ภาษีบาปหมื่นล้าน แปลงเป็น “ทุน” หนุน “ภาคอุตสาหกรรม” กับคำถาม เงินมาจากส่วนไหน? จะใช้ยังไง?

สดๆ ร้อนๆ กับเงินภาษีบาปที่จะถูกแปลงเอากลับมาใช้เป็น “ทุน” สนับสนุน “ภาคอุตสาหกรรม” ตามนโยบายของรัฐบาล เกี่ยวกับการเสริมแกร่งเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยมีเรี่ยวมีแรงมีกำลังมากพอออกไปสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างงาน และสร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ในรูปแบบของ ร่างพ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย”วงเงิน 10,000 ล้าน บาท ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว ในหลักการ รอตีกลับมาแก้ไขในรายละเอียด แล้ว ออกมาเป็นกฎหมาย

แนวคิดนี้ถูกอธิบายโดย “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทันทีที่เพิ่งออกจากคณะรัฐมนตรีแบบสดๆ ร้อนๆ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา 2 ชุด มี คณะกรรมการเจรจา ค้นหา และเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมกองทุน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นประธาน และคณะกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 

เรื่อง นี้โดยหลักการถือว่าเป็นเรื่องดี และน่าปรบมือกดไลค์ให้คนคิด จนกระทั่งออกมาเป็นร่างกฏหมาย แต่ก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า ที่มาของเงินก้อนนี้มาจากไหน

คำตอบของเม็ดเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ตอบไว้ชัดโดย วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล” รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่ง ระบุ ว่า เม็ดเงินสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะนำเงินมาจากงบประมาณ รวมกับเงินส่วนเกินจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

ซึ่งปกติเงินส่วนนี้ที่ไปสนับสนุน สสส. และกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ มาจากเงินภาษีในสินค้าที่มีผลต่อสุขภาพ อาทิ เหล้า เบียร์ บุหรี่ หรือว่ากันง่ายๆ คือ “เงินภาษีบาป” ที่รู้จักกันนั่นเอง

หลักการคือ เอาเงินส่วนที่เกินจากการสนับสนุน สสส.และกองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ปัดลงมาตั้งต้น แล้วเติมงบประมาณจากภาครัฐเข้าไปให้เต็ม 10,000 ล้านบาท

ที่นี้ก็เกิดข้อสงสัยกันในสองส่วน โดยส่วนแรกพูดกันถึง “เงินภาษีบาป” ที่ไม่ค่อยจะมีใครพูดถึง ว่าจะมีตัวเลขซักเท่าไหร่? อยู่กับ สสส.เท่าไหร่? อยู่กับ กองทุนพัฒนาการกีฬาเท่าไหร่? แล้วส่วนล้นเกินจะมีเท่าไหร่? รัฐต้องควักอีกเท่าไหร่?

ส่วน ที่สองถามกันต่อไปอีกว่า กองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ นี้ จะให้ใครบริหาร? บริหารงานอย่างไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร? ในรูปแบบไหน? ให้กู้? หรือช่วยเหลือแบบให้เปล่า? และจะใช้ได้เมื่อไหร่?

ตามกลับไปถามต้นทางที่ รอง ผอ.สศค. คำตอบคือ “ไม่รู้ ผมไม่ได้ดูตรงนี้”

เจอคำตอบแบบนี้เข้า เล่นเอาถึงอึ้งกิมกี่ เพราะก่อนหน้านี้ ก็ รองผอ.สศค.ไม่ใช่หรือที่ให้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผ่านสื่อยักษ์ใหญ่ และให้ข่าวว่าได้นำเสนอร่างพรบ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ ฉบับนี้เข้าครม.จนกำลังจะออกมาเป็นกฏหมายที่มีผลบังคับใช้ในทางนิตินัย โดยมีเงินภาษีบาปเป็นเป้าหมาย

เมื่อเสร็จสรรพจากคำถามนี้ ก็ตามไปตั้งข้อสังเกตกันอีกว่า “เงินที่จะมาจากกฎหมายฉบับนี้ในอนาคตกว่า 10,000  ล้านบาท จะถูกเกลี่ยออกมาจากส่วนที่เหลือจาก สสส.และกองทุนพัฒนาการกีฬาฯ เท่าไหร่ ถ้าน้อย ไม่พอรัฐต้องควักงบประมาณเพิ่มเพื่อเติมเต็มให้ถึง 10,000 ล้านบาท จะมีเงินพอไหม? แล้วถ้าไม่พอ

คำตอบสุดท้ายคือต้องไปรีดไปขึ้นภาษีบาปกันอีกรอบมั้ย?

