เลบานอนกำลังจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว

ผลพวงจากการระเบิดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในเบรุต ประเทศเลบานอน วันอังคารที่ 4 ส.ค. 2020 [AP Photo / Hassan Ammar]

เลบานอน-สภาวะรัฐล้มเหลว-ความประมาทและการคอรัปชั่น-ทำลายเมืองหลวงของตัวเองและสังหารพลเมืองของตนเอง

 “กรุงเบรุต” ถูกถล่มจากการระเบิดครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม  เหตุระเบิดดังกล่าวซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เชื่อมโยงกับการจัดเก็บแอมโมเนียมไนเตรตที่ไม่เหมาะสมจำนวน 2,750 ตันที่ท่าเรือเบรุตตั้งแต่เดือนกันยายน 2013 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 137 ศพ และบาดเจ็บ 5,000 คน มันส่งคลื่นสั่นสะเทือนไปทั่วเมือง สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางให้กับอาคารและหน้าต่างที่แตกเป็นเสี่ยงๆ แม้กระทั่งในเขตชานเมืองของเลบานอน

หายนะนี้ยังห่างไกลจากสิ่งเลวร้ายที่สุดและฝันร้ายที่ประเทศนี้เคยเผชิญ เบรุตเป็นเมืองเช่นนกฟีนิกซ์ เมืองที่รู้วิธีลุกขึ้นจากเถ้าถ่าน กล่าวกันว่ามันถูกทำลายและสร้างขึ้นใหม่ถึง 7 ครั้งในช่วงประวัติศาสตร์ 5,000 ปี 

อย่างไรก็ตามภัยพิบัติครั้งล่าสุดนี้เป็นสิ่งที่หลอกหลอนมากกว่าสงคราม การรุกราน หรือแผ่นดินไหวในอดีตที่ทำลายเมืองโบราณแห่งนี้ เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นจากพลังภายนอกที่เป็นศัตรูหรือภัยธรรมชาติ แต่เป็นฝีมือของชนชั้นนำในการปกครองของเลบานอนเอง

ยังไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นตัวจุดประกายวัตถุติดไฟทำลายล้างสูงที่ถูกทิ้งไว้ในท่าเรือพลเรือน ท่าเรือเบรุตเมื่อเกือบเจ็ดปีก่อน อย่างไรก็ตามไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันอังคารไม่ใช่แค่อุบัติเหตุ มันเป็นผลร้ายแรงล่าสุดของวัฒนธรรมแห่งการคอร์รัปชั่น ความไร้ความสามารถ และความประมาทของรัฐบาลเลบานอน

ท่าเรือเบรุตแห่งนี้เดินเครื่องได้โดยไม่ต้องมีการดูแลจากรัฐบาลที่แท้จริง มันถูกจัดการร่วมกันโดยหน่วยงานศุลกากรและการท่าเรือเบรุต ในขณะที่อดีตอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ภักดีต่อประธานาธิบดีมิเชล อูน ระยะหลังได้รับการบริหารโดยข้าราชการที่ภักดีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีซะอัด หะรีรี  หน่วยงานสาธารณะทั้งสองนี้อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลในทางเทคนิค แต่ในทางปฏิบัติพวกเขาไม่ยอมจำนนต่อลำดับชั้นที่เป็นทางการหรือการควบคุมของรัฐสภาเหมือนกับหน่วยงานและสถาบันอื่นๆ ของเลบานอน ที่รายงานเฉพาะผู้นำนิกายหรือกลุ่มที่ปกป้องพวกเขาเท่านั้น

ด้วยการพิจารณาถึงบันทึกที่เลวร้ายของเลบานอนในการสืบสวนต่อความประมาทเลินเล่อและการทุจริตของรัฐบาล หลายคนที่มีส่วนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้ซึ่งเป็นบุคคลในระดับสูงของรัฐบาลเลบานอนมีแนวโน้มที่จะไม่ต้องเผชิญกับความยุติธรรม นี่จึงเป็นปัญหา เนื่องจากก่อให้ความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลนั้นพังทลาย

การระเบิดนี้ยังจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจที่ต้องดิ้นรนมายาวนานของเลบานอน สถานะทางการเมืองที่เปราะบาง และจุดยืนชื่อเสียงในเวทีระหว่างประเทศ

ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลสามารถหาเงินสดจำนวนที่ต้องการมาจากไหนเพื่อช่วยเหลือให้ที่พักพิงแก่พลเมือง 300,000 คนที่สูญเสียบ้าน และเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีสินค้าจำเป็นขั้นพื้นฐานหลังการระเบิด ซึ่งในที่สุดประเทศนี้ก็จะถูกบังคับให้เพิ่มหนี้ในประเทศและต่างประเทศที่มีอยู่เพื่อนำมาใช้จ่ายสำหรับการบูรณะและการสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ ทำให้รัฐบาลเลบานอนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศมากขึ้นและทำให้จุดยืนในการเจรจาต่อรองกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อ่อนแอลง ด้วยเหตุนี้ความแตกแยกที่มีอยู่ของประเทศเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยกลุ่มการเมืองคู่แข่งที่ต่อสู้เพื่อตำแหน่งแห่งหนในเบรุตก็จะต่างพากันขอความช่วยเหลือในเวลาที่ต้องการอย่างมากเช่นนี้ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอิหร่านกำลังชั่งใจที่จะให้ความช่วยเหลือ และบางคนในเลบานอนก็มีความคิดที่จะเชิญจีนให้สร้างท่าเรือเบรุตขึ้นใหม่

ความหายนะและความโกรธของประชาชนที่เกิดจากการระเบิดควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของมหาอำนาจต่างชาติในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รัฐบาลเลบานอนอ่อนแอลง และยิ่งเพิ่มไฟให้กับความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศจากเดิมที่มีอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีฮัสซัน ดียาบ และผู้สนับสนุนของเขามีแนวโน้มที่จะพยายามใช้เหตุระเบิดนี้เพื่อลดอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรีซาอัด ฮารีรี  ในทางกลับกัน ฮารีรีอาจร่วมมือกับ “วาลีด จุมบลาด” ผู้นำดรูซ เพื่อรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลเลบานอนและอาจได้เป็นประธานาธิบดี ขณะเดียวกันฮิซบุลเลาะห์ผู้มีบทบาทสำคัญอีกรายหนึ่งในระบบการเมืองที่ทุจริตของเลบานอนจะพยายามจัดการความตึงเครียดเหล่านี้เพื่อรักษาอิทธิพลในประเทศ

ทุกวันนี้ชาวเลบานอนกำลังเผชิญกับโศกนาฏกรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังจากประสบกับการล่มสลายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและพยายามที่จะต่อสู้กับโรคระบาดท่ามกลางทรัพยากรที่มีจำกัด ตอนนี้พวกเขาต้องเผชิญกับภารกิจใหญ่หลวงในการรักษาผู้บาดเจ็บและสร้างเมืองหลวงและท่าเรือหลักขึ้นมาใหม่ มีความรู้สึกโกรธเคืองและเหนื่อยล้าหลังจากผ่านสิ่งที่ประเทศได้รับมา

ชาวเลบานอนต้องการความช่วยเหลือทั้งหมดที่จะได้รับจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ชนชั้นนำของประเทศซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่ควรได้รับอนุญาตให้ใช้ความช่วยเหลือจากนานาชาติเป็นเสื้อชูชีพเพื่อช่วยตัวเองจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประชาคมระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่จะมองว่าการระเบิดในเบรุตเป็นเพียงวิกฤตด้านมนุษยธรรม อย่างไรก็ตามการให้ความช่วยเหลือแก่ระบบการเมืองเลบานอนโดยไม่ตั้งคำถามถึงบทบาทในการนำพาโศกนาฏกรรมนี้มาและการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ก็จะเสมือนเป็นการทำอันตรายหรือเท่ากับไม่ได้ช่วยชาวเลบานอนเลย

และจะเป็นการให้โอกาสอีกครั้งต่อชนชั้นนำที่ทุจริตในการหลบเลี่ยงความผิด ปัดความรับผิดชอบ และบ่ายเบี่ยงในการปฏิรูปโครงสร้าง!!

เขียนโดย Joe Macaron

แปล/เรียบเรียงจาก aljazeera

***มุมมองในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่จำเป็นต้องสะท้อนจุดยืนของกองบรรณาธิการเดอะพับลิกโพสต์