Empower of Hijab “พลังแห่งผืนผ้า” ตอนที่ 1

ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการคลุมศีรษะของสตรีในสมัยโบราณ

ผู้คนโดยส่วนใหญ่เข้าใจว่าผ้าคลุมศีรษะของสตรี(ฮิญาบ) อยู่ในเพียงบริบทของศาสนาอิสลามเท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้ววัฒนธรรมการคลุมผ้าของสตรีมีความเก่าแก่กว่านั้นมาก จากหลักฐานการบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้มีการขุดค้นพบรูปแกะสลักของสตรีที่คลุมศีรษะย้อนไปได้ถึง 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ตั้งแต่อารยธรรมเมโสโปเตเมียโบราณ (Mesopotamia Ancient) ในการคลุมศีรษะและผมของเจ้าสาวด้วยผ้าคลุมหน้า โดยรวบรวมจากข้อความอักษรคูนิฟอร์มจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าพิธีแต่งงานในสหัสวรรษที่3ก่อนคริสต์ศักราช ชาวสุเมเรียนมีความเกี่ยวข้องกับการที่เจ้าบ่าวคลุมหรือคลุมหน้าเจ้าสาวด้วยผ้าผืนหนึ่ง พิธีคลุมหน้าเจ้าสาว (เรียกว่า พุสซูมู) ก็เป็นส่วนสำคัญของพิธีแต่งงานในบาบิโลนด้วยเช่นกัน

2,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวฮิตไทต์ที่อยู่ใกล้เคียงอาจนำวิธีปฏิบัติแบบเดียวกันมาใช้ จากการขุดพบแจกันดินเผาโบราณของชาวฮิตไทต์ 2 ใบที่พบที่ Inandik และ Bitik ใกล้กับอังการา แสดงให้เห็นภาพพิธีแต่งงานที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวนั่งบนเตียงแต่งงานในขณะที่เจ้าบ่าวยกมือขึ้นเพื่อถอดผ้าคลุมหน้าเจ้าสาวออก ดูเหมือนว่าการคลุมหน้าจะแพร่หลายในหมู่สตรีที่มีสถานะสูงในสังคมอัสซีเรียเช่นกัน โดย Otto Schroeder นักโบราณคดีชาวเยอรมันได้ค้นพบประมวลกฎหมายอัสซีเรียตอนกลางที่จารึกไว้บนแผ่นดินเหนียว 15 แผ่น และสามารถแปลอักษรเหล่านี้ได้ในปี 1920 ที่ระบุรายละเอียดที่มีการกำหนดให้สตรีในวัยแต่งงาน มารดา สตรีที่มีอิสระอื่น ๆ รวมไปถึงสตรีที่มีสถานะทางสังคมต้องคลุมศีรษะด้วยผ้าคลุมหน้าในที่สาธารณะ หรือที่บ้านต่อหน้าผู้ชายที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด ในทางตรงกันข้าม โสเภณีหรือทาสที่ไม่มีผู้ดูแลถูกห้ามไม่ให้คลุมหน้าและจะได้รับการลงโทษอย่างหนักหากพวกเธอละเมิดกฏข้อนี้ ” ถ้าภรรยาของผู้ชายหรือลูกสาวของผู้ชายออกไปที่ถนน จะต้องคลุมศีรษะของพวกเขา โสเภณีไม่ควรถูกคลุมหน้า ห้ามมิให้สาวใช้คลุมตัว หญิงโสเภณีที่คลุมหน้าและสาวใช้จะถูกยึดเสื้อผ้าและเฆี่ยนตี 50 ครั้งและราดน้ำมันดินบนศีรษะ”

ยังมีการปรากฏตัวของผ้าคลุมของสตรีในดินแดนลิแวนต์ก่อนการมาของศาสนาอิสลาม ( Levant – ประเทศซีเรีย เลบานอน อิสราเอล ปาเลสไตน์ จอร์แดน ส่วนหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศตุรกีในปัจจุบัน ) ตามที่แสดงในพันธสัญญาเดิม ในบทปฐมกาล 24:64-65 “เรเบคาห์เงยหน้าขึ้น และเมื่อเธอเห็นอิสอัค เธอลงจากอูฐของเธอ เพราะนางได้บอกคนใช้ว่า “ชายผู้นี้ที่กำลังเดินมาหาเราในทุ่งนาคือใคร” คนรับใช้กล่าวว่า “เป็นนายของข้าพเจ้า” นางจึงเอาผ้าคลุมหน้ามาคลุมตัว” และมีการกล่าวถึงในบทปฐมกาลอีกตอนหนึ่งว่า “ตอนนี้ซูซานนาช่างบอบบางและงดงามเหลือเกิน แต่คนชั่วเหล่านั้นสั่งให้เปิดหน้าของเธอ เพื่ออย่างน้อยพวกเขาก็จะได้พอใจในความงามของเธอ” อย่างไรก็ตาม ฮิญาบยังคงไม่จำกัดเฉพาะบริบทของอับราฮัมเท่านั้น ในหนังสือ Women and Gender in Islam ของ Leila Ahmed ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการสวมผ้าคลุมหน้าเป็นการอวดอ้างถึงชนชั้นสถานะที่สูงส่งและมั่งคั่งของสตรีในสังคมอัสซีเรีย โรมัน กรีก เปอร์เซีย และไบแซนไทน์ (ในเวลาต่อมา)