เรื่อง ต้องขึ้นภาษีบาป ไม่เลวร้ายเท่ากับเป้าหมายของการนำเอาเงินใช้ ภาษีบาปคือสินค้าที่ทำลายสุขภาพ เมื่อตรรกะไม่วิบัติ เงินที่ได้ ควรจะไปเติมเต็มให้กับ “การดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย” มากกว่าการเอาไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ที่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีหลักการว่าจะให้ใครเท่าไหร่ยังไงรูปแบบไหน? สมมุติเล่นว่า เกิดไปให้กับอุตสาหกรรมที่มีผลต่อสุขภาพ เรื่องนี้มีใครคิดกันถึงตรงนั้นบ้างหรือไม่? นี่แค่ ข้อสังเกตเล็กๆ

ข้อสังเกตที่ใหญ่กว่านั้น บนหลักการที่ยังไม่มีใครตอบได้ แม้แต่คนนำเสนออย่าง รองผอ.สศค. การจะใช้เม็ดเงินนี้อย่างไร สมมุติ ตกหล่นหายไปซักสี่ซ้าห้าสิบล้านบาท ใครรับผิดชอบ? ไม่ได้สมมุติไกล ตกหล่นตกไหน ตกหล่นอย่างไร คือตกหล่นในกรณีสนับสนุนแบบให้เปล่า กับ ตกหล่นผ่านการให้กู้

และหรือ สมมุติไปไกลกว่านั้น อาจตกหล่นไปกับการให้เปล่าและให้กู้เฉพาะพวกพ้องแบบผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งหมดนี้ใครรับผิดชอบ?

เพราะวันนี้พรบ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ ผ่านครม.ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ต้นทางกลับยังไม่เคลียร์ทั้งคำถามทั้งข้อสังเกต บอกมาเป็นนัยๆ เลยว่า “ไม่รู้ ไม่ได้ดูตรงนี้” มัน คล้ายๆ กับ “เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นกองทุนเหมือนกัน สุดท้ายเกิดปัญหาแล้วปัดกันพัลวัล รัฐบาลก็ไม่รับ กองทัพก็ไม่เกี่ยว” อะไรประมาณเดียวกันหรือเปล่า?

ตอบแบบนี้ งานนี้ ท่านรองผอ.สศค. เตรียมพร้อมไว้อย่างดีใช่หรือเปล่า?

แล้วที่ท่านตอบกลับมาแบบนี้ แถมไม่ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ชวนให้ตั้งข้อสังเกตไปไกลกว่านี้ได้อีก  “เอ๊ะ….หรือว่า กองทุนนี้ฯ ทำท่าจะมีปัญหาในอนาคตหรือเปล่า?”

ในขณะที่ต้นเรื่องอย่างสศค. เอง ยังเสียงแตก บ้างก็ว่า ผ่านครม.ในหลักการแล้วต้องนำมาแก้ไขในรายละเอียดอีกครั้ง อาจไม่มีการใช้เงินภาษีบาปเลยก็ได้ แต่จะใช้ “เงินงบประมาณล้วนๆ”

ย้อนแย้งกับท่านรองผอ.ที่ไปให้สัมภาษณ์นสพ.ยักษ์ใหญ่เอาไว้ก่อนหน้านี้ ว่า “จะใช้ภาษีบาป” มาเกลี่ยใหม่

ตกลงเอาไงแน่ ตอนจะชงเรื่องนี้เข้าครม. คนใน สศค.ปรึกษาหารือกันบ้างหรือเปล่า?

พอสอบถามไปที่คนให้ข่าว รองผอ.สศค .ก็ปฏิเสธพูดถึงรายละเอียด ให้เจ้าหน้าที่หน้าห้อง ออกตัวออก มาตอบแบบ “เจ๊กก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่เชิง” แบบนี้ส่อจะ “เรียกแขก” พรบ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ ผ่านครม.ใน หลักการมาแล้ว ดีใจชูจั๊กแร้เชียร์ไว้แล้ว สุดท้าย ตอบคำถามอะไรไม่ได้ เลยกลายเป็นข้อสังเกต แล้วข้อสังเกตแบบนี้ มันช่างน่าค้นคว้าหาคำตอบยิ่งนัก

ทัพ ภารณ/โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ : รายงาน