นายเบนจามิน เนฮันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เคยกล่าวไว้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์นั้นคือ “เพื่อนที่ดีที่สุดของเราจากทำเนียบขาว” ซึ่งยืนยันความสัมพันธ์อันใกล้ชิดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนของรัฐบาลสหรัฐฯและอิสราเอล รัฐบาลใหม่ที่มีโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี ได้สร้างความรู้สึกไม่มั่นคงให้กับอิสราเอลพอสมควร แม้ไบเดนจะรู้จักกับชนชั้นนำของอิสราเอลเป็นอย่างดี แต่อิสราเอลรู้ว่า ประธานาธิบดีที่มาจากพรรคเดโมแครตนั้นมักไว้ใจไม่ได้
สองผู้เชี่ยวชาญด้านอิสราเอล Natan Sachs และ Kevin Huggard จากสถานบันบรู๊คกิ้ง (Brookings Institution) ซึ่งเป็นคลังสมอง (Think Tank) ชื่อดังของอเมริกา ได้นำเสนอรายงานที่พูดถึงภัยคุกคามต่อจากนี้อีกยี่สิบปีของอิสราเอล “Israel in the Middle East: The next two decades” เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ผู้เขียนตั้งประเด็นวิเคราะห์ชวนอ่านดังต่อไปนี้
อิสราเอลก้าวเข้าสู่ทศวรรษ 2020 อย่างมั่นใจและอยู่ในฐานะผู้ได้เปรียบทางการเมืองในภูมิภาค การสถาปนาความสัมพันธ์กับชาติอาหรับสองชาติคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน และกำลังเริ่มต้นการเจรจากับกับซูดาน ทำให้อิสราเอลแข็งแกร่งขึ้น เสริมจุดแข็งเดิมคือ การทหารและเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองคือปัจจัยหลักของปัจจัยแห่งอำนาจ
ถึงกระนั้น ภายใต้บริบทของภูมิภาคตะวันออกกลางที่วุ่นวายและไร้เสถียรภาพ ในระยะเวลายี่สิบปีต่อจากนี้ อิสราเอลต้องรับมือกับภัยความมั่นคง สามระดับคือ ระดับรัฐ ระดับภูมิภาคและระดับโลก
ภัยคุกคามระดับรัฐ ซึ่งรวมถึงอิสราเอลและรัฐเพื่อนบ้าน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความล้มเหลวของรัฐบาล วิกฤติทางเศรษฐกิจ และการแพร่กระจายของเทคโนโลยีทางทหารใหม่ ๆ ภัยคุกคามทางความมั่นคงที่อิสราเอลและเพื่อนบ้านต้องรับมือให้ได้ก็คือ วิกฤตข้ามพรมแดนและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (เช่น กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ฮามาสและฮิสบุลลอฮ์) ที่จะเข้มแข็ง ทันสมัย และควบคุมได้ยากมากขึ้น
ภัยคุกคามระดับภูมิภาค ได้แก่ เสถียรภาพด้านการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน ความวุ่นวายในประเทศพันธมิตรใหม่ และทัศนคติของประชาชนชาวอาหรับต่ออิสราเอล
เสถียรภาพด้านการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านสำคัญต่ออิสราเอลเป็นอย่างมาก อิสราเอลนั้นพึ่งพาความร่วมมือด้านความมั่นคงจากรัฐบาลสามประเทศคือ องค์การบริหารปาเลสไตน์ (พีเอ) ในเขตเวสต์แบงค์ จอร์แดนและอียิปต์ โดยเฉพาะในเรื่องการรับมือกับภัยคุกคามจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้คือความเสี่ยงของอิสราเอล แต่ความไม่สงบในอิหร่านและเลบานอน (ฐานกลุ่มฮิสบุลลอฮ์) สร้างความมั่นคงให้กับอิสราเอลมากขึ้น
ความวุ่นวายในประเทศพันธมิตรใหม่ในกลุ่มอ่าวเปอร์เซียรวมถึงซาอุดิอาระเบีย อาจทำให้ผู้นำชาติเหล่านั้นสร้างความเป็นอริกับอิสราเอลมากขึ้น
ทัศนคติของประชาชนชาวอาหรับต่ออิสราเอลเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามต่ออิสราเอล แม้ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางส่วนใหญ่ล้วนปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม ที่นโยบายของรัฐไม่ได้ยึดโยงกับเจตจำนงของประชาชน แม้รัฐบาลหลายชาติกลายมาเป็นพันธมิตรของอิสราเอล แต่ประชาชนในประเทศอาหรับนั้นไม่ได้เป็นมิตรด้วย พวกเขายังเห็นใจชาวปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอล เสียงของประชาชนชาวอาหรับถูกพิสูจน์มาแล้วครั้งหนึ่งว่าไม่อาจมองข้ามได้ จากปรากฎการณ์อาหรับสปริงปี 2011
