อาทิตย์ ทองอินทร์ : เจาะลึก! ภัยคุกคาม “ไอเอส” ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย

การกำเนิดของกลุ่มลัทธิความเชื่อสุดโต่งในนาม “รัฐอิสลาม” หรือ “ไอซิส” / “ไอเอส” สร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก โดยเฉพาะในระยะหลังที่กลุ่มไอเอสพยายามรุกคืบขยาย “แนวร่วม” และ “เขตปฏิบัติการ” ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ทำให้วันนี้ทั้งยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ล้วนตกอยู่ในความเสี่ยงจากภัยคุกคามของไอเอสไม่ต่างจากพื้นที่ตะวันออกกลาง

สำหรับ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นั้น มีข่าวหลายกระแสระบุตรงกันว่า กลุ่มไอเอสมีความพยายามที่จะ “ปักธง” ลงบนภูมิภาคนี้อย่างจริงจัง ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของประเทศต่างๆ ความตึงเครียดพุ่งถึงขีดสุดหลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดหลายจุดใจกลางกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ต้นปีที่ผ่านมา

อาจารย์ “อาทิตย์ ทองอินทร์” หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เขียนหนังสือ “การก่อการร้ายข้ามชาติในประเทศไทย: จากอดีตถึงปัจจุบัน” และเป็นคอลัมนิสต์ประจำ นสพ.เดอะพับลิกโพสต์ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกองบก. ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้

“เบื้องต้นในแง่เป้าหมายของไอเอสนั้น นับตั้งแต่วันแรกที่ประกาศตั้งระบบคอลีฟะห์ขึ้นมา พวกเขาประกาศชัดเจนอยู่แล้วที่จะเป็น ‘Global Caliphate’ นั่นคือการสร้างรัฐคอลีฟะห์ทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะซีเรียหรืออิรักเท่านั้น” อ.อาทิตย์ ทองอินทร์ อธิบายภาพเหตุผลการที่ไอซิสเคลื่อนไหว ขยายพื้นที่ปฏิบัติการจากตะวันออกลางไปยังภูมิภาคต่างๆ

“โจทย์ต่อมาคือไปพื้นที่ไหนได้บ้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงสร้างของเขามี 2 ลักษณะ ประการแรก ไอเอสสามารถไปตั้ง ‘วิลายะห์’ หรือเขตปกครองได้ในพื้นที่ซึ่งมีเซลล์ก่อการร้ายระดับท้องถิ่นอยู่แล้ว เช่น ลิเบีย ซึ่งตัวหลักคือกลุ่มที่แยกออกมาจากการสนับสนุนกัดดาฟี และอียิปต์หรือที่คาบสมุทรไซนาย ก็คือกลุ่ม ‘อันซาร์ เบต อัล-มักดิส’ คือมีเซลล์อยู่แล้วในแต่ละพื้นที่”

“ประการสอง ก็คือมักจะเป็นพื้นที่ซึ่งอำนาจรัฐไม่สามารถสถาปนาระเบียบตรงนั้นได้ หรือไม่สามารถแทรกอำนาจรัฐเข้าไปถึงตรงนั้นได้โดยสมบูรณ์ ก็จะมี 2 ลักษณะนี้ ซึ่งเห็นได้ว่าแอฟริกาเหนือกับเอเชียตะวันตกก็จะเยอะ เพราะมีลักษณะของสูญญากาศหลังอาหรับสปริง กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด” อ.อาทิตย์ ระบุ

ส่วนกรณีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น  อ.อาทิตย์  กล่าวว่า ก่อนหน้าเหตุการณ์ในจาการ์ตาเพียงสัปดาห์เดียว ประมาณวันที่ 6 มกราคม ก็มีหนังสือพิมพ์ของไอเอส ชื่อ ‘อัล-นะบาอ์’ ได้ประกาศว่า ไอเอสได้ให้การรับรอง ‘ฮาปิลอน’ ผู้นำท้องถิ่นของกลุ่มอาบูไซยาฟที่จังหวัดบาซิลัน หรือหมู่เกาะซูลูตอนใต้ ให้เป็นผู้นำผู้ปกครองเขตบาซิลัน ซึ่งก็คือการประกาศว่า บาซิลันไม่ใช่ของฟิลิปปินส์ แต่เป็นเขตปกครองของกลุ่มรัฐอิสลามเรียบร้อยแล้ว นี่คือการแผ่เข้ามาในแง่ทางการเมือง”

