“ค๊อต” อาราบิก

ค๊อต คือการเขียนภาษาอาหรับเป็นวิชาแขนงหนึ่ง ที่มีการพัฒนาเหมือนกับการวาดเขียนวาดภาพ แกะสลัก เป็นสัญลักษณ์ของอิสลามที่มีความงดงาม โดดเด่น เป็นศิลปะที่มีความงดงามที่มีการถ่ายทอดตั้งแต่สมัยศาสดามุฮัมมัด(ซล.) จนมาถึงปัจจุปัน การเขียนจะเริ่มจากขวาไปซ้ายมีพื้นฐานอักษร 28ตัว

การเขียนค๊อตเป็นสิ่งที่มีความสำคัญของอิสลาม เพราะพระองค์อัลลอฮ์(ซบ.) ได้ตรัสไว้ในเรื่องการใช้ปากกาในการเขียนในคำภีร์อัลกุรอานความว่า “นูน ขอสาบานด้วยปากกาและสิ่งที่พวกเขาขีดเขียน” บทอัลก้อลัม (68:1) และการเขียนคัดลายมือเป็นการฝึกฝนเพื่อความสวยงามระเบียบและฝึกสมาธิ และอัลกุรอานบทอัชชูรอ:7 ระบุว่า “และเช่นนั้นแหละเราได้วะฮีย์อัลกรุอานเป็นภาษาอาหรับแก่เจ้า”

[quote_left]

Untitled Untitled1 Untitled2 Untitled3 Untitled4 Untitled5[/quote_left]

ดังนั้นการเรียนการสอนอัลกุรอานจึงเป็นเรื่องสำคัญของมุสลิม เพราะทุกตัวอักษรของการอ่านคือความดี  ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซล.) ได้กล่าวว่า “ผู้ใดอ่านอัลกุรอานหนึ่งอักษรเขาจะได้รับหนึ่งความดี โดยหนึ่งความดีนั้นจะเพิ่มทวีคูณเป็นสิบเท่า ฉันมิได้บอกว่า อลีฟ ลาม มีน เป็นหนึ่งอักษร แต่อลิฟ เป็นหนึ่งอักษร ลามเป็นหนึ่งอักษร มีมก็เป็นอีกหนึ่งอักษร (รายงานโดยอัต-ตริมิซีย์)

ผู้เขียนได้มีโอกาสทำรายการ”วานิต้าวาไรตี้” ในช่วงหนึ่งของช่องทีวีมุสลิมtmtv ช่วงที่ไปถ่ายทำรายการได้มีโอกาสไปเยี่ยมมัสยิดฮารูณที่บางรัก มัสยิดเก่าเเก่สร้างมานานกว่า112 ปี ที่นั่นมีการเขียนค๊อตภาษาอาหรับในมัสยิดแต่เป็นค๊อตซุลุซ ที่มีการแกะอักษรสองด้านประกบกัน โดยอีหม่ามอาฮัก(ประจำมัสยิดฮารูณ) ได้เล่าเรื่องราวให้ฟัง และเมื่อลงภาคใต้มีโอกาสไปเยี่ยมมัสยิดกลางปัตตานี ช่วงวันอีดอีดิ้ลอัฎฮา ได้เห็นการแกะเขียนค๊อตในนั้นด้วย โดยคนเขียนคือคุณอาลี ฮาลาบี ทำให้ผู้เขียนความสนใจอยากรู้รายละเอียดมากขึ้น และมีโอกาสอ่านหนังสืออนุสรณ์งานเมาลิดกลางของปี2555 โดยอ.สมหวัง บินการซัน ได้เขียนเรื่องราวของค๊อต ทำให้ผู้เขียนมีความรู้มากมายมากขึ้น

แบบของค๊อต

ค๊อตมีเป็นร้อยแบบแต่ที่นิยมมี 6 แบบได้แก่

1.ค๊อตรุกอะห์หรือริกอะห์ เป็นค๊อตที่เขียนเร็วใช้ในชีวิตประจำวัน

2. ค๊อตซุลุซ เป็นค๊อตที่สวยที่สุดในภาษาอาหรับเขียนซ้อนกันได้ เขียนในมัสยิด บ้าน โรงเรียน สถานที่สำคัญ

3. ค๊อตดีวาหรือดีวานญะลีย์ เป็นค๊อตที่มีความสวยงามอ่อนช้อย ค๊อตนี้สมัยก่อนใช้เขียนในทางราชการ เขียนคำแถลงการณ์ในพระราชสำนัก ดีวานหมายถึงพระราชสำนัก

4. ค๊อตฟารีซีย ค๊อตนี้ถูกใช้มากในเมืองฟาริสประเทศอิหร่าน และใช้มากในประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถานมีชื่ออีกอย่างว่าค๊อตตะลีก

5. ค๊อตนัสค์ เป็นค๊อตที่เขียนง่ายชัดเจน เป็นค๊อตที่ใช้เขียนคำภีร์อัลกุรอาน และตำราวิชาการต่างๆ

6. ค๊อตกูฟีย เป็นค๊อตที่เรียกว่ากูฟีย เพราะเรียกตามเมืองกูฟะห์ประเทศอิรัก ค๊อตนี้ใช้บันทึกอัลกุรอานเป็นค๊อกแรก ค๊อตนี้ใช้การสร้างแบบ โดยใช้เครื่องมือประกอบ เพื่อการตกแต่ง

การเขียนรวบรวมอัลกุรอานภาษาอาหรับทำในยุคท่านอบูบักรฺและท่านอุสมาน สมัยที่รุ่งเรืองของค๊อตคือสมัยท่านอุสมาน บินอัฟฟาน เพราะท่านเป็นนักเขียนตั้งแต่สมัยท่านอุมัร สำหรับในเมืองไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเขียนมากกว่าการอ่าน เหมือนการประกวดกอรี (การอ่านอัลกุรอาน) สำหรับนักการเขียนค๊อตในไทยมีหลายคน เช่นคุณอาบี ฮาลาบี จากปัตตานี คุณนัสตารอนี บาซอ บินฮัจยีฮาวัน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัชอัร จากนราธิวาส ครูซอซิดี บินสาคร ครูสอนศาสนาโรงเรียนริลวานนุ้ลอิสลาม