ภัยคุกคามระดับโลก ที่ส่งผลต่อความมั่งคงของอิสราเอลคือ (หาก) นโยบายสหรัฐฯต่ออิสราเอลเปลี่ยนแปลงไป และการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯและจีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ความกังวลสูงสุดของอิสราเอลก็คือ นโยบายสหรัฐฯต่ออิสราเอลอาจเปลี่ยนแปลงไป สหรัฐฯคือผู้ค้ำจุนความมั่นคงให้กับอิสราเอลมาหลายทศวรรษ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งอิสราเอลอยู่รอดมาได้ท่ามกลางเหล่าศัตรูเพราะมีสหรัฐฯคอยปกป้อง แม้นโยบายของสหรัฐฯต่ออิสราเอลจะมั่นคงมาตลอด แต่การเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐฯทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่ออิสราเอล ผู้นำจากพรรคเดโมแครตมักสร้างความหนักใจให้ฝ่ายความมั่นคงอิสราเอลไม่ว่าจะเป็นคลินตัน หรือ โอมามา และอาจรวมถึงไบเดนด้วย
การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯและจีนทั้งในระดับโลกและในภูมิภาคตะวันออกกลางอาจสร้างภัยความมั่นคงให้กับอิสราเอล การที่จีนกลายมาเป็นลูกค้าด้านพลังงานรายใหญ่ในภูมิภาคแทนที่สหรัฐฯ ได้สร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองให้กับจีน จีนจะมีอำนาจในการเข้าแทรกแซงหรือกำหนดนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงต่อประเทศผู้ขายน้ำมันในภูมิภาค ลองคิดดูสิว่าการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯได้ผลักดันให้จีนกดดันประเทศในภูมิภาคให้มีนโยบายที่เป็นภัยต่ออิสราเอลซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ นั่นจะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่ออิสราเอล ประเด็นวิเคราะห์นี้ทำให้เราเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล-จีนคือเป็นปัจจัยหลักของความมั่นคงในอนาคต
จากข้อเสนอข้างต้น ผู้เขียนคือ Sachs และ Hauggard ได้จำแนกตัวแปรทางความมั่นคงของอิสราเอลเป็น ตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ภัยคุกคามแทบทั้งหมดในสามระดับที่กล่าวไปข้างต้น และตัวแปรที่พอจะควบคุมได้คือความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและสหรัฐฯ ที่แม้ตัวผู้นำจะมีผลต่อนโยบายปลีกย่อย แต่นโยบายหลักคือให้ความปลอดภัยแก่อิสราเอลนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ผู้เขียนยังเสนอว่าความมั่นคงของอิสราเอลในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า ยุทธศาสตร์ของอิสราเอลจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือ ปาเลสไตน์จะอยู่ในการยึดครองของอิสราเอลต่อไป จะต้องไม่มีรัฐปาเลสไตน์ที่มีเอกราชสมบูรณ์ รัฐปาเลสไตน์ของฝั่งของเวสต์แบงค์และฉนวนกาซ่าจะต้องไร้เอกภาพและจะต้องไม่มีดินแดนที่เชื่อมต่อกัน
ความท้าทายที่สำคัญยิ่งยวดของอิสราเอลในอนาคตคืออิทธิพลของจีนในภูมิภาคและความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและจีน หากจีนหยิบยกประเด็นด้านศีลธรรมทางการเมือง (ซึ่งอิสราเอลทำผิดอยู่หลายประเด็น) หากอิสราเอลไม่สามารถรักษาสถานะเดิมไว้ได้ นั่นคือหายนะของอิสราเอล
#ข้อเสนอสุดท้ายของผู้เขียนที่เป็นบทสรุปของรายงานชิ้นนี้ก็คือ ภายใต้ความแข็งแกร่งและความได้เปรียบของอิสราเอลในปัจจุบัน อิสราเอลจะต้องไม่รู้สึกพึงพอใจต่อสถานะนี้ แต่จะต้องแข็งแกร่งมากขึ้นและสร้างความได้เปรียบมากขึ้นไปอีกจึงจะพอรับประกันความปลอดภัยของอิสราเอลในสองทศวรรษข้างหน้านี้ได้
แปลและเรียบเรียงโดย ดร.รุสตั้ม หวันสู ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้จาก https://www.brookings.edu/…/FP_20201120_israel_me_sachs…
เกี่ยวกับผู้เขียน : อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