ส่วนแง่ของ “การทหาร” นั้น อ.อาทิตย์ เผยว่า “ประการที่หนึ่ง ถ้ามองจากไอเอสส่วนกลาง เป้าของเขาคือโจมตีพันธมิตรตะวันตกที่โจมตีเขาอยู่ เพราะว่าเขารบโดยตรงไม่ชนะ ก็ต้องรบแบบแทคติกสงครามกองโจร หรือสงคราม ‘อสมมาตร’ ตามทฤษฎี”

“ประการที่สอง ซึ่งน่าสนใจ คือ การที่เขาพุ่งเป้าโจมตีประเทศมุสลิมด้วยกัน ที่ขัดขวางประชาชนตัวเองในการเข้าร่วมกับไอเอส อันนี้คือเป้าหมายที่ไอเอสส่วนกลางประกาศไม่ชัด แต่กลุ่มที่ประกาศชัดมากคือกลุ่มย่อยในไอเอสที่เป็นชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งรบอยู่ในซีเรีย เช่น กลุ่ม ‘คอตีบะห์ นูซันตารา ลิด เดาละห์ อิสลามียะห์’ ที่อัดคลิปวิดีโอมาเลย เขาประกาศชัดว่าจะโจมตีต่อมาเลเซีย และอินโดนีเซีย  ซึ่งขัดขวางการเข้าร่วมกับไอเอสของประชาชนของประเทศเหล่านั้น”

“ขณะเดียวกัน เมื่อดูจากภาวะตีบตันของไอเอสในสมรภูมิที่ซีเรีย-อิรัก บวกกับแนวโน้มการหลั่งไหลเดินทางกลับบ้านของนักรบจำนวนมาก รวมทั้งในยุโรป ก็น่าจับตาเฝ้าระวังถึงความเสี่ยงในการแปรเปลี่ยนแท็กติกการรบ ไปสู่พื้นที่ภูมิลำเนาของนักรบเหล่านั้นมากขึ้น ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์ที่ไอเอสถ่ายเทการรบไปยังลิเบียมากขึ้นเป็นพิเศษกว่าพื้นที่อื่น โดยมีหมุดหมายอยู่ที่แหล่งน้ำมัน หลังจากโดนทลายการยึดครองในซีเรียลงไปหลายจุด”

“ในแง่นี้เราจะเห็นว่าปฏิบัติการทางการเมืองและการทหารนั้นมีความพยายามจะที่แผ่ไปทั่วโลก” อ.อาทิตย์ กล่าวและว่า

“ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าสนใจตรงที่หลายคนก็วิเคราะห์ทำนองนี้เหมือนกันว่า เหตุหลังๆ ที่เกิดขึ้น เช่นเหตุระเบิดจาการ์ตา ได้ฉีกทฤษฎีเกี่ยวกับการก่อการร้ายในภูมิภาคเราไปจากที่มีอยู่เดิม เพราะก่อนหน้านั้นเรามองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือพื้นที่เป็นแหล่งกบดาน แหล่งซื้อขายอาวุธ และเป็นสรวงสวรรค์อันปลอดภัยที่เขาจะไม่ก่อเหตุซึ่งจะทำให้เขาไม่ปลอดภัยในการใช้พื้นที่ตรงนี้”

“กรณีอินโดฯ เราจะพบว่ามันถูกเคลื่อนโดยเซลล์ในท้องถิ่น และตอบสนองเป้าหมายในท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว คือการต่อสู้โจมตีต่อเป้าหมายที่เป็นตะวันตก รวมทั้งตอนหลังที่อาจยกระดับการตีความไปสู่ตรงไหนก็ได้ที่ไม่มีความเป็นอิสลาม หรือขัดกับหลักอิสลาม เช่น พื้นที่ที่ยินยอมให้มีแหล่งอบายมุข” หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ระบุ

การขับเคลื่อนของไอเอสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อ.อาทิตย์ ชี้ถึงสาเหตุการขับเคลื่อนของไอซิสในภูมิภาคอาเซียนว่า “ประการแรกผมวิเคราะห์จากข้อมูล พบว่า เซลล์ก่อการร้ายจากมาเลฯ และอินโดฯ ที่ไปร่วมรบในซีเรีย เขาฟอร์มขึ้นเป็นกลุ่มที่เรียกว่า ‘คอตีบะห์ นูซันตารา ลิด เดาละห์ อิสลามียะห์’ ก็คือการจะสร้างรัฐอิสลามในนูซันตารา หรือโลกมลายู ซึ่งก็คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยลงไป”

