“โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” เดินหน้าเพื่อความสุขของผู้อยู่อาศัยในทุกมิติ

หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต คือ “ที่อยู่อาศัย” แต่หลายคนอาจมีข้อจำกัดในการมี “บ้าน” เป็นของตนเอง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ภาครัฐจึงได้เข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาโดยการสร้างที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่แพง เพื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยเหล่านี้ได้

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เล่าถึงปูมหลังของ “แฟลตดินแดง” ก่อนจะมาเป็น “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” ที่กำลังดำเนินการในปัจจุบันว่า ปี พ.ศ.2494 กรมประชาสงเคราะห์ได้สร้างอาคารบ้านไม้และเรือนแถวรวม 1,088 หลังขึ้นบริเวณถนนดินแดง ซึ่งเดิมเป็นสถานที่ทิ้งขยะและทุ่งนา เป็นการดำเนินนโยบายด้านเคหะสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ต่อมาเมื่ออาคารเก่าชำรุดทรุดโทรม จึงได้จัดสร้างใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แฟลต” ที่ปัจจุบันเรียกว่า “อาคารชุด” นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทยในขณะนั้น โดยอาคารแฟลตชุดแรกซึ่งปัจจุบันคือ “โครงการเคหะชุมชนดินแดง” เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2506 เสร็จสิ้นใน พ.ศ.2517 รวม 64 อาคาร มีห้องพัก 4,144 หน่วย ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2516 มีการจัดตั้ง “การเคหะแห่งชาติ” ขึ้น จึงรับโอนงานด้านเคหะสงเคราะห์มาดูแล พร้อมทั้งก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 30 อาคาร รวม 5,098 หน่วย รวมเป็นที่พักอาศัยใน “เคหะชุมชนดินแดง” ทั้งสิ้น 9,242 หน่วย เป็นชุมชนเคหะสงเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่จนถึงปัจจุบัน

ถึงวันนี้อาคารแฟลตดินแดงชุดแรกมีอายุกว่า 50 ปี สภาพอาคารมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของการเคหะแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการซ่อมแซมอาคารแฟลตดินแดงมาโดยตลอด แต่สามารถบรรเทาในจุดที่พบความเสียหายเท่านั้น แนวคิดดำเนินการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงจึงเกิดขึ้น ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่และฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2543 และได้ดำเนินการปรับปรุงแผนแม่บทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญทั้ง 4 มิติ ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ ภายใต้แนวทางการพัฒนาชุมชนของการเคหะแห่งชาติ มุ่งเน้น “ทำนุบำรุง ปรับปรุง พัฒนา”

ตัวอย่างของการดำเนินงาน “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” ในปี 2564 ที่ดำเนินการแล้ว ได้แก่ “มิติด้านสังคม” เช่น โครงการอาสาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาของชุมชน “มิติด้านเศรษฐกิจ” เช่น โครงการส่งเสริมการออมทรัพย์/กองทุนสวัสดิการชุมชน โดยกิจกรรมคัดแยกขยะรีไซเคิล ขณะที่ “มิติด้านสิ่งแวดล้อม” เช่น โครงการปรับปรุงทาสีอาคารฯ โครงการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ โครงการปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่สาธารณะ โครงการกำจัดหนูพาหะนำโรค โครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ PM 2.5 และโครงการรณรงค์การคัดแยกขยะในชุมชน ส่วน “มิติด้านสุขภาวะ” เช่น โครงการส่งเสริมสุขภาพและดูแลสุขภาพคนในชุมชน เป็นต้น

“กคช. มุ่งมั่นเดินหน้าโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงอย่างต่อเนื่อง เพราะที่นี่ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งได้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องอยู่อาศัยให้พี่น้องประชาชน ไม่เพียงแต่การทำนุบำรุง ปรับปรุง พัฒนา เท่านั้น แต่เรายังมีความห่วงใยดูแลกันและกันภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มข้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัยในชุมชนดินแดงทุกคนมีความปลอดภัยและก้าวพ้นวิกฤตินี้ไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เน้นย้ำกับ กคช. มาโดยตลอด” ผู้ว่าการ กคช. กล่าวย้ำอย่างหนักแน่น