ทันทีที่ภาพข่าวการรุกคืบของกองกำลังกลุ่มติดอาวุธตาบิลัน (Taliban) เข้ายึดพื้นที่ในอัฟกานิสถานมากกว่า 80% ทำให้การเมืองระหว่างประเทศที่ติดกับอัฟกานิสถานอย่างประเทศอิหร่านร้อนแรงทันที ถึงกับมีการแถลงการณ์จากสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำกรุงคาบุล และสถานกงสุลใหญ่ เมืองเฮรัตว่าให้ประชาชนชาวอิหร่านหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังอัฟกานิสถานในช่วงเวลานี้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงและไม่ปลอดภัย
อิหร่านถือว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านกับอัฟกานิสถานที่มีความสัมพันธ์อันดีตลอดมาตั้งแต่อดีต มีความคล้ายและเหมือนกันหลายๆ มิติ ไม่ว่าวัฒนธรรมหรือภาษาที่ดูจะเข้าใจกันได้ (ภาษาเปอร์เซียกับภาษาอัฟกานี ถึงแม้จะมีสำเนียงจะแตกต่างกันอยู่ก็ตาม) ดังนั้นอิหร่านถือว่าตัวแสดงสำคัญไม่น้อยถ้ามองในด้านภูมิรัฐศาสตร์ และยังมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเมืองของอัฟกานิสถาน และปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้อิหร่านคือตัวแสดงสำคัญของการเมืองระหว่างประเทศและต่อกลุ่มตาลิบัน กรอปกับมีได้รายงานข่าวแบบไม่ลับว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา อิหร่านยังได้เปิดบ้าน เพื่อให้ตัวแทนของตาลิบันและรัฐบาลอัฟกานิสถานพูดคุยและแสดงหาสันติภาพร่วมกัน ยิ่งเกิดคำถามต่อการเมืองอัฟกานิสถานและต่อกลุ่มตาลิบันว่า อิหร่านมีบทบาทอย่างไรต่อการเจรจาสันติภาพ? อิหร่านมีจุดยืนอย่างไรกับกลุ่มตาลิบัน? และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐของสองประเทศไปในทิศทางใด? ในขณะที่อิหร่านได้สนับสนุนมุสลิมนิกายชีอะห์ในอัฟกานิสถานและยังปกป้องและให้การช่วยเหลือกลุ่มชีอะห์ อีกด้านหนึ่งก็มีข้อตกลงการลงทุนด้านต่างๆ ในประเทศอัฟกานิสถานหลายร้อยล้านดอลลาร์อีกด้วย และอิหร่านยังรับผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานหลายล้านคนอยู่ในประเทศ
นักวิเคราะห์มองท่าทีของอิหร่านได้เปลี่ยนไปกับจุดยืนต่อกลุ่มตาลิบัน ซึ่งก่อนหน้านั้นอิหร่านมีจุดยืนและท่าทีต่อต้านและแข็งกร้าวไม่เห็นด้วยกับกลุ่มสุดโต่งตาลิบันในยุคเรืองอำนาจในปี ค.ศ.1996 เพราะว่า กลุ่มตาลิบันได้อ้างแนวคิดอิสลามหรือระบอบอิสลามแบบสุดขั้วและสุดโต่ง และยังถือว่าเป็นกลุ่มที่ตีความคำสอนอย่างผิดๆ และขัดแย้งกับหลักการ เช่น บังคับมิให้สตรีออกจากบ้านหรือห้ามเด็กสตรีเรียนหนังสือ นอกจากนี้ กลุ่มตาลีบันยังห้ามไม่ให้มีการดูทีวี ฟังเพลง หรือดูหนังอีกด้วย และต่อต้านการให้เด็กผู้หญิงที่อายุ 10 ขวบ และมากกว่านั้น ห้ามไปโรงเรียน ยังได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายสิ่งก่อสร้างทางวัฒนธรรมในหลายกรณี รวมถึงเมื่อปี 2001 พวกเขาทำลายพระพุทธรูปบามิยันอันโด่งดังแม้จะมีเสียงประณามจากนานาชาติก็ตาม และอีกประการที่อิหร่านยอมไม่ได้คือกลุ่มตาลิบันได้โน้มเอียงในการเป็นพันธมิตรร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์
อิหร่านไม่ยอมรับกลุ่มตาลิบันในการปกครองอัฟกานิสถาน แต่อิหร่านกลับให้การสนับสนุนและยอมรับกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ ประกอบด้วยกลุ่มญามิอะฮ์อิสลามี กลุ่มของนายพล มุฮัมมัด กาซิม ฟาฮีม (กลุ่มมุญาฮิดีนเดิม), ยุมบิช มิลลี่ หรือขบวนการอิสลามแห่งชาติ, พรรคชีอะห์ ฮะซะร่า ฮิซบี วะดัต ,กลุ่มชูรอ อินาซาร์, และกลุ่มของเมาวะลี มุฮัมมัด ยูบิสตอลิส ได้ร่วมกันต่อต้านและต่อสู้กับรัฐบาลตาลิบันตั้งแต่ปีค.ศ.1996