“เป้าหมายเขาประกาศชัดว่า ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ทั้งการเมืองและการทหารให้เป็นรัฐอิสลาม” อ.อาทิตย์ เน้นย้ำ

“ประการที่ 2 ในมุมของไอเอสเองก็พบว่า สมรภูมิในตะวันออกกลางในซีเรียและอิรักค่อนข้างตีบตัน ยืดเยื้อ และไม่รู้ว่าจบโดยตัวเองจะรอดไหม เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะย้ายปฏิบัติการไปสู่พื้นที่อื่น เพราะเป้าหมายแต่เดิมของเขาไม่ใช่ซีเรียและะอิรักเท่านั้น แต่เป็นทั่วโลก”

“พูดตรงไปตรงมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานั้นมีปัจจัยสนับสนุนค่อนข้างพร้อม รวมถึงเงื่อนไขของการทำให้คนจะเป็นผู้มีอุดมการณ์สุดโต่งด้วย”

“ปัจจัยค่อนข้างพร้อมที่ว่า คือช่องว่างของรัฐ การคอรัปชั่น หรือลัทธิการใช้อำนาจแบบอำนาจนิยมถึงแม้รัฐจะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม”

“ส่วนในอินโดฯ อาจเป็นกรณีที่กลับกัน อินโดฯ เป็นสถานที่ที่เบ่งบานมากขึ้นของกลุ่มแนวคิดสุดโต่ง ทั้งที่ตัวประเทศหรือประชากรส่วนใหญ่ประกาศว่าเป็นอิสลามสายกลาง (Moderate Islam) แต่ว่าความสุดโต่งเริ่มแรงมากขึ้น เช่น การโจมตีกลุ่มอะห์มาดียะห์ การโจมตีโบสถ์คริสต์ เป็นต้น ที่เริ่มเกิดถี่ขึ้นในระยะหลัง”

“นักวิชาการตะวันตกส่วนหนึ่งก็วิเคราะห์กันว่า สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องของความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ เช่นในสุลาเวสี หรือ โซโล ที่มีประวัติศาสตร์ของการถูกขูดรีด กอบโกยทรัพยากรไปค่อนข้างเยอะ โดยคนท้องถิ่นไม่ค่อยได้อะไร”

“กับอีกมุมหนึ่งที่มีการวิเคราะห์กันว่า เหตุผลสำคัญเป็นเพราะว่ารัฐบาลอินโดตั้งแต่อดีตต้องการให้มีประเด็นพวกนี้ขับเคลื่อนอยุ่บ้างเพื่อที่จะบดบังเรื่องการคอรัปชั่น กับเขาไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกเล่นประเด็นโจมตีว่าเป็นมุสลิมที่ไม่ดี หากไปจัดการกับมุสลิมที่เคลื่อนไหวในทางศาสนา เพราะฉะนั้นกระบวนการในการควบคุมการสอนศาสนา และการหล่อหลอมความคิดสุดโต่งจึงเป็นไปอย่างหละหลวมมาก เราจะเห็นว่ามีการยอมรับข้อกฎหมายที่ไปทางศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดคือการพยายามขจัดการค้าบริการสตรีในเมืองใหญ่ ซึ่งแง่นี้อาจรับได้ว่าเป็นแรงกดดันในเรื่องที่ดี แต่แรงกดดันที่ไม่ดีก็ต้องยุติยับยั้ง เช่น การปลูกฝังแนวคิดสุดโต่งที่หลายครั้ง มีอิทธิพลนำไปสู่การละเมิดสิทธิหรือเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นคนของกลุ่มชนที่มีความเชื่อแตกต่างจากตนเอง”

“ประเด็นที่ 3 ที่น่าสนใจ คือในฝั่งของรัฐไทยหรือฝั่งวิเคราะห์ที่อิงกับรัฐ ก็มักไม่ค่อยเห็นเหตุผลที่เป็นแรงจูงใจของขบวนการก่อการร้าย เรามักไปมองเรื่องผลประโยชน์ เรื่องความหลงผิด เป็นต้น”

“พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหนัาศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) มองว่า ถ้ามองผู้ก่อการร้ายบ้านเรา ต้องมองสองแบบคือ ผู้ก่อการร้ายตามอุดมการณ์ และผู้ก่อการร้ายรับจ้าง ผมว่าน่าสนใจ ซึ่งถ้าเอาข้อมูลมาพิสูจน์ตามทฤษฎีดังกล่าว เราก็พบว่าการที่ คาตีบะห์ นูซันตารา ประกาศจะโจมตีมาเลฯ และอินโดฯ ที่ขัดขวางประชาชนตัวเองไม่ให้เข้าร่วมกับไอเอสนั้น จริงๆ มันมีทั้งเชิงอุดมการณ์และเครือข่ายของการส่งคนไปร่วมกับไอเอส”

“ปีที่แล้วมีข่าวของการจับกุมสำนักงานแห่งหนึ่งในกัวลาลัมเปอร์ซึ่งฉากหน้าดำเนินการในเรื่องมนุษยธรรม แต่ฉากหลังคือการเป็นจุดศูนย์เหวี่ยงในการระดมคนไปร่วมกับไอเอสที่ซีเรีย ทางการมาเลเซียก็เรียกว่า กัวลาลัมเปอร์เซลล์ เราจะพบว่า เครือข่ายตรงนี้เป็นเครือข่ายเดียวกับที่บะห์รุลนาอีมสามารถเอาคนอุยกูร์จำนวนมากมาเคลื่อนไหวในโซโลและสุลาเวสี โดยเขาก็จะส่งต่อท่อมายังกลุ่มที่เขาสนิทกับผู้นำ ก็คือ กลุ่มมุญาฮิดีนแห่งอินโดนีเซียตะวันออก (MIT) ซึ่งผู้นำคือ ‘วาเดาะห์ ซานโตโซ’ ที่เคยร่วมงานกับบะห์รุลนาอีมเมื่อช่วงก่อนปี 2010”

“ตรงนี้เราก็จะเห็นว่า ตัวคนมาเลฯ และอินโดฯ ไปรบในซีเรีย ส่วนคนที่เขาจะเอามารบหรือก่อเหตุในอินโดฯ กลับเป็นคนอุยกูร์ หรือในกรณีสิงค์โปร์เราจะเห็นการจับกลุ่มคนบังคลาเทศ เราจะเห็นว่าเครือข่ายตรงนี้มันมีความสำคัญ ซึ่งต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์เสมอไป เพราะตรงนั้นเม็ดเงินมหาศาล เป็นจุดในการผันเงินมหาศาลในการเอาไปสนับสนุนที่ซีเรีย รวมไปถึงเป็นจุดที่บะห์รุลนาอีมก็ใช้ช่องนี้ในการสนับสนุนเพื่อก่อเหตุในพื้นที่ตรงนี้ด้วย
“ดังนั้นการไปสลายตรงนี้แน่นอนว่ากระทบทั้งในเรื่องของเป้าหมายเชิงอุดมการณ์และกระทบทั้งเครือข่ายเชิงธุรกิจผิดกฎหมายของเขาด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้อาจต้องวิเคราะห์ทั้งสองแบบ” อ.อาทิตย์ กล่าว

อนาคตความรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับความพยายามของกลุ่มไอเอสที่จะ “ปักธง” ลงบนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อ.อาทิตย์ ทองอินทร์ บอกว่ามีความชัดเจนในแง่ของเป้าหมายอยู่แล้ว

“ในวันที่เกิดเหตุที่จาการ์ตา ในการแถลงข่าวของ ติโต คาร์นาเวียน (Tito Karnavian) ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจาการ์ตา (chief of the Jakarta Provincial Police) และอดีตผู้บัญชาการตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายอินโดนีเซีย มีคำหนึ่งที่หลุดออกมาและถูกรายงานผ่านสื่อ ทริบูนยอร์คยา (Tribun Jogja) ว่า เป้าหมายของไอเอสไม่ใช่แค่อินโดนีเซียเท่านั้น แต่มีมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย ซึ่งเขาพูดคำนี้ชัดเจน”

“มันก็สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่ม คาตีบาห์ นูซันตารา ที่จะทำให้นูซันตารานั้นเป็นเดาละห์อิสลามียะห์ หรือรัฐอิสลาม ตรงนี้ชัดเจนในแง่เป้าหมาย” อ.อาทิตย์ ระบุ

แต่ขณะเดียวกัน อ.อาทิตย์ มองว่าเป้าหมายนี้เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากการแย่งชิงการนำที่เกิดขึ้น

“ปีสองปีก่อนตั้งแต่การประกาศตั้งรัฐคอลีฟะห์ในช่วงกรกฎาคม 2014 กลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ทยอยกันสวามิภักดิ์ รวมถึงเจไอกับอะบูไซยาฟใหญ่ด้วย มีการประเมินกันว่าในอินโดฯ มีประมาณ 22 กลุ่มที่ประกาศสวามิภักดิ์กับไอเอส”

“ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้าเหตุจาการ์ตา ไม่กี่วัน ไอเอสได้รับรอง ฮาปิลอน ซึ่งเป็นผู้นำระดับท้องถิ่นของกลุ่มอะบูไซยาฟ ให้เป็นผู้ปกครองเขตบาซิลัน หรือฟิลิปปินส์ตอนใต้ทั้งหมดตั้งแต่มินดาเนาลงมา แล้วในวันที่เขาประกาศสวามิภักดิ์ให้สัตยาบันต่อไอเอสของเขามีกลุ่มท้องถิ่นมาร่วมด้วย 4 กลุ่ม แต่งานวันนั้นอะบูไซยาฟส่วนกลางไม่ยอมร่วม ทั้งที่อะบูไซยาฟก็ประกาศสวามิภักดิ์ แสดงว่ามีข้อขัดแย้งบางอย่าง”

“ขณะเดียวกัน อามาน อับดุรเราะห์มาน แกนนำระดับสูงของเจไอที่อยู่ในคุก เขาก็ประกาศเหมือนกันว่า ในเมื่อมีตั้ง 22 กลุ่มในอินโดนีเซียที่เข้าร่วมกับไอเอส เขาซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ได้รับการยอมรับนับถือ ก็จะสร้างองค์กรร่มขึ้นมา ชื่อญามาอะห์อัลซอรุดเดาละห์ เป็นองค์กรร่วมที่จะดึงทั้ง 22 กลุ่มมาสร้างรัฐอิสลาม โดยอยู่ภายใต้การนำของเขา ซึ่งเป็นการตั้ง JAD แยกออกมาจากเจไอ”

“แล้วขณะเดียวกันบะห์รุลนะอีม ก็ฟอร์มทีม คาตีบะห์ นูซันตารา ขึ้นมาอยู่ที่ซีเรีย และยิงผ่านอีกเซลล์หนึ่งที่แตกออกมาจากเจไอเหมือนกัน ชื่อ ญามาอะห์ อัลซอรุลเตาฮีด หรือ JAT ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของอบู บาการ์ บาเชียรฺ ซึ่งบางหน่วยข่าวอาจมองว่า ที่ว่ามานี้ยกเว้นฮาปิลอน ล้วนเป็นเครือข่ายเดียวกันหมด ที่มีอับดุรเราะห์มาน กับบาเชียร์เป็นเหมือนผู้อาวุโสที่ได้รับการยอมรับ แต่ผมกลับมองว่า ถ้าดูจากปฏิบัติการที่ปรากฏออกมา เราก็มองเห็นภาพอีกแบบได้เช่นกันว่า มีการแข่งขันการนำกันอยู่ระหว่างกลุ่มและเซลล์ย่อยต่างๆ”

“ซึ่งนักวิชาตะวันตกส่วนหนึ่งก็วิเคราะห์สอดคล้องกับมุมมองนี้ว่าเป้าหมายของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มีตรงกันก็คือสร้างรัฐอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป้าหมายของเขาจะรวมตัวกันได้ยาก เพราะปัญหาของเขาคือปัญหาเดียวกับประชาคมอาเซียน คือแข่งขันกันเอง และไม่มีผู้นำที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับอย่างเห็นพ้องต้องกัน”

“เพราะฉะนั้นโอกาสที่เป็นไปได้ในอนาคต คือ ต่างฝ่ายต่างจะแข่งขันกันแสดงผลงาน เพื่อโชว์ศักยภาพการนำ ทำให้โอกาสเกิดเหตุถี่ขึ้น แต่อาจเป็นไปได้ยากที่จะระดมทรัพยากรกันเพื่อก่อเหตุวินาศกรรมขนาดใหญ่ได้” อ.อาทิตย์ระบุ

อาชญากรรมและแนวคิดหัวรุนแรงที่เบ่งบานในภูมิภาค

“อาทิตย์ ทองอินทร์” หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า แนวความคิดแบบไอซิสได้นำมาสู่วิกฤติในเชิงอาชญากรรมและแนวคิดแบบสุดโต่งหัวรุนแรงที่เริ่มเบ่งบานในภูมิภาคนี้

“อันที่หนึ่ง ในเชิงอาชญกรรม คือ เครือข่ายผิดกฎหมาย เครือข่ายค้ามนุษย์ เบ่งบานมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วค่อนข้างมีเสรีปฏิบัติการอย่างน่าแปลกใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องด้วย อันนี้ไม่ได้พูดเจาะจงประเทศใดประเทศหนึ่ง เราจะเห็นว่ากลุ่มอย่าง MIT หรือมุญาฮิดีนในตะวันออกของซานโตโซ ที่ถูกขึ้นป้ายประกาศจับจำนวน 35-36 คนนั้น ปรากฏว่าครึ่งหนึ่งที่ถูกประกาศจับเป็นอุยกูร์ ซึ่งก็ถามกันว่า มาได้อย่างไร แน่นอนว่าตรงนี้มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตรงนี้รัฐอาจจะต้องทำงานให้โปร่งใสมากขึ้น และทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมให้มากขึ้น เพราะความมั่นคงแบบนี้รัฐดูแลเองไม่ได้”

“อันที่สอง คือ เรื่องของแนวคิดหัวรุนแรง โจทย์ใหญ่ก็คือว่า ในเมื่อรู้แล้วว่านี่คือเครือข่ายผิดกฎหมาย ในเมื่อศาสนาก็สอนว่าวิธีการแบบนี้มันไม่ถูกต้อง การสร้างรัฐแบบนี้ไม่มีใครยอมรับได้ แต่ทำไมคนจำนวนหนึ่ง (ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เยอะ) จึงหันไปใช้อาวุธ เพราะฉะนั้นมันจึงต้องมีปัญหาบางอย่างในสังคมที่เหวี่ยงคนจำนวนหนึ่งให้ไปอยู่สุดขอบ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่แต่ละรัฐจะต้องไปดู ผมมองว่ามันสัมพันธ์กับวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมในแต่ละพื้นที่ด้วย ไม่ใช่ของรัฐเอง ของสังคมเองด้วย”

“ในภาคพื้นแถบบ้านเราผมมองว่า มันเริ่มแรงขึ้นด้วยแนวคิดแบบ ‘ตักฟีรี’  คือการวินิจฉัยว่ามุสลิมตกศาสนา ซึ่งฝั่งไอเอสโดยนายอัดดานี โฆษกของไอเอสก็ประกาศนโยบายทางสื่อว่า “การสู้กับคนตกศาสนาเป็นภัยสำคัญ มากกว่าการสู้กับพวกนอกรีต’ เขาก็ประกาศชัดเจนตรงนี้ อันนี้คือกระแสที่มาแรงมาก”

“กับอันที่สอง คือกระแสเกลียดชังชีอะห์ เพราะขนาดมุสลิมที่เป็นสำนักคิดเดียวกันพวกเขายังมองว่าตกศาสนากันเป็นส่วนใหญ่ แล้วตามการตีความของเขา ชีอะห์นี่ต้องฆ่าทิ้งฝ่ายแรกแน่นอน เพราะเขามองว่าเป็นรอฟิเฎาะฮฺ อันหมายถึงผู้ปฏิเสธแนวทาง หรือเบี่ยงเบนจากอะฮฺลุสสุนนะ”

“สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องอันตราย มันทำให้คนมีความมั่นใจที่จะตัดสินคนอื่นและกระทำการในนามความดี ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เรากระทำการในนามความดี มันก็จะแรงกว่าที่เราทำโดยลังเลชั่งใจเสมอ”

“เราจะพบว่าคนส่วนใหญ่ที่ไปเข้ากับแนวทางนี้ไม่ใช่คนโง่ ซ้ำยังไม่ใช่แค่คนจนด้วย เป็นคนมีการศึกษาสูง แต่เขามีความรู้สึกที่อยากจะเติมเต็มอะไรบางอย่างในชีวิต เติมเต็มความสมบูรณ์ในการเป็นมุสลิมที่ดี และสิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าส่วนใหญ่จะเป็นคนวัยรุ่น   นี่คืออีกภาพหนึ่งที่เป็นสิ่งที่ต้องระวัง” อ.อาทิตย์ กล่าว

แนวคิดไอเอสกับขบวนการเคลื่อนไหวในจชต.

สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่จับตาและสร้างความกังวลให้หลายฝ่ายคือ ไอเอสจะเข้าไปมีอิทธิพลต่อกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.อาทิตย์ ทองอินทร์ กล่าวว่า “ในตัวขบวนการผมมองว่าค่อนข้างยาก เนื่องจากขบวนการเคลื่อนไหวในภาคใต้ทั้งบีอาร์เอ็นหรือกลุ่มอื่นๆ ที่ไปร่วมในมาราปัตตานี เป็นขบวนการชาตินิยม คือเอกราชของชาติปาตานี ที่เราเห็นในมิติของการเอาเรื่องศาสนาเข้ามาใส่ผมมองว่าเป็นเรื่องของยุทธวิธีมากกว่า แต่เนื้อแท้ของขบวนการเหล่านี้ผมมองว่าเป็นชาตินิยมปัตตานี ไม่ใช่การตั้งรัฐคอลีฟะห์ขึ้นมา”

“แล้วในเชิงเป้าหมายของเขา จะไม่สำเร็จเลย หรือสำเร็จได้ยากมาก ถ้าไปร่วมกับไอเอส เพราะว่ายุทธศาสตร์ต่อสู้ของเขาที่ผ่านมา เขาพิงอยู่กับกฎหมายระหว่างประเทศ พิงอยู่กับเรื่องของ Self determination ตามการรับรองของสหประชาชาติ ซึ่งเราก็รู้ว่าตะวันตกอยู่ข้างหลังของสหประชาชาติ เพราะฉะนั้นถ้าเขาไปร่วมกับไอเอสเมื่อไหร่ตะวันตกทั้งหลายก็จะกลับลำ 360 องศา แทนที่จะอยู่ข้างเขา จะหันมาสนุบสนุนรัฐไทยในการปราบปรามด้วยวิธีใดก็ได้ ”

“หลังปี 2001 หลายประเทศมีปัญหามาก เพราะความหวาดกลัวมุสลิมหัวรุนแรง หรือแนวคิดสุดโต่ง ทำให้รัฐบาลหลายประเทศออกกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึงประเทศมุสลิมเองด้วยแล้วไปจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองและยัดข้อหาเป็นอิสลามสุดโต่ง ตรงนี้อาจจะเกิดบรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้น โดยที่ตะวันตกก็เพิกเฉย ซึ่งเขาก็น่าจะเห็นมุมนี้ จึงทำให้ในเชิงการวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผลแล้ว เขาไม่น่าจะร่วมกับไอเอส”

รัฐไทยควรรับมือไอเอสอย่างไร?

“ผมมองว่ารัฐไทยยังมีข้อดีที่ได้เปรียบมากกว่าหลายประเทศในแง่ของการบูรณาการสังคมมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เราไม่ค่อยเจอปัญหานี้เมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ ตรงจุดนี้เราสามารถเป็นสะพานเชื่อมได้ เป็นเวทีของการเปิดพื้นที่ให้แนวคิดสายกลาง และส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรมในสังคม” อ.อาทิตย์ กล่าว และว่า

“ประการต่อมา ในแง่ของการโจมตี เป้าหมายหลักคือผลประโยชน์ของตะวันตกอันเป็นศัตรูกับไอเอส และเมื่อพิจารณาแบบแผนการก่อเหตุของไอเอสต่อพื้นที่ภายนอกซีเรียและอิรักแล้ว ย่อมวิเคราะห์ได้ว่าเป้าหมายที่สำคัญคือ จุดท่องเที่ยว จุดชุมนุมชน อันเป็นความพยายามที่มุ่งตรงมายังพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ มากกว่าการโจมตีสถานที่/บุคคลของรัฐ และมุ่งแผ่กระจายความสะพรึงกลัวหรือกระตุ้นความเกลียดชัง สร้างความแปลกแยกมากกว่าคาดหวังผลได้เสียเชิงการเมืองด้วยกรอบคิดแบบสมเหตุสมผล ด้วยเหตุที่กล่าวมา จึงจะเห็นได้ว่าในกรณีของประเทศไทยนั้น “เมือง” คือพื้นที่เป้าหมายโจมตีสำหรับกลุ่มไอเอส”

“ดังนั้น ในแง่ของการเตรียมรับมือป้องกันความเสี่ยง ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดำเนินการบนหลักคิดเรื่องความมั่นคงเมือง (Urban Security)ที่จะต้องสร้างความเป็นหุ้นส่วนรักษาความปลอดภัยระหว่างรัฐกับเอกชน ประการต่อมาคือการยกระดับระบบการเข้าออกเมืองโดยอาจต้องลงทุนมากขึ้นหน่อย ในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้และเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ ขณะที่จำเป็นต้องใช้เครือข่ายการข่าวระหว่างประเทศที่แชร์ข้อมูลร่วมกันมากขึ้น เพราะเครือข่ายของการก่อเหตุหรือการสนับสนุนการก่อเหตุมักเป็นข้ามชาติ และเป็นเครือข่ายที่่ค่อนข้างเสถียร เพราะฉะนั้นการแชร์ข้อมูลระหว่างรัฐต่างๆ ในภูมิภาคจึงเป็นเรื่องที่ต้องยกระดับมากขึ้น การสแกนคนเข้าออกอาจต้องไปถึงการตรวจม่านตาหรือ DNA  ส่วนการคุมของที่อาจนำไปใช้เป็นวัตถุดิบหรือยุทธภัณฑ์ก่อเหตุก็ต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น ผู้เชี่ยวชาญบางท่านก็เสนอใช้ระบบสัญญาณวิทยุควบคุมสินค้าทุกชนิดที่ไหลเข้าออกแต่ละจังหวัดและบริษัท ห้าง ร้าน ต่างๆ เป็นต้น ของเหล่านี้คืออาวุธที่จะป้องกันประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าไม่ใช่อาวุธหนักเหมือนในสมัยสงครามโลกหรือสงครามเย็น การทุ่มเทงบประมาณควรไปสู่เรื่องพวกนี้”

โอกาสที่จะเกิดวินาศกรรมในไทย

อ.อาทิตย์ กล่าวว่า “ในเชิงทฤษฎี ภัยคุกคามรูปแบบใหม่อย่างการก่อการร้ายจัดว่าเป็น unknown unknown threat  เมื่อใดก็ตามที่เราคิดว่าปลอดภัย เราจะอันตรายเสมอ เพราะฉะนั้นแปลว่าในตัวของคนธรรมอย่างเราๆ ก็จะต้องช่วยสนับสนุนภาครัฐในการระแวดระวังว่า โอกาสมันอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”

“ส่วนความเป็นไปได้ในภาคของการวิเคราะห์ตามความสมเหตุสมผล ปลายปีก่อนเราได้รับการแจ้งเตือนจากรัสเซียถึงการเดินทางเข้ามาของชาวซีเรียที่เกี่ยวข้องกับไอเอสและมุ่งโจมตีผลประโยชน์ของรัสเซีย ต่อมา ในเหตุการณ์จาการ์ตา ตีโต ตำรวจจาการ์ตาก็ระบุว่าไทยเองเป็นหนึ่งในเป้าหมายก่อเหตุ และล่าสุดคือการแจ้งเตือนจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่ทาง ‘คอตีบะห์ นูซันตารา’ หรือว่าไอเอสเองก็ยืนยันว่าเรา ก็คือเป้าหมายหนึ่งเช่นเดียวกัน ดังนั้นมันแปลความว่า ความเสี่ยงในการก่อเหตุในไทยก็อาจมีความเป็นไปได้ ขณะเดียวกันหากตั้งคำถามว่าในเชิงพื้นที่ประเทศไทยไปเกี่ยวอะไรด้วยนั้น ก็ต้องไม่ลืมว่าโลกอยู่ในประเทศไทย เช่นชุมชนต่างชาติต่างๆ เพราะฉะนั้นโอกาสเสี่ยงที่จะถูกโจมตีนั้นเป็นไปได้เสมอ ซึ่งไม่ได้พูดแบบนี้เพื่อให้เสียความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจ เพียงแต่พูดเพื่อให้รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องที่ธรรมดาอยู่แล้วที่เราต้องระวัง และมันจะอันตรายถ้าเราไม่ระวัง” หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวทิ้งท้าย