มรดกด้านการต่างประเทศของอิมามโคมัยนี : 
เนื่องในวันรำลึกการอสัญกรรมอิมามโคมัยนี ปีที่ 32

เมื่อกล่าวถึงมรดกด้านการต่างประเทศของท่านอิมามโคมัยนี หลายท่านคงเริ่มพิจารณานับตั้งแต่หลังการปฏิวัติอิสลามของอิหร่านเป็นต้นมา ดังที่นักวิชาการหลายท่านก็อาศัย ค.ศ.1979 เป็นจุดเริ่มนับเพื่อทำการศึกษาประเด็นหัวข้อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากจะทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น จำเป็นต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนหน้าการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ค.ศ.1979 เสียด้วย (ต่อไปนี้ผู้เขียนจะขอกระชับคำเรียกย่อว่า การปฏิวัติอิสลามฯ) เพื่อเติมต่อภาพเน้นย้ำเกี่ยวกับปรัชญาพื้นฐาน และแนวทางการต่างประเทศของท่านอิมามโคมัยนี เพราะบทบาทด้านการต่างประเทศของท่านนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดในตะวันออกกลางมานับเป็นทศวรรษก่อนหน้าการปฏิวัติอิสลามฯ และความมั่นคงแน่วแน่ในแนวทางดังกล่าวนำมาซึ่งการที่ท่านอิมามโคมัยนีประกอบสร้างกรอบเค้าโครงการต่างประเทศที่สะท้อนถึงปรัชญาพื้นฐานของท่านในฐานะองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติอิสลาม อันบัญญัติอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นทั้งแหล่งที่มาของอำนาจและคุณค่าสูงสุดซึ่งสถาบันทางการเมืองต่างๆ ต้องดำเนินการบนหลักการของอุดมการณ์นั้น และพิทักษ์รักษาไว้ให้สืบต่อไป 

ดังนั้นแล้ว คุณูปการด้านการต่างประเทศของท่านอิมามโคมัยนีจึงทั้งสะท้อนปรัชญาพื้นฐานและบทบาทที่ท่านที่ดำเนินการตั้งแต่ก่อนหน้าการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ค.ศ.1979 และทั้งเป็นมรดกตกทอดของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ที่แม้ว่ากลุ่มการเมืองปีกที่แตกต่างกันจะสลับกันขึ้นมาครองอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แต่กรอบเค้าโครงอันเป็นแก่นแกนด้านการต่างประเทศที่ท่านอิมามโคมัยนีลงหลักปักฐานเอาไว้และสืบสานพัฒนาต่อในยุคของท่านอิมามคาเมเนอีนั้น ก็ยังคงเป็นปรัชญาพื้นฐานและสารัตถะแนวทางการต่างประเทศของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยเรื่อยมา

ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับซัยยิดสุไลมานฮูซัยนีในประเด็นนี้ซัยยิดบอกเล่าอย่างน่าสนใจมากว่าบทบาทด้านการต่างประเทศของท่านอิมามโคมัยนีนั้นดำรงอยู่มาอย่างน้อย 2 ทศวรรษก่อนหน้าการปฏิวัติอิสลามฯแล้วโดยเฉพาะที่โดดเด่นคือท่านสนับสนุนดร.มุสตอฟาชัมรอน (Mustafa Shamron) ผู้สำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปสนับสนุนการต่อสู้ของขบวนการปลดแอกปาเลสไตน์และสนับสนุนการก่อตั้งกลุ่มฮิซบอลเลาะฮฺในเลบานอน (สุไลมานฮูซัยนี, สัมภาษณ์, 2654) กระทั่งได้รับการยกย่องจากซัยยิดฮะซันนัศรุลเลาะฮ์ผู้นำกลุ่มว่าเป็นเสมือนบิดาผู้ก่อตั้งฮิซบอลเลาะฮฺ (the founding father) (Osman, 2016) 

นอกจากนี้หลังจากที่การปฏิวัติอิสลามฯได้บังเกิดขึ้นการดำเนินการต่างประเทศแรกสุดที่อิหร่านยุคใหม่กระทำคือการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตแบบเป็นทางการกับแอฟริกาใต้เพราะแอฟริกาใต้ยุคนั้นดำเนินนโยบายแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) ส่งผลให้แอฟริกาใต้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันเพราะพึ่งพาการนำเข้าจากอิหร่านอยู่มากกว่าร้อยละ 90 ของน้ำมันทั้งหมดรวมทั้งส่งผลเชิงหนุนเสริมการเติบโตขึ้นของกลุ่มติดอาวุธมุสลิมในแอฟริกาใต้ซึ่งปฏิบัติการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมจากนโยบายแบ่งแยกสีผิวอยู่ในยุคสมัยนั้น (Chehabim, 2016)