อิหร่านมองว่าการดำรงอยู่ของกลุ่มตาลิบันในช่วงเรืองอำนาจและขึ้นปกครองอัฟกานิสถานนั้น คือภัยคุกคามต่ออิหร่านและต่อภูมิภาค และจากเหตุการณ์ที่คณะทูตของอิหร่านถูกสังหารในอัฟกานิสถานโดยกลุ่มตาลิบัน ถึง 8 คนนั้น ยิ่งทำให้อิหร่านเจ็บแค้นต่อกลุ่มตาลิบันเป็นอย่างมากทีเดียว
ผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่านศึกษามองว่าระยะเวลาการยึดครองอัฟกานิสถานของสหรัฐฯและพันธมิตร (นาโต้) คือภัยคุกคามในภูมิภาคและต่ออิหร่าน และมองว่าคาดหวังอะไรไม่ได้กับรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ตั้งโดยสหรัฐฯ (เป็นรัฐบาลเงาของสหรัฐฯ) กรอปกับจุดยืนแนวความคิดและท่าทีของกลุ่มตาลิบันก็เปลี่ยนไปมาก อิหร่านได้เห็นสัญญาณบวกของกลุ่มตาลิบัน โดยมีทีท่าที่จะคุยและเจรจากันได้ ดังนั้นระยะเกือบ 20 ปีนั้น อิหร่านได้เข้าไปปฎิบัติการในอัฟกานิสถาน ผ่านกองกำลังกุดส์ IRGC โดยพูดคุยกับแกนนำของกลุ่มตาลิบันอย่างลับๆ จนกระทั่งเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำกรุงคาบุล ต้องออกมาเปิดเผยว่า ”เรามีการพูดคุยกับกลุ่มตาลิบันจริง โดยมุ่งเน้นเรื่องการช่วยเหลือด้านความมั่นคงและด้านการข่าว แต่ไม่มีความสัมพันธ์เชิงรัฐต่อกัน”
นักวิเคราะห์มองว่ามีหลายเหตุผลที่อิหร่านมีท่าทีและจุดยืนที่เปลี่ยนไปกับกลุ่มตาลิบัน คือ
หนึ่ง- การที่อิหร่านยอมเจรจากับกลุ่มตาลิบัน เนื่องจากกลุ่มตาลิบันเปลี่ยนทัศนะคติ ไม่ใช่เป็นกลุ่มสุดโต่งแบบเดิม
สอง- อิหร่านต้องการรักษาดุลอำนาจ เพื่อให้กลุ่มตาลิบันเป็นแรงต้านสหรัฐอเมริกาและกดดันให้สหรัฐฯออกไปจากอัฟกานิสถานซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันระหว่างอิหร่านกับกลุ่มตาลิบัน (ศัตรูของศัตรู คือมิตร อะไรทำนองนั้น)
สาม- อิหร่านได้รวมกลุ่มภาคีอำนาจใหม่ โดยมีจีนและ รัสเซีย ในการจัดระเบียบสันติภาพในอัฟกานิสถาน โดยมองว่าจะพูดคุยกับกลุ่มตาลิบันได้
สี่- เพื่อจำกัดกลุ่มตอลิบัน มิให้สร้างพื้นที่แก่กลุ่มไอเอส (กลุ่มรัฐอิสลาม) หรือกลุ่มอัลกออิดะฮ์ให้กลับมาใช้พื้นที่อัฟกานิสถานเป็นแหล่งก่อการร้าย
ดังนั้นจะเห็นว่าในเวลาต่อมา ในปีค.ศ. 2011 อิหร่านได้ออกตัวอย่างเป็นทางการว่า เราอิหร่านยินดีจะเป็นคนกลางในการพูดคุยระหว่างกลุ่มตอลิบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถานเพื่อบรรลุข้อตกลงสันติภาพ และอิหร่านยังได้เสนอตัวจะเป็นเจ้าภาพในการพูดคุยของกลุ่มตอลิบันกับอัฟกานิสถาน
ในที่สุดวันที่ 7 ก.ค. 2021 ที่ผ่านมา ข่าวได้รายงานว่าอิหร่านได้เป็นเจ้าภาพการพูดคุยอย่างเป็นทางการระหว่างกลุ่มตอลิบันกับคณะรัฐบาลอัฟกานิสถาน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน นายยะวาด ซะรีฟ ให้การต้อนรับ และรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านได้เริ่มการสนทนาว่า สหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองอัฟกานิสถานมา 20 ปี สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อประเทศอัฟกานิสถาน วันนี้ประชาชนและผู้นำทางการเมืองของพวกท่าน จำเป็นต้องกำหนดอนาคตประเทศของพวกท่านเอง และตัดสินใจต่อการแก้วิกฤตินั้นเสีย” ซะรีฟกล่าวอีกว่า” เราอิหร่านพร้อมที่จะเป็นคนกลางในการพูดคุยทุกเรื่องระหว่างกลุ่มก้อนต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของอัฟกานิสถานและเราจะให้การร่วมมือในการสร้างสันติภาพเกิดขึ้น”
ดังนั้นสันติภาพในอัฟกานิสถานจะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไรนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป แต่ตัวแสดงและบทบาทของอิหร่านต่ออัฟกานิสถานนั้น ไม่มีใครปฎิเสธได้ในวันนี้
ผู้อำนวยการศูนย์อิสลามศึกษา/อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม