เตหะราน – ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Al-Monitor อายาตุลเลาะฮ์ ฮาเชมี รัฟซันจานี หนึ่งในนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดของอิหร่าน ได้พูดถึงอนาคตความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เขายังได้กล่าวไปถึงเสียงวิจารณ์ภายในประเทศเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านกับหกชาติมหาอำนาจโลก โดยบอกว่าพวกเขา “กำลังทำผิด” ในขณะที่ยอมรับว่า วอชิงตันมีทีท่าว่าต้องการจะ “ทำตัวให้ห่างไกลจากอดีต” รัฟซันจานีกล่าวว่า ท่าทีนั้นจำเป็นจะต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ และการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นจะเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ การให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานในเตหะรานของเขาเมื่อ 28 กรกฎาคม เป็นการเปิดเผยกับสื่อต่างประเทศครั้งแรกของรัฟซันจานีนับตั้งแต่ที่แผนปฏิบัติการร่วมอย่างครอบคลุมรอบด้าน (Joint Comprehensive Plan of Action) เกิดปัญหาติดขัด
ในฐานะนักการศาสนาอาวุโสและประธานาธิบดีสองสมัย รัฟซันจานียังได้พูดถึงวิกฤตการณ์ในภูมิภาคด้วย รวมทั้งความสัมพันธ์อันตึงเครียดของเตหะรานกับริยาด โดยให้เหตุผลว่า “โดยเนื้อแท้แล้วอิหร่านไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับซาอุดิอารtเบียหรือประเทศอาหรับอื่นๆ” เขาระบุถึงความร่วมมือระหว่างซาอุดี้ฯ-อิหร่าน หลังสงครามอิหร่าน-อิรักในช่วงปี 1980-88 แม้ริดยาดจะเคยสนับสนุนซัดดัม ฮุซเซนมาก่อน รัฟซันจานีกล่าวเน้นว่า ความร่วมมือกับซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเป็น “สิ่งสำคัญอันดับแรกๆ ในรัฐธรรมนูญของเรา” รัฟซันจานีเป็นหัวหน้าในการเจรจาครั้งสำคัญๆ กับริยาดในสมัย 1990s ร่วมกับฮัซซัน รูฮานี ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงสูงสุดแห่งชาติของอิหร่าน เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือที่สำคัญด้านความมั่นคง
ในการให้สัมภาษณ์นี้ รัฟซันจานียังได้กล่าวถึงคำสั่งจากอายาตุลเลาะฮ์ รูฮุลเลาะฮ์ โคมัยนี ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลาม ให้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับริยาดภายหลังการฆ่าผู้แสวงบุญชาวอิหร่านหลายร้อยคนในมักกะฮ์ในปี 1987 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับให้สถานการณ์ในภูมิภาคนี้กลับสู่ภาวะปกติ “ด้วยการดำเนินการอย่างรวดเร็ว” เขายังเปิดเผยอีกด้วยว่า กษัตริญ์อับดุลลอฮ์แห่งซาอุดี้ฯ ได้เน้นย้ำให้เขาไปร่วมทำฮัจญ์หลายครั้ง “จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตเขา”
รัฟซันจานีตกเป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่าเขาประกาศที่จะลงสมัครในการเลือกตั้งของสภาผู้ชำนาญการที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งสภานี้มีหน้าที่ในการแต่งตั้งผู้นำสูงสุดคนต่อไป
ต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์รัฟซันจานีฉบับเต็มของ Al-Monitor
Al-Monitor : จากข้อตกลงนิวเคลียร์กับตะวันตกของอิหร่าน ท่านประเมินภาพความร่วมมือทางการเมืองระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ อย่างไร?
รัฟซันจานี : ด้วยพระนามของพระเจ้า ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ โดยธรรมชาติแล้ว เส้นทางที่อยู่ตรงหน้าอิหร่านและอเมริกานั้นไม่ใช่เส้นตรงไปข้างหน้าเหมือนกับของ (อิหร่านกับ) ประเทศตะวันตกอื่นๆ เพราะตั้งแต่ก่อนหน้าการปฏิวัติมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีภาพลักษณ์ในอิหร่านว่าอเมริกาอยู่เบื้องหลังการหน่วงเหนี่ยวและการขัดขวางอิหร่านในทุกเรื่อง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอเมริกาต้องการที่จะทำให้ตัวเองออกห่างไกลจากอดีต และนี่คือสิ่งที่ต้องได้รับการพิสูจน์ (ด้วยการกระทำ)
Al-Monitor : ท่านเคยเห็นการทำตัวให้ห่างไกลจากอดีตรูปแบบเดียวกันนี้ของสหรัฐฯ ในการเจรจาต่างๆ หรือไม่?
รัฟซันจานี : ในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์ อเมริกาดำเนินการค่อนข้างดีมาจนถึงตอนนี้ เราเห็นว่าเจ้าหน้าที่จากฝ่ายบริหารที่มาจากพรรคเดโมแครตได้ต่อสู้กับพรรครีพับลิกัน และรัฐมนตรีต่างประเทศของพวกเขา ประธานาธิบดี และบุคคลสำคัญคนอื่นๆ ของพวกเขาก็ได้ประกาศท่าทีอย่างชัดเจน ในทัศนะของข้าพเจ้า สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ อเมริกาจะต้องยอมรับและแก้ไขความผิดในอดีต และพิสูจน์ตัวเองในความรู้สึกของประชาชนอิหร่าน นโยบายเชิงบวกของอเมริกาสำหรับการแก้ปัญหานิวเคลียร์นี้อาจจะมีประสิทธิภาพมาจนถึงตอนนี้ และถ้ามันยังดำเนินต่อไป และนำไปสู่ผลในเชิงบวก (อเมริกา) ก็จะเข้าใกล้กับสิ่งนี้ (การพิสูจน์ตัวเอง) มากขึ้น
Al-Monitor : ในทัศนะของท่าน ความสัมพันธ์ของอิหร่านกับซาอุดิอาระเบียและภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไรหลังมีข้อตกลงนี้แล้ว?
