม่มีใครสนใจ ไม่นานหลังจากการลักพาตัวเด็กสาววัยรุ่นของโบโก ฮารัม ชาร์ลี เอบโด ได้ตีพิมพ์ภาพประกอบหน้าหนึ่งในเดือนตุลาคม เป็นภาพล้อเลียนเกี่ยวกับเรื่องทางเพศและสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกตะวันตก โดยพาดพิงเป็นพิเศษไปที่บรรดาผู้รับผลประโยชน์ในความเป็นอยู่ และเติมเชื้อไฟให้กับความอคติและอุปาทานในความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นให้มีมากยิ่งขึ้น
[quote_right]CHARLIE-HEBDO.0[/quote_right]

อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้เสรีภาพในการพูดอย่างชัดแจ้งของนิตยสารฉบับนี้ก็คือ การ์ตูนล้อเลียนการสังหารหมู่ผู้ประท้วงชาวอียิปต์ที่เป็นคำสั่งการโดยนายพลอับดุล-ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์

ภาพล้อเลียนที่เย้ยหยันอิสลามหรือ หรือภาพวาดศาสดามุฮัมมัด ได้รับการแก้ต่างให้ด้วยคำว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่การปกป้องอย่างเดียวกันนี้ไม่ครอบคลุมถึงทุกคนที่ทำงานอยู่ที่ชาร์ลี เอบโด มอรีส ซีเน็ต ผู้เขียนคอลัมน์ที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการยั่วยุให้เกิด “ความเกลียดชังทางชาติพันธุ์” ถูกไล่ออกด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านยิวในปี 2009 กลุ่มคนชั้นปัญญาชนสนับสนุนการตัดสินใจไล่ซีเน็ตออกของนิตยสารนี้ หนึ่งในนั้นคือศาสตราจารย์เบอร์นาร์ด-เฮนรี่ เลวี่ บุคคลเดียวกันกับผู้ที่ผลักดันให้นาโต้เข้าแทรกแซงในลิเบีย

ในวันเดียวกันกับที่ชาร์ลี เอบโดถูกโจมตี นักรบของโบโก ฮารัม ได้ทำการโจมตีในไนจีเรีย ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตประมาณ 2,000 คน อย่างไรก็ตาม สื่อกลับทุ่มเทไปกับการคลี่คลายเหตุการณ์ในปารีส และปฏิกิริยาของบรรดาผู้นำโลกที่มีต่อการกราดยิงครั้งนี้ ซึ่งได้ใช้ฉากในปารีสมาทำเป็นสองเรื่องที่เกี่ยวพันกัน แม้จะเป็นคนละประเด็นก็ตาม คือการโฆษณาชวนเชื่อ และการสืบค้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งลัทธิล่าอาณานิคม

ประธานาธิบดี ฟรองซัว โอลองด์ ของฝรั่งเศส กล่าวว่า “ประเทศฝรั่งเศสที่ยิ่งใหญ่และสวยงามของเราจะไม่มีวันแตกแยก จะไม่มีวันยอมจำนน และไม่ก้มหัวให้ใคร” เป็นการพาดพิงถึง “ภัยคุกคามของอิสลาม”

“พวกเขาตายเพื่อที่เราจะได้มีชีวิตอยู่อย่างมีเสรีภาพ” เขากล่าวถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจสามนายที่ถูกมือปืนสังหาร

แถลงการณ์ของโอลองด์ ต่อนักข่าว ที่ตีพิมพ์โดย Euro News แน่นไปด้วยการกล่าวถึงเอกภาพ เสรีภาพ และลัทธิก่อการร้าย “การกระทำที่ผิดธรรมดาของพวกป่าเถื่อน” ก็ถูกพาดพิงถึงว่าเป็น “การโจมตีของผู้ก่อการร้าย” ด้วย เป็นการใช้วาทะกรรมแบบเดียวกันกับอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก่อนหน้าที่จะเริ่ม “สงครามกับผู้ก่อการร้าย” โอลองด์ประกาศว่า “ไม่มีใครมีสิทธิ์คิดว่าพวกเขาสามารถหนีไปได้ด้วยสิ่งเหล่านั้นในฝรั่งเศส และโจมตีหัวใจแห่งค่านิยมของมหาชนโดยผ่านหนึ่งในเสาหลักของมัน หนังสือพิมพ์อิสระ”

 

การถอดภาพลวงตาของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

รูปแบบของเสรีภาพในความคิดฝรั่งเศสปรากฏชัดเมื่อปีที่แล้ว เมื่อมันได้เป็นประเทศแรกที่ห้ามการชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ต่อต้านการแยกชาติพันธุ์ของอิสราเอล  ซึ่งเป็นการถอดภาพลวงตาของเสรีภาพอันไม่จำกัดในการแสดงความคิดเห็น สิ่งที่ถูกรับรองอย่างเท่าเทียมกันภายในภาพลวงตานี้ก็คือไม่มีเหยื่ออยู่ในรูปแบบของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ด้วยเหตุนี้เอง คำจำกัดความของคำว่าการก่อการร้ายของฝรั่งเศสจึงถูกปลดออกจากประวัติศาสตร์ในลักษณะเดียวกับที่การเข้าไปแทรกแซงประเทศอื่นของมันนั้นเป็นไปในนามของเสรีภาพ

ตามประวัติศาสตร์ รูปแบบของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของฝรั่งเศสส่งผลให้เกิดการสังหารหมู่โดยการอนุมัติของรัฐ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 1961 ผู้ประท้วงต่อต้านสงครามชาวอัลจีเรียประมาณ 50-120 คน ถูกตำรวจฝรั่งเศสสังหารหมู่ แล้วถูกนำร่างไปทิ้งในแม่น้ำเซน การประท้วงจัดขึ้นโดยแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติไนจีเรีย ซึ่งเป็นขบวนการปลดปล่อยที่ต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชของชาวอัลจีเรียจากการปกครองแบบอาณานิคมของฝรั่งเศส
การล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในอัลจีเรียส่งผลให้มีการสังหารหมู่ชาวไนจีเรียประมาณ 1.5 ล้านคน ตั้งแต่ปี 1830 ถึงปี 1962 ในปี 2006 ประธานาธิบดี อับดุลอาซิซ บูเตฟลิกา ของอัลจีเรียได้กล่าวว่า “ฝรั่งเศสกระทำการล้างเผ่าพันธุ์ทางอัตลักษณ์ของชาวอัลจีเรียระหว่างยุคอาณานิคม การล่าอาณานิคมนำมาซึ่งการล้างเผ่าพันธุ์ทางอัตลักษณ์ของเรา ประวัติศาสตร์ของเรา ภาษาของเรา วัฒนธรรมของเรา”

ขณะที่การปกครองแบบอาณานิคมของฝรั่งเศสในแอฟริกาถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ ผลที่ตามมาของการครอบงำนั้นสามารถมองเห็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยผ่านการจัดการหาทางออกให้ความขัดแย้ง การรักษาสันติภาพ และการตั้งฐานทัพในแอฟริกา ยกตัวอย่างเช่น การแทรกแซงทางทหารของฝรั่งเศสในมาลี ตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2014 ด้วยรหัสปฏิบัติการ Operation Serval ส่งผลให้อยู่ในวงจรหนี้กับ IMF หลังการระเบิดโครงสร้างพื้นฐานที่มีจำกัดอยู่แล้ว ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้อีกอย่างหนึ่งก็คือการที่ฝรั่งเศสเข้าไปเกี่ยวข้องในการทำลายล้างลิเบียของนาโต้ ภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติในปี 2011 ในทั้งสองเหตุการณ์นั้น เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายถูกลบล้างไปภายใต้หน้ากากของเสรีภาพ เมื่อประชาธิปไตยแบบตะวันตกบรรยายว่ามันมีความชอบในการแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรมมากกว่าการล้างเผ่าพันธุ์

 

“การเข้ามาอยู่ในอิสราเอล”

รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล เอวิกเดอร์ ลีเบอร์แมน ผู้เข้าร่วมในการชุมนุมในปารีสร่วมกับบรรดาผู้นำโลกคนอื่นๆ ได้เข้าไปพัวพันในการแทรกแซงต่างชาติในรูปแบบต่างๆ โดยใช้ประโยชน์จากการฆ่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตายของชาวยิวสี่คนที่ร้านของชำโคเชอร์ เพื่อส่งเสริมโครงการอาณานิคมของอิสราเอล

หนังสือพิมพ์ Times of Israel อ้างคำพูดของลีเบอร์แมนที่กล่าวว่า “ข้อความสำคัญที่สุดสำหรับชาวยิวฝรั่งเศสก็คือ การเข้ามาอยู่ในอิสราเอล ถ้าคุณกำลังมองหาความมั่นคงและอนาคตที่ปลอดภัยกว่าสำหรับลูกๆ ของคุณ ก็ไม่มีทางเลือกอื่นอีก”

