นับเป็นโศกนาฏกรรมที่ทำให้โลกตะลึงไปตามๆ กัน จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ มือปืนบุกกราดยิงสังหารหมู่ที่ สำนักงานของนิตยสาร ‘ชาร์ลี เอบโด’ (Charlie Hebdo) ในกรุงปารีส นครหลวงฝรั่งเศส เมื่อช่วง 11.30 น. ของวันพุธที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เสียชีวิต 12 ศพ ที่เป็นบรรณาธิการ นักวาดการ์ตูนและเจ้าหน้าที่ประจำนิตยสาร 10 ศพ รวมทั้งมีตำรวจด้วย 2 ศพ
ถึงแม้ยังไม่มีการสรุปถึงแรงจูงใจในการโจมตีสำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอบโด อย่างเป็นทางการ แต่ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า สาเหตุน่ามาจากความต้องการแก้แค้นทางศาสนา เนื่องจากไม่พอใจในบทบาทและแนวทางการนำเสนอของกองบรรณาธิการ
ซึ่งกล่าวได้ว่าสิ่งที่ผู้ก่อการร้ายมุ่งโจมตี “ไม่ใช่” ตัวบุคคล แต่เป็น “แนวคิด” ของกลุ่มบุคคล
ที่ผ่านมา “ชาร์ลี เอบโด” (Charlie Hebdo) ซึ่งมียอดพิมพ์ฉบับละ 45,000-50,000 เล่มต่อสัปดาห์ มีแนวเสียดสี ล้อเลียน เรื่องราวต่างๆ ทั้งทางการเมือง สังคม-วัฒนธรรม และอื่นๆ รวมทั้งในเรื่อง “ศาสนา” ที่กองบก.มองว่า ความเชื่อทางศาสนา “ไม่ต่าง” จากความเชื่ออื่นๆ ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามได้อย่างเสรี
พวกเขาบอกว่านี่คือ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”
อันที่จริง ก่อนหน้านี้ “ชาร์ลี เอบโด” ไม่ใช่สื่อกระแสหลักหรือโด่งดังอะไรมาก สถานะทางการเงินของพวกเขาย่ำแย่จนต้องขอรับบริจาคเสียด้วยซ้ำ จนกระทั่ง เมื่อสื่อรายนี้ได้ก้าวล่วงเข้ามาในโลกของมุสลิม ด้วยการพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อศาสดามูฮัมหมัดของศาสนาอิสลาม จึงทำให้ชื่อของสื่อรายนี้ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ซึ่งนั่นเป็นจุดที่สร้างความไม่พอใจแก่ชาวมุสลิมเป็นจำนวนมาก และเป็นชนวนเหตุประท้วงวุ่นวายอยู่หลายครั้ง
และเป็นเหตุนำพามาถึงวันนี้ เมื่อผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งที่เป็นมุสลิมหัวรุนแรงสุดโต่งนำมาเป็นข้ออ้างในการเข้าโจมตี จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
กระนั้น แม้มุสลิมส่วนมากจะไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอของ ชาร์ลี เอบโด แต่ก็เช่นกันที่มุสลิมส่วนมากก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรง
โดยเฉพาะในเหตุโศกนาฏกรรมล่าสุดนี้ มุสลิมจำนวนมากมีการแสดงจุดยืนต่อต้านความสุดโต่งและการใช้ความรุนแรงอย่างชัดเจน ในโลกโซเชียลมีการแสดงออกภายใต้การแฮชแท็กข้อความ “#Not in my name” หรือ “#Stop killing in our name”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพวกเขาจะประณามการก่อเหตุโจมตีที่ฝรั่งเศสอย่างเด็ดขาด แต่ก็คงไม่สามารถทำใจสนับสนุนสื่อที่ล้อเลียนศาสนาอย่าง ชาร์ลี เอ็บโด ได้
กล่าวได้ว่า คงเป็นเรื่องที่ทำใจยาก ถ้าจะให้ถึงขนาดมุสลิมบอกว่า “Je suis charlie” ที่แปลว่า “เราคือชาร์ลี” ตามที่มีกระแสสนับสนุนและรณรงค์อยู่ทั่วโลกตอนนี้
เพราะพวกเขาเชื่อว่า บทบาทของ ชาร์ลี เอบโด เป็นไปในลักษณะ-ยั่วยุ-ดูหมิ่น-เหยียดหยาม หรือถึงขั้น “Hate Speech” เสียด้วยซ้ำ!!
ถึงแม้จะมีบางคนพยายามแก้ต่างว่า การนำเสนอของ ชาร์ลี เอบโด เป็นเพียงการล้อเลียน-ตลก-ขำขัน หรือมากสุดก็แค่ เสียดสี ก็ตามที!!
หลังเหตุอันน่าเศร้าสลด จึงมีหลายเรื่องหลายราวให้ทุกฝ่ายต้องหันกลับมาครุ่นคิด
หนึ่งนั้นคือ นิยามของ “เสรีภาพในการพูด” (freedom of speech) หรือ “การแสดงออก” (freedom of expression) ว่ามีกำหนดขอบเขตขนาดไหน
เสรีภาพ หมายถึง พูดหรือทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องสนใจใครหน้าไหน
หรือ เสรีภาพนั้นถูกจำกัดว่าจะต้องไม่ล่วงละเมิดสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น!!
เพราะหากเสรีภาพเป็นไปในความหมายแรก นั่นก็คงเป็น เสรีภาพแบบสุดโต่ง
ซึ่งเราคงต้องอธิบายโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นว่า เป็นการปะทะกันของพวกที่มีแนวคิดสุดโต่ง (extremism) และ หัวรุนแรง (radicalism) ด้วยกันทั้งคู่
บรรณาธิการบริหาร