รัฟซันจานี : โดยเนื้อแท้แล้วเราไม่ได้มีปัญหาอะไรกับซาอุดิอาระเบียหรือประเทศอาหรับอื่นๆ เพราะพวกเขาเป็นประเทศอิสลาม และเรามองว่าความร่วมมือกับพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ในรัฐธรรมนูญของเรา ถึงแม้พวกเขาจะให้การสนับสนุนซัดดัมในช่วงที่อิรักทำสงครามกับอิหร่าน ความแตกต่างของเราได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วเมื่อพวกเขาตอบรับนโยบายภายหลังสงครามของอิหร่านที่ลดความตึงเครียดและก้าวไปข้างหน้าเพื่อความร่วมมือกัน การฆ่า (ผู้แสวงบุญชาวอิหร่าน) ในมักกะฮ์ (ปี 1987) เป็นหนึ่งในข้อโต้แย้งเหล่านั้น และมันได้รับการแก้ไขด้วยคำสั่งของท่านอิหม่าม (โคมัยนี) เพราะประเด็นสำคัญของเรื่องนั้น (เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรา) ไม่ใช่ความขัดแย้งที่เรามี (โดยเนื้อแท้)
Al-Monitor : ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ไหน? ความตึงเครียดนั้นมีที่มาจากไหน?
รัฟซันจานี : เหตุการณ์ต่างๆ ในภูมิภาค หมายถึงเหตุการณ์ในซีเรีย อิรัก เยเมน และบาห์เรน ก็เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความห่างไกล แน่นอน ถ้ารัฐบาลอิหร่าน และ(รัฐบาลในประเทศเหล่านั้น) ตัดสินใจที่จะทำงานด้วยกัน สิ่งต่างๆ ก็จะไม่ยาก และจะกลับไปอย่างที่มันเคยเป็นในอดีต มันเป็นไปได้ที่จะทำให้สถานการณ์กลับมาสู่ภาวะปกติด้วยการดำเนินการที่รวดเร็ว เพื่อเห็นแก่ประโยชนของโลกมุสลิมโดยรวม ข้าพเจ้าเชื่อจริงๆ ว่ามันเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม เราต้องดูว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะนำไปสู่อะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
Al-Monitor : ท่านเคยได้รับคำเชิญให้ไปร่วมพิธีฮัจญ์หรือไม่?
รัฟซันจานี : จวบจนถึงวาระสุดท้ายของเขา สองหรือสามครั้งในช่วงเดือนรอมฎอน ที่กษัตริย์อับดุลลอฮ์ได้ย้ำให้ข้าพเจ้าไปที่นั่น (ซาอุดิอาระเบีย) เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์
Al-Monitor : ภายหลังจากกษัตริย์อับดุลลอฮ์แล้วเป็นอย่างไรบ้าง? กษัตริย์ซัลมาน (บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอูด) ได้เชิญให้ไปทำฮัจญ์หรือไม่?
รัฟซันจานี : กลุ่มใหม่ที่ได้ขึ้นครองอำนาจนี้ยังไม่ได้ร้องขอสิ่งใดจากข้าพเจ้า มันเป็นธรรมดาที่พวกเขาไม่ได้ทำ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่ข้าพเจ้าจะสามารถยอมรับและไป(ซาอุดิอารเบีย)ได้
Al-Monitor : ภายใน(อิหร่าน) บางคนอธิบายว่าข้อตกลงนี้เป็นเสมือนการถอยในส่วนของอิหร่าน ทัศนะของท่านในเรื่องนี้เป็นอย่างไร?
รัฟซันจานี : ข้าพเจ้าคิดว่าพวกเขา(ในอิหร่าน) ที่แสดงความคิดเห็นคัดค้านกำลังทำความผิดพลาด ไม่มีการถอย เรายังคงรักษาตำแหน่งของเราอยู่ และความจำเป็นทางโครงสร้างพื้นฐานของนิวเคลียร์ของเราก็ยังคงอยู่ นอกจากนี้ การวิจัยและพัฒนาของเราจะดำเนินต่อไปอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเรา แม้ว่า (การยับยั้งภายใต้ข้อตกลงนั้น) จะไม่มี เราก็จำเป็นต้องใช้เวลาสำหรับการวิจัยเพราะวิธีการเสริมสมรรถนะในปัจจุบันของเรายังเป็นระดับเริ่มต้น และไม่สามารถจัดให้สำหรับความต้องการ(ทางอุตสาหกรรม) ของเราได้ (ภายใต้ข้อตกลงนิวเคลียร์นั้น) เราจะสามารถพัฒนา(ถังเหวี่ยง IR) 6 หรือ (IR) 7 ได้ ซึ่งมีปริมาณที่ผลิตได้มากกว่า 10 ถึง 15 เท่า และจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมาก ถ้าเราต้องการจะเปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์สี่หรือห้าแห่ง และให้เชื้อเพลิงโรงงานเหล่านั้นด้วยตัวเอง เราจำเป็นต้องมี(ศักยภาพ) การผลิตเชื้อเพลิงที่แข็งแกร่งมาก
แปลจาก : http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2015/08/rafsanjani-exclusive-interview.html#
นักแปล, โต๊ะข่าวต่างประเทศ