ลำดับถัดมาคือ การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลเพราะการรุกรานยึดดินแดนของชาวปาเลสไตน์ โดยท่านอิมามโคมัยนีประกาศให้อิสราเอลนั้นเป็นศัตรูของอิสลาม ส่งผลให้ความสัมพันธ์ที่เคยเป็นมิตรใกล้ชิดกันมานานกว่า 30 ปี พลิกหน้ามือเป็นหลังมือภายในชั่วข้ามคืน (Kaye, Nader, & Roshan, 2011)

บทบาทด้านการต่างประเทศเหล่านี้ของท่านอิมามโคมัยนีเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันแนวทางของอิหร่านต่อโลกอย่างชัดเจนคือการยืนหยัดอยู่ข้างผู้ถูกกดขี่ผู้ถูกอธรรมและต่อต้านจักรวรรดินยมอย่างแน่วแน่โดยอาศัยเครื่องมือและวิธีการดำเนินนโยบายต่างประเทศอันหลากหลายให้เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์แต่ละช่วงเราจึงจะพบเห็นว่าอิหร่านหลังปฏิวัติอิสลามฯซึ่งรับมรดกสำคัญด้านการต่างประเทศจากแนวทางที่ท่านอิมามโคมัยนีวางไว้ไม่ลังเลที่จะสนับสนุนด้านการทหารต่อชนชาติที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมอย่างกว้างขวางในตะวันออกกลางและขณะเดียวกันอิหร่านก็ไม่ปฏิเสธที่จะใช้เครื่องมือทางการทูตคือการเข้าร่วมวงเจรจาพูดคุยกับคู่ขัดแย้งเพื่อหาทางออกจากปัญหาดังเช่นกรณีโครงการพัฒนานิวเคลียร์พร้อมกันนั้นก็ยืนหยัดมั่นคงที่จะท้าทายต่อแรงกดดันให้อิหร่านหันเหไปจากเป้าหมายอุดมการณ์ที่ยึดถือสังเกตได้จากการสู้รบอันยืดเยื้อกับอิรักและการต้านทานกับการคว่ำบาตรของโลกตะวันตกอย่างยาวนาน 

แนวทางการต่างประเทศของท่านอิมามโคมัยนีดังกล่าวไว้จึงเป็นเสมือนการยืดขยายอุดมการณ์ของการปฏิวัติอิสลามฯภายในประเทศไปปฏิบัติการในระดับระหว่างประเทศที่เรียกว่า “การส่งออกการปฏิวัติอิสลาม” (the Exportation of Islamic Revolution) ซึ่ง “การส่งออก” ในที่นี้มิได้กุมความหมายทางการเมืองแบบปกติที่คนทั่วไปอาจเข้าใจผิดไปท่านอิมามคาเมเนอีเคยขยายความแนวทางข้อนี้ของท่านอิมามโคมัยนีเอาไว้ครั้งหนึ่งว่า “การปฏิวัตินั้นมิใช่สิ่งที่จะสามารถส่งออกไปให้กันและกันได้ด้วยเครื่องมือทางการเมืองหรือการทหาร” แต่เป็นการปลุกตื่นสำนึกแห่งตัวตนอัตลักษณ์ความเป็นอิสลามจากความพยายามกว่า 200 ปีในการลบให้เลือนหายไปจากชนมุสลิมด้วยน้ำมือของมหาอำนาจและเจ้าอาณานิคมตะวันตกเพื่อให้พวกเขาสามารถปกครองกดขี่และควบคุมทางการเมืองเหนือโลกมุสลิมได้โดยง่ายการปลุกตื่นอันเป็นนิยามของการส่งออกนี้ก็คือการรุกเร้าสังคมมุสลิมให้ฟื้นระลึกกลับมาจำได้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตนเองและกลับมามีความมั่นใจในตนเองสำหรับการต่อต้านขัดขืนกับอธรรม (Khamenei, 2003; Khamenei, 2010)  

อุดมการณ์เชิงปฏิวัติที่ท่านอิมามโคมัยนีเสนอต่อระบบระหว่างประเทศโดยหลักแล้วคือการปฏิวัติระบบใหม่โดยยืนหยัดต่อต้านขัดขืนจักรวรรดินิยม สลายโครงสร้างความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมระหว่างชนชาติ สลายเส้นแบ่งโลกมุสลิมออกเป็นรัฐชาติตามกรอบคิดและประสบการณ์ของตะวันตกแล้วแทนที่ด้วยหน่วยนับใหม่ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่หลอมรวมโลกมุสลิมเข้าด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง คือ อุมมะฮฺ (Ummah) อันถูกบ่อนทำลายเอกภาพจากปัจจัยภายนอกคืออิทธิพลของจักวรรดินิยมตะวันตก พอๆ กับกัดกร่อนตัวเองจากภายในผ่านการตีความของสำนักคิดในอิสลามสำนักต่างๆ ที่แข็งกระด้างขีดแบ่งระหว่างกัน และการแข่งขันเผชิญหน้ากันในทางภูมิรัฐศาสตร์ (Piscatori & Saikal, 2019)     