ในสมัยอารยธรรมกรีกวัฒนธรรมการคลุมผ้าต่อหน้าผู้ชายที่ไม่เกี่ยวข้องทางสายเลือดมิได้จำกัดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ทว่ายังขยายไปถึงสตรีชนชั้นอื่นๆทางสังคม โดยที่เด็กผู้หญิงจะถูกคลุมศีรษะตั้งแต่วัยแรกรุ่น เมื่อถึงเวลาแต่งงาน พวกเขาจะสวมผ้าคลุมศีรษะและใบหน้าเจ้าสาว รูปปั้นกรีกคลาสสิกบางชิ้นงานได้แสดงถึงสตรีชาวกรีกที่คลุมทั้งศีรษะและใบหน้าด้วยผ้าคลุมหน้า Caroline Galt และ Lloyd Llewellyn-Jones ต่างก็โต้เถียงกันจากการเป็นตัวแทนและการอ้างอิงทางวรรณกรรมว่าเป็นเรื่องปกติที่สตรี (อย่างน้อยผู้ที่มีสถานะสูงกว่า) ในสมัยกรีกโบราณจะปกปิดผมและใบหน้าในที่สาธารณะ สตรีชาวโรมันถูกคาดหวังให้สวมผ้าคลุมหน้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของสามีที่มีต่อภรรยา สตรีแต่งงานแล้วที่ไม่คลุมศีรษะจะถูกมองว่าถอนตัวออกจากการแต่งงาน ในปี 166 ก่อนคริสตกาล กงสุลซุลปิซิอุส กัลลุส หย่าขาดกับภรรยาเนื่องจากเธอออกจากบ้านโดยเปิดเผย โดยปกติสาวโสดจะไม่คลุมศีรษะ แต่สาวโสดคลุมศีรษะเพื่อแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนและความบริสุทธิ์ทางเพศ ผ้าคลุมยังช่วยปกป้องสตรีจากสายตาชั่วร้ายอีกด้วย

ในดินแดนเปอร์เซีย มีการค้นพบประติมากรรมของยุคอะคีเมนิด Achaemenid (550-330 ปีก่อนคริสตกาล) จำนวนหนึ่งที่สุสานหรือวิหารของ Lydian satrap ที่ Daskyleion ใกล้กับ Ergili ในอนาโตเลีย แสดงขบวนสตรีบนหลังม้า (ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของขบวนแห่ศพ) โดยปรากฎภาพสตรีแต่งกายด้วยชุดยาวคลุมศีรษะและลำคอ แต่เปิดใบหน้าในลักษณะที่คล้ายคลึงกับ chador ในสมัยปัจจุบัน การปฏิบัติเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติในอารยธรรมโบราณหลายแห่งในประวัติศาสตร์ เช่น สุเมเรียน อัสซีเรีย บาบิโลเนีย และเปอร์เซีย การคลุมหน้าและการปลีกตัวของสตรีเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมทางสังคมที่ชาวเปอร์เซียรับมาจากชาวอัสซีเรียและคงไว้ตลอดช่วงสมัย ในเปอร์เซียโบราณสตรีจากตระกูลขุนนางชนชั้นสูงมักถูกเก็บตัวและต้องปกปิดเมื่อออกไปในที่สาธารณะ

เมื่อสังคมขยายตัวเติบโตขึ้นเป็นวงกว้าง ผ่านปฏิสัมพันธ์ทางการค้า และการพิชิตดินแดนของอาณาจักรต่างๆ อีกทั้งยังมีการผสมผสานกันของประชากรทำให้เกิดการบรรจบและการร่วมกันทางวัฒนธรรมขยายตัวออกไปยังดินแดนอื่นๆรวมไปถึงบนคาบสมุทรอาระเบีย วัฒนธรรมร่วมกันของสตรีที่สวมผ้าคลุมศีรษะในอารยธรรมต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มีนัยยะเพื่อเป็นการบ่งบอกถึงสถานะที่สูงส่ง การให้คุณค่า ยกย่อง และให้ความเคารพต่อสตรีผู้นั้น ซึ่งวัฒนธรรมการปกปิดร่างกายเช่นนี้ส่งอิทธิพลมาถึงการแต่งกายของสตรียุคกลางของยุโรปในเวลาต่อมา และอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผ้าคลุมศีรษะหรือฮิญาบในอีกนัยยะนึงกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมกันในหลายชนชาติคือ ” ศาสนา “

อ้างอิง
– The UnIslamic Hijab : Priceofmasr.wordpress.com
– History of the Veil. Part One :
Veil in the Ancient World Alexandrakinias.wordpress.com
– The veil /www.suppressedhistories.net
– Some Observations Concerning Ancient
Mesopotamia Women by Beatrice Allard Brooks / Wellesley , Massachusetts.