ความรู้สึกนี้ถูกสะท้อนโดยนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู และรัฐมนตรีการเงิน แยร์ ลาปิด คนหลังยังหยิบยกเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวมาอ้างอิงด้วย

เมื่อวันที่ 11 มกราคม เนทันยาฮูได้ทวีตข้อความถึง “ชาวยิวในฝรั่งเศสทั้งหมด ชาวยิวในยุโรปทั้งหมด” โดยบอกกับพวกเขาว่า อิสราเอลเป็นบ้านของพวกเขา คำพูดนี้ชวนให้นึกถึงการโฆษณาชวนเชื่อของไซออนิสต์ในช่วงแรกที่ส่งเสริมให้ชาวยิวหลบหนีการต่อต้านชาวยิวและย้ายไปอยู่ในรัฐที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง รัฐที่สร้างขึ้นโดยผ่านการสังหารหมู่ล่าอาณานิคม เช่นเดียวกับในกรณีวาทะกรรมของโอลองด์ เนทันยาฮูกำหนดและส่งเสริมให้ลืมเลือนที่จะกล่าวถึงผู้เป็นเหยื่อ ในกรณีของอิสราเอลก็คือชาวปาเลสไตน์

ในกรณีที่เยวข้องโดยตรงกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น วิสัยทัศน์ในด้านเสรีภาพของเนทันยาฮูระหว่างปฏิบัติการ Operation Protective Edge ส่งผลให้นักหนังสือพิมพ์เสียชีวิต 17 คน นักเขียนการ์ตูนชาวปาเลสไตน์ชื่อมุฮัมมัด ซาบาอฺเนห์ ถูกอิสราเอลตัดสินจำคุกในปี 2013 ด้วยข้อกล่าวหาว่าเขาวาดการ์ตูนที่เกี่ยวข้องกับฮามาส เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 1987 สายลับมอสสาดของอิสราเอลได้ยิงนักเขียนการ์ตูนชาวปาเลสไตน์ชื่อ นาจี ซาลิม อัล-อาลี ผู้มีชื่อเสียงในด้านการล้อเลียนการเมืองโดยวิจารณ์การเมืองของอิสราเอลและอาหรับ

ถึงกระนั้น เนทันยาฮูยังได้ปรากฏตัวที่การชุมนุมเพื่อแสดงการสนับสนุนเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีบรรดาผู้นำแห่งจักรวรรดินิยมและผู้สนับสนุนพวกเขาอีกมากมาย ประกอบด้วยอดีตประธานาธิบดีนิโคล่า ซาร์โกซี่ของฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีแองเกล่า เมอร์เกล ของเยอรมนี ผู้ซึ่งสนับสนุนอิสราเอลด้วยเรือดำน้ำระหว่างปฏิบัติการ Operation Protective Edge เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว และประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของคณะปกครองปาเลสไตน์ ผู้ซึ่งการร่วมมือกับอิสราเอลของเขาได้เพิ่มความกดดันแก่พลเรือนชาวปาเลสไตน์ และจำกัดการต่อสู้เพื่อต่อต้านการล่าอาณานิคม

หลังการเดินขบวนแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ได้กล่าวปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของสื่ออย่างน่าประทับใจ เขายังไม่ลืมที่จะแสดงความเป็นห่วงว่าร้านค้าในอังกฤษที่ขายนิตยสารฉบับล่าสุดของชาร์ลี เอบโด อาจจะตกเป็นเป้าหมายของการแก้แค้น

“ข้าพเจ้าคิดว่าเรากำลังอยู่ในความเสี่ยงเพราะมีกลุ่มคนที่เชื่อในความคลั่งของอิสลามหัวรุนแรง และคุณไม่สามารถทำให้พวกเขาสงบลงได้” คาเมรอนกล่าว “พวกเขาเกลียดชังประชาธิปไตยของเรา เสรีภาพของเรา เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเรา วิถีชีวิตของเรา”

ขณะที่ดูเหมือนว่าจะเป็นการปลดเปลื้องออกจากแง่มุมทางการเมืองเพื่อเอาชนะความรู้สึกของประชาชน ประเด็นที่แท้จริงเบื้องหลังการกระทำรุนแรงเหล่านี้ไม่ใช่อิสลาม แต่เป็นการเก็บเกี่ยวมรดกทางการล่าอาณานิคมและจักรวรรดินิยมของตน

 

แปลและเรียบเรียงจาก http://www.mintpressnews.com
เขียนโดย