หลักความคิดตรงนี้เป็นฐานของการส่งเสริมนโยบายต่างประเทศสำคัญที่สุดนโยบายหนึ่งของอิหร่านในระยะแรกของการปฏิวัติอิสลามฯคือนโยบายไม่เลือกข้างทั้งตะวันออกและตะวันตกหรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Neither the East Nor the West Policy” อันมีองค์ประกอบสำคัญคือการยืนหยัดได้ด้วยการพึ่งพาตนเองของชนชาติต่างๆอย่างเป็นอิสระในตนเองแต่พร้อมกันนั้นก็สัมพันธ์เกื้อกูลกันในโลกที่เป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ภายใต้แนวทางของอิสลามดังนั้นคำว่า “ไม่ทั้งตะวันตกและไม่ทั้งตะวันออก” ในที่นี้จึงมิได้หมายถึงการล้มเลิกความสัมพันธ์กับโลกภายอนกแต่หมายถึงการไม่รับเอาตัวแบบวิธีการดำเนินการต่างประเทศของทั้งตะวันตกและตะวันออกในบริบทยุคสมัยที่โลกขณะนั้นเผชิญกับการแข่งขันอิทธิพลกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตและแบ่งขั้วแบ่งค่ายกันเป็นสองฝั่งแนวนโยบายต่างประเทศข้อนี้ของอิหร่านจึงเท่ากับการเสนอตัวแบบทางเลือกต่อระบบระหว่างประเทศดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นเอง   

นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบางท่านจึงให้นิยามแนวทางต่างประเทศของอิหร่านภายใต้ทางนำของท่านอิมามโคมัยนีว่าแนวทางอุดมคตินิยมสัจนิยม (Realist Idealism) (Ramazani, 1992) กล่าวคือมีภาวะอุดมคติของสังคมระหว่างประเทศเป็นที่ตั้งเป้าหมายนโยบายต่างประเทศในภาพสังคมที่เป็นธรรมระหว่างชนชาติศาสนาต่างๆซึ่งได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกันโดยไร้ซึ่งการบังคับกดขี่เอาเปรียบอันเป็นคุณลักษณะของลัทธิจักรวรรดินิยมเป้าหมายนโยบายต่างประเทศของอิหร่านจึงถูกจัดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของแนวทางอุดมคตินิยมขณะเดียวกันนั้นในส่วนวิธีการบรรลุเป้าหมายอิหร่านหลังปฏิวัติอิสลามฯไม่ยึดติดกับวิธีการใดวิธีการหนึ่งเป็นการเฉพาะด้วยมองว่าภาวะอุดมคติอันเป็นเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้นั้นมีลำดับความสำคัญสูงกว่าเป้าหมายที่พวกเขาเห็นว่าถูกต้องนี้จึงเป็นตัวตัดสินความถูกต้องของวิธีการใดใดที่พวกเขาเลือก (ends justified means) ซึ่งจำจะต้องคิดในเชิงยุทธศาสตร์ปรับให้เข้ากับบริบทสถานการณ์ที่เผชิญในแต่ละห้วงเวลาและกรณีพื้นที่ทำการเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ผลจริงหรือที่เรียกว่าเป็นวิธีคิดแบบปฏิบัตินิยม (pragmatism) อันรวมถึงการพิจารณาในเชิงของแง่มุมกำลังอำนาจ (power capability) ในฐานะฐานของการคิดคำนวณเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินการด้วยซึ่ง 2-3 ประการที่ว่ามานี้เป็นคุณลักษณะของแนวคิดแบบสัจนิยมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั่นเอง       

อ้างอิง

สุไลมาน ฮูซัยนี. สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์. 

Chehabim, HE. (2016). “South Africa and Iran in the Apartheid Era,” Journal of Southern African Studies 42(4), 687-709. 

Kaye, D.D., Nader, A., & Roshan, P. (2011). Israel and Iran: A Dangerous Rivalry. CA: RAND Corporation. Chapter 2. 

Khamenei, A.H. (2003). “Leader’s Address to Workers and Teachers (speech),” Khamenei.ir. Retrieved as of 7 June 2021, https://english.khamenei.ir/news/130/Leader-s-Address-to-Workers-and-Teachers.

_____________ (2010). “Leader’s Speech to Foreign Seminarians in Qom (speech),” Khamenei.ir. Retrieved as of 7 June 2021, https://english.khamenei.ir/news/1397/Leader-s-Speech-to-Foreign-Seminarians-in-Qom. 

Osman, M. (2016). “Imam Khomeini: The founding father of Hezbollah,” Khamenei.ir. Retrieved as of 7 June 2021, https://english.khamenei.ir/news/3315/Imam-Khomeini-The-founding-father-of-Hezbollah. 

Piscatori, J., & Saikal, A. (2019). Islam Beyond Borders: the Ummah in World Politics. Cambridge, UK: Cambridge University Press. Chapter 3.   

Ramazani, R.K. (1992). “Iran’s foreign policy: Both North and South,” Middle East Journal 46(3),